คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 12/2549 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2549

ข่าวทั่วไป Monday November 13, 2006 09:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--ก.ล.ต.
คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 12/2549 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2549 มีมติดังต่อไปนี้
1. ก.ล.ต. กำหนดการเปิดเสรีใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์ในเวลา 5 ปี
เพื่อกระตุ้นธุรกิจหลักทรัพย์ไทยให้เตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันที่จะสูงขึ้น และเพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์มีเวลาในการขวนขวายแสวงหารายได้ประเภทอื่นนอกเหนือจากค่านายหน้าเพิ่มขึ้น คณะกรรมการ ก.ล.ต. จึงมีมติเห็นชอบในหลักการที่จะกำหนดให้มีการเปิดเสรีใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์ในเวลา 5 ปี โดยจะให้ใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์รายใหม่แบบไม่จำกัดจำนวนตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป ขึ้นอยู่กับความพร้อมในการประกอบธุรกิจ
นอกจากนี้เพื่อรองรับอนาคตที่น่าจะมีบริษัทหลักทรัพย์ไทยบางรายสามารถขยายธุรกิจไปยังประเทศในภูมิภาค ก.ล.ต. จึงจะปรับปรุงลักษณะของใบอนุญาตเพื่อให้สะดวกแก่การไปประกอบการในต่างประเทศด้วย โดยต่อไปจะปรับใบอนุญาตทุกใบให้ทำธุรกิจได้ทุกประเภท (Full services) เว้นแต่รายที่ไม่ประสงค์จะประกอบธุรกิจทุกประเภทจะดำเนินธุรกิจแบบเฉพาะด้าน (Boutique services) ก็ได้ (รายละเอียดตามเอกสารแนบ 1)
ทั้งนี้ ก.ล.ต.จะเสนอมาตรการดังกล่าวพร้อมทั้งกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป
2. ก.ล.ต. เห็นชอบให้คงค่าธรรมเนียมขั้นต่ำไว้ 3 ปี แต่กำหนดให้ยกเลิกใน 5 ปี
เนื่องจากการพัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทอื่นที่มิใช่ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จำเป็นต้องมีเวลาเตรียมตัวและเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ คณะกรรมการ ก.ล.ต. จึงได้มีมติเห็นชอบให้คงค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ขั้นต่ำไว้อีกระยะหนึ่ง แต่กำหนดเวลาชัดเจนให้ยกเลิกใน 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับการเปิดเสรีใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์ โดยมีหลักการดังต่อไปนี้
1. ในช่วง 3 ปีแรก ระหว่างวันที่ 14 มกราคม 2550- 13 มกราคม 2553 ให้คิดค่าธรรมเนียมขั้นต่ำต่อไปได้
2. ในช่วง 2 ปีถัดมา ระหว่างวันที่ 14 มกราคม 2553 — 31 ธันวาคม 2554 ให้คิดค่าธรรมเนียมแบบเป็นขั้นบันได (sliding scale) คือ มีอัตราค่าธรรมเนียมแปรผันลดลงตามปริมาณธุรกรรมที่เพิ่มขึ้น และเมื่อปริมาณธุรกรรมเพิ่มขึ้นถึงระดับหนึ่ง ขั้นอัตราค่าธรรมเนียมต้องเปลี่ยนเป็นแบบต่อรองกันได้ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเสนอสูตรค่าธรรมเนียมแบบเป็นขั้นบันไดให้ ก.ล.ต. พิจารณาต่อไป
3. การคิดค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านอินเทอร์เน็ต ให้คิดค่าธรรมเนียมไม่เกินร้อยละ 60 ของอัตราปกติ
4. นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป ให้ใช้การคิดค่าธรรมเนียมแบบต่อรองอย่างเสรี
3. ก.ล.ต. เสนอแก้ไขกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คณะกรรมการ ก.ล.ต. เห็นชอบให้เสนอแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
พ.ศ. 2535 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย และเพื่อให้สามารถรองรับพัฒนาการของธุรกรรมต่าง ๆ ในตลาดทุนให้ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยให้เร่งผลักดันร่างกฎหมายที่ได้เคยเสนอไว้ในคณะรัฐบาลชุดก่อน ๆ รวมทั้งเรื่องที่เสนอแก้ไขใหม่ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1. โครงสร้างกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาชุดหนึ่ง ทำหน้าที่สรรหา ประธานและเลขาธิการ โดยประธานมาจากผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการ ก.ล.ต. จะมีหน้าที่กำกับดูแลทางด้านนโยบายเป็นสำคัญ นอกจากนี้จะมีคณะกรรมการอีกชุดหนึ่ง เป็นคณะกรรมการกำกับตลาดทุน มีเลขาธิการเป็นประธาน กรรมการส่วนใหญ่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อทำหน้าที่ออกกฎระเบียบกำกับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ต่างๆ โดยเฉพาะ
2. การยกระดับบรรษัทภิบาลของบริษัทจดทะเบียน กำหนดเรื่องหน้าที่ของผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนที่จะต้องมีความรับผิดชอบและความระมัดระวังเพื่อรักษาประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นให้ชัดเจนขึ้น กำหนดสิทธิผู้ถือหุ้นในด้านต่างๆ ให้ชัดเจนขึ้น รวมทั้งกำหนดเกณฑ์กำกับดูแลการทำรายการระหว่างบริษัทจดทะเบียนหรือบริษัทย่อยกับผู้บริหารหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องให้รัดกุมขึ้น
3. การคุ้มครองผู้ลงทุนและการพัฒนาธุรกรรมในตลาดทุน ได้แก่
(1) ให้เจ้าหนี้ที่บังคับจำนำหลักทรัพย์จดทะเบียนสามารถใช้วิธีขายในตลาดหลักทรัพย์ได้
(2) คุ้มครองโดยแยกทรัพย์สินของลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์และแยกทรัพย์สินของสมาชิกของสำนักหักบัญชีออกต่างหาก เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการที่บริษัทหลักทรัพย์หรือสำนักหักบัญชีล้มละลายหรือถูกบังคับคดี
(3) ให้สำนักหักบัญชีสามารถทำรายการของสมาชิกที่ค้างไว้ต่อไปได้จนจบ แม้ว่าสมาชิกดังกล่าวจะล้มละลาย เพื่อคุ้มครองระบบการส่งมอบและชำระราคาในการซื้อขายหลักทรัพย์
4. การพัฒนาตลาดตราสารหนี้
(1) รองรับให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถใช้ระบบการโอนหลักทรัพย์แบบ book entry ได้เมื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ สำนักหักบัญชี หรือนายทะเบียนหลักทรัพย์
(2) นำระบบการโอนหลักทรัพย์แบบ book entry มาใช้กับการรับฝากหลักทรัพย์ไว้กับศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาต
5. บริษัทหลักทรัพย์ ผ่อนคลายให้บริษัทหลักทรัพย์แต่งตั้งผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์อื่นเป็นผู้บริหารของบริษัทได้ (cross director) หากเป็นบริษัทในเครือเดียวกันหรือไม่มีลักษณะของความขัดแย้งทางผลประโยชน์
6. ตลาดหลักทรัพย์ กำหนดให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีอำนาจสั่งการให้ตลาดหลักทรัพย์ออกกฎเกณฑ์ใหม่ แก้ไขหรือยกเลิกกฎเกณฑ์เดิมได้ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ตลอดจนเปิดโอกาสให้ตลาดหลักทรัพย์สามารถรับสมาชิกที่ไม่ใช่บริษัทหลักทรัพย์ได้
7. การเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ เพิ่มเติมให้การรายงานการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งหุ้นทุกร้อยละ 5 ต้องรวมถึง NVDR derivatives warrant และตราสารอื่น ที่มีลักษณะคล้ายกัน กำหนดให้บุคคลที่ act in concert ต้องทำคำเสนอซื้อ และการทำ takeover defense ต้องได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้น
8. การเสนอขายหลักทรัพย์ ผู้ออกหลักทรัพย์ใหม่ ต้องขออนุญาตก่อนเสนอขาย ไม่ว่าจะตั้งในรูปแบบใด แต่ยกเว้นการออกหลักทรัพย์ที่ไม่มีความเสี่ยง เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล
9. Whistle Blower Protection คุ้มครองพนักงานลูกจ้าง ผู้สอบบัญชี ที่เป็นผู้ชี้เบาะแส มิให้ถูกนายจ้างกลั่นแกล้ง และผู้ชี้เบาะแสไม่ต้องรับผิดทางแพ่งและอาญา
10. หน้าที่ของผู้สอบบัญชี ต้องไม่ช่วยปกปิดข้อมูล corporate fraud หากตรวจพบ นอกจากเสนอแก้ไขกฎหมายหลักทรัพย์ตามที่กล่าวแล้ว ก.ล.ต. ยังได้เสนอออกและแก้ไขกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนการออกกฎหมาย (รายละเอียดตามเอกสารแนบ 2)
4. ก.ล.ต. เห็นชอบให้กำหนดลักษณะการให้บริการที่ไม่เป็นการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลและที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อเพิ่มความคล่องตัวของการลงทุนในต่างประเทศให้กับผู้ลงทุนสถาบันในประเทศ คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดให้ บริษัทต่างประเทศที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ในถิ่นที่ตั้งของตน เข้ามาติดต่อชักชวนผู้ลงทุนสถาบันในประเทศ เพื่อให้ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ โดยไม่ถือเป็นการประกอบธุรกิจจัดการกองทุนส่วนบุคคลและที่ปรึกษาการลงทุน ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าวจะต้องมีคุณสมบัติ และแนวทางในการชักชวนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
5. ก.ล.ต. เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมด้านตราสารหนี้ของตลาดหลักทรัพย์ฯ คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบร่างข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ขอขยายเวลาการยกเว้น การเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนตราสารหนี้ในส่วนของการยื่นคำขอ ค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับตราสารหนี้ที่จดทะเบียนในตลาดตราสารหนี้ (BEX) และค่าบำรุงที่เรียกเก็บจากสมาชิก ต่อไปอีกเป็นเวลา 1 ปี เพื่อสนับสนุนการพัฒนาตลาดรองตราสารหนี้และเป็นการลดต้นทุนของผู้ลงทุนผ่านตลาดตราสารหนี้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายงานเลขาธิการ - Press Office
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
โทรศัพท์ 0-2695-9502-5
โทรสาร 0-2256-7755
E-mail: press@sec.or.th

แท็ก ก.ล.ต.   ขันที  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ