กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยโดยเฉพาะที่ลาดเชิงเขาและที่ลุ่มริมแม่น้ำในพื้นที่ ๙ จังหวัด ให้ระมัดระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม เนื่องจากมีฝนตกหนักในระยะนี้ (วันที่ ๑๑ - ๑๕ ก.ย. ๒๕๕๑) ขอให้ประชาชนติดตามข่าวพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด รวมทั้งการแจ้งเตือนภัยจากหน่วยงานต่างๆ อย่างใกล้ชิด พร้อมสั่งการให้สำนักงาน ปภ.จังหวัดประสานจังหวัดและองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ รถยนต์และเรือท้องแบน ตลอดจนกำชับเจ้าหน้าที่ มิสเตอร์เตือนภัย ทีมกู้ชีพกู้ภัยประจำตำบล เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อแจ้งเตือนและอพยพประชาชนได้ทันที หากเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติขึ้นในพื้นที่ นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับ กรมอตุนิยมวิทยา พบว่า ตั้งแต่วันที่ ๑๑ - ๑๕ กันยายน ๒๕๕๑ ทั่วทุกภาคของประเทศจะมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักบางแห่ง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยทั้งที่ลาดเชิงเขาและที่ราบลุ่มริมแม่น้ำจังหวัดอุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก นครสวรรค์ อุทัยธานี นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด ระมัดระวังอันตรายจากสภาวะ ฝนตกหนัก ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในระยะนี้ และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฝนตกหนัก ปภ. ได้แจ้งเตือนไปยังสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ประสานจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเตรียมความพร้อม จัดกำลังเจ้าหน้าที่ เตรียมเครื่องจักรกล ยานพาหนะ เรือท้องแบน และอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ทันทีที่เกิดเหตุภัยพิบัติขึ้นในพื้นที่ รวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่ทั้งอาสาสมัครแจ้งเตือนภัยดินถล่ม (มิสเตอร์เตือนภัย) สมาชิกอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และทีมกู้ชีพกู้ภัยประจำตำบล (OTOS) ติดตาม เฝ้าระวัง ข้อมูลข่าวสารพยากรณ์อากาศ และการขึ้น-ลง ของน้ำในแม่น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด ๒๔ชั่วโมง หากเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติในพื้นที่ จะได้แจ้งเตือนประชาชนให้อพยพออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัยได้ทันท่วงที นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า เพื่อความปลอดภัย ขอให้ประชาชนที่อาศัยในบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว ติดตามรับฟังข่าวการพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด จัดเตรียมอาหารแห้ง เครื่องเวชภัณฑ์ ตะเกียง ไฟฉาย และวิทยุ ไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน จัดเตรียมกระสอบทราย เพื่อจัดวางเป็นแนวกั้นน้ำ ขนย้ายทรัพย์สินและสิ่งของที่มีค่า และอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดไว้บนที่สูง เพื่อป้องกันการเกิดไฟฟ้ารั่ว ไฟฟ้าซ็อต รวมทั้งจัดเวรยามเฝ้าระวังปริมาณน้ำฝน สังเกตสิ่งบอกเหตุและสัญญาณการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่บ่งชี้ว่าจะเกิดภัยพิบัติ เช่น การส่งเสียงร้องของสัตว์ป่า เสียงดังโครมครามจากต้นน้ำ สีของน้ำในลำธาร เปลี่ยนเป็นเดียวกับสีดินของภูเขา ให้ตรียมการอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยหรือขึ้นที่สูงในทันที สุดท้ายนี้ หากประชาชนในพื้นที่ใดได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัย สามารถติดต่อ ขอความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทั้ง ๗๕ จังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตทั้ง ๑๘ เขต กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรือทางสายด่วนสาธารณภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อประสานและให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป