ฟิทช์ : ผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในตลาดโลกและปัญหาการเมืองภายในต่อประเทศไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 10, 2008 15:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดงานสัมมนาขึ้นที่กรุงเทพในวันนี้ ซึ่งเน้นการให้มุมมองที่เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศและผลกระทบของธนาคารไทยในช่วงที่กำลังเผชิญกับปัญหาการเมือง การสัมมนาดังกล่าวยังมีการให้มุมมองในส่วนของผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในตลาดโลกต่อเศรษฐกิจและธนาคารในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชีย
ฟิทช์ได้รับเกียรติจากหม่อมราชวงศ์ปรีดียาธร เทวกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมาเป็นผู้เปิดการสัมมนา นอกจากนี้ ดร. บัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มาปาฐกถาเกี่ยวกับมุมมองในส่วนของสถานะของธนาคารไทยในช่วงวิกฤติ
James McCormack ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายจัดอันดับเครดิตประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของฟิทช์ให้มุมมองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจในระยะสั้นของประเทศกำลังพัฒนาในแถบภูมิภาคเอเชียกำลังได้รับผลกระทบจากระดับการพึ่งพึงกับ สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ที่กำลังอยู่ในช่วงสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ถดถอย Mr. McCormack ยังให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียไม่อาจหลีกพ้นจากผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังถดถอย ซึ่งเห็นได้จากความอ่อนแอลงของ 2 เศรษฐกิจหลักในภูมิภาคซึ่งได้แก่ จีน และอินเดีย นอกจากนี้ Mr. McCormack ยังแสดงความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อที่กำลังสูงขึ้นในหลายประเทศของเอเชีย อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริง (อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับด้วยเงินเฟ้อ) ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำในหลายๆประเทศในเอเชียซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศเหล่านั้นยังคงใช้นโยบายทางการเงินเป็นมาตรการรองรับ ในส่วนของอันดับเครดิตของประเทศไทย Mr. McCormack ให้ความเห็นว่าขณะที่สถานะทางการคลังของประเทศยังคงดีอยู่ แต่อันดับเครดิตของประเทศอาจได้รับผลกระทบในที่สุดจากปัจจัยลบทางด้านการเมือง โดยเฉพาะถ้าตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างมากและมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกนอกประเทศในอัตราที่สูงขึ้น หรืออาจจะเกิดจากนโยบายทางด้านเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนต่อไปอีก
ในส่วนของวิกฤตการณ์ทางการเงินที่แพร่กระจายไปในส่วนต่างๆ นอกเหนือจากส่วนของสินเชื่อที่อยู่อาศัยคุณภาพต่ำในสหรัฐอเมริกา David Marshall ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของฟิทช์ ได้ให้ความเห็นว่าความล้มเหลวของธนาคาร Northern Rock ประเทศอังกฤษ เป็นตัวอย่างของธนาคารที่ดำเนินนโยบายในการขยายสินเชื่ออย่างรวดเร็วโดยไม่ได้มีการกระจายตัวของแหล่งเงินทุน ซึ่งทำให้ธนาคารประสพปัญหาสภาพคล่อง Mr. Marshall ได้กล่าวต่อว่าปัญหาการขาดสภาพคล่องดังกล่าว ได้เกิดขึ้นกับ Bear Stearns ด้วยซึ่งการล้มของ Bear Stearns เกิดจากการที่บริษัทไม่สามารถกู้ยืมเงินในระยะสั้นได้ ถึงแม้ว่าจะใช้สินทรัพย์เป็นหลักประกัน การที่ธนาคารกลาง New York เข้าช่วยเหลือวิกฤตการณ์ของ Bear Stearns ถือเป็นปรากฎการณ์ใหม่และบ่งบอกว่าธนาคารกลางไม่สามารถปล่อยให้บริษัทที่เป็นเพียงบริษัท หลักทรัพย์ให้ล้ม แต่ไม่ใช่เพราะบริษัทดังกล่าวมีความสำคัญในแง่ของการเป็นผู้รับฝากเงิน หากเป็นเพราะว่าบริษัทดังกล่าวเป็นคู่สัญญาในธุรกรรมการเงินจำนวนมาก สำหรับ Fannie Mae และ Freddie Mac Mr. Marshall ให้ความเห็นว่าการเข้าให้ความช่วยเหลือของรัฐบาลสหรัฐแก่สองบริษัทนี้ทำให้นักลงทุนทั่วโลกซึ่งรวมถึงธนาคารพาณิชย์และธนาคารกลางหลายๆแห่ง ในเอเชีย รอดพ้นจากการเกิดผลขาดทุน
สำหรับแนวโน้มของธนาคารในเอเชีย Mr. Vincent Milton ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายสถาบันการเงินและกรรมการผู้จัดการของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประเทศไทย ได้กล่าวว่าธนาคารในเอเชียส่วนใหญ่มีผลการดำเนินงานที่ดีในครึ่งแรกของปี 2008 ถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยลบต่างๆ จากวิกฤตการณ์ทางการเงินในสหรัฐอเมริกา และผลกระทบของราคาน้ำมันที่สูงต่อภาวะเศรษฐกิจในเอเชีย ในขณะที่ ฟิทช์คาดว่าแนวโน้มของผลการดำเนินงานในครึ่งหลังของปี 2008 และในปี 2009 จะอ่อนตัวลง การที่ภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ยังขยายตัวได้ดีกว่าเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและยุโรป น่าจะทำให้ผลกระทบทางลบค่อนข้างจำกัด Mr. Milton ยังกล่าวเพิ่มเติมว่ามีการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญของผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ไทยในครึ่งแรกของปี 2008 หลังจากผลการดำเนินงานที่อ่อนแอในปี 2006 และ 2007 โดยธนาคารพาณิชย์ไทยประกาศผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งกว่าธนาคารพาณิชย์โดยส่วนใหญ่ในเอเชียสำหรับครึ่งแรกของปี 2008 ในขณะที่ผลการดำเนินงานทั้งปี 2008 ของธนาคารพาณิชย์ไทยคาดว่าจะยังคงแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ผลการดำเนินงานในครึ่งหลังของปี 2008 คาดว่าจะอ่อนตัวลงจากคุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอลงและส่วนต่างดอกเบี้ยที่ลดลง เนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นและการขยายตัวของสินเชื่อที่ลดลง นอกจากนี้ หากปัญหาทางการเมืองยังคงยืดเยื้อหรือเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างมากอาจส่งผลต่อแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารไทยในปี 2009 ได้
ติดต่อ: James McCormack, Hong Kong, +852 2263 9925/ james.mccormack@fitchratings.com; David Marshall, +852 2263 9911/ david.marshall@fitchratings.com; Vincent Milton, Bangkok, +662 655 4759/ vincent.milton@fitchratings.com
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ