สรุปการการสัมมนาโครงการวิจัย เรื่อง "โลกาภิวัตน์ด้านเงินทุนและเศรษฐกิจฐานรากของไทยในทศวรรษหน้า"

ข่าวทั่วไป Thursday September 11, 2008 15:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--สำนักนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน
นายกฤษฎา อุทยานิน ที่ปรึกษาเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้แถลงว่า วันนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้จัดให้มีการสัมมนาโครงการวิจัย เรื่อง "โลกาภิวัตน์ด้านเงินทุนและเศรษฐกิจฐานรากของไทยในทศวรรษหน้า" เพื่อเสนอแนวทางรองรับกระแสโลกาภิวัตน์ด้านเงินทุนสำหรับเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการศึกษาในลักษณะนี้ และการสัมมนาแบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยในช่วงแรกเป็นการนำเสนอบทบาทของสถาบันการเงินต่อการพัฒนาของเศรษฐกิจฐานราก และในช่วงที่ 2 เป็นการนำเสนอผลงานวิจัย เรื่อง โลกาภิวัตน์ด้านเงินทุนและเศรษฐกิจฐานรากของไทยในทศวรรษหน้า
การสัมมนาในช่วงแรกนายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และนายดาบชัย ใจสู้ศึก รักษาการผู้จัดการใหญ่ชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนียน ได้กล่าวถึงพัฒนาการของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 2509 จนถึงปัจจุบัน ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้ส่งเสริมการให้บริการสินเชื่อแก่เกษตรกรและขยายเครือข่ายสาขาให้ครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัดในประเทศ ทั้งนี้ วิสัยทัศน์ของ ธ.ก.ส. กำหนดไว้ว่า “เป็นธนาคารพัฒนาชนบทที่มั่นคง มีการจัดการที่ทันสมัย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรรายย่อย” และมีพันธกิจหลัก 4 ประการ ได้แก่ 1) การจัดหาแหล่งเงินทุนให้เพียงพอสำหรับกิจการของธนาคาร 2) การให้บริการสินเชื่อแก่เกษตรกร 3) การพัฒนาบริการใหม่ที่เกษตรกรต้องการ และ 4) การพัฒนาและให้บริการเพื่อส่งเสริมเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้ง ยังมีบทบาทในการส่งเสริมการออมเงิน และการให้บริการสินเชื่อในชนบทอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ นายเอ็นนูฯ ได้กล่าวถึง บทบาทของ ธ.ก.ส. กับการพัฒนาชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
นายดาบชัย ใจสู้ศึก รักษาการผู้จัดการใหญ่ชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึง โครงสร้างและการบริหารของชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน กิจกรรมหลักที่สำคัญ และสถานภาพขององค์กร ซึ่งทำหน้าที่เป็นสถาบันการเงินในชุมชนที่ยั่งยืนและชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนได้ดำเนินกิจกรรมที่สำคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมมาโดยตลอด เช่น การส่งเสริมการออม การให้กู้เงินเมื่อสมาชิกมีความเดือนร้อน การจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิก การให้ทุนการศึกษาให้บุตรหลานสมาชิก และการสนับสนุนด้านสาธารณะประโยชน์กับชุมชน เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า สิ่งที่สมาชิกจะได้รับการสอนให้
สมาชิกรู้จักประหยัดอดออม สร้างนิสัยการออมทรัพย์ การสอนให้สมาชิกรู้จักใช้เงินไปในทางที่ถูกต้อง การแก้ไขปัญหาทางการเงิน การสร้างความมั่นคงแก่สมาชิกและครอบครัว (สวัสดิการ) และการพัฒนาผู้นำและสังคม (ฝึกความเป็นผู้นำและฝึกการตัดสินใจ)
สำหรับช่วงที่สอง เป็นการนำเสนอผลงานวิจัยในหัวข้อเรื่อง โลกาภิวัตน์ด้านเงินทุนและเศรษฐกิจฐานรากของไทยในทศวรรษหน้า โดยคณะผู้วิจัยจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ประกอบด้วย นายทวีศักดิ์ มานะกุล ผู้อำนวยการส่วนนโยบายคุ้มครองเงินฝาก สำนักเศรษฐกิจการคลัง และนางสาวกฤติกา โพธิ์ไทรย์ หัวหน้าฝ่ายวางแผนการเคลื่อนย้ายเงินทุน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และมี ดร. กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลก เป็นผู้วิพากษ์ ซึ่งผลการวิจัยสรุปได้ว่า
จากการศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มกระแสโลกาภิวัตน์ด้านเงินทุนพบว่า
1) กระแสโลกาภิวัตน์ด้านเงินทุนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง
2) เงินทุนของโลกยังอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเป็นส่วนใหญ่
3) กลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียตะวันออก (Emerging Market Asia) มีบทบาทในเวทีโลกมากที่สุดกลุ่มหนึ่งในโลก เมื่อรวมประเทศญี่ปุ่น ส่งออกเงินทุนสุทธิสูงที่สุดในโลก โดยในปี 2549 ส่งออกเงินสุทธิ 539 พันล้านบาทเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 38.8 ของการส่งออกเงินทุนสุทธิของโลก
4) กลุ่มนักลงทุนประเภท Sovereign Wealth Funds และ Hedge Funds ทวีความสำคัญในตลาดการเงินโลก
5) ความผันผวนในตลาดการเงินโลกมีอยู่ต่อเนื่องและจะสร้างปัญหากับประเทศต่างๆ ในโลกต่อไป และสามารถมีความรุนแรงถึงขั้นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ
6) เงินทุนโลกมีบทบาทสำคัญสำหรับประเทศไทย
7) ประเทศไทยสร้างประโยชน์จากระแสโลกาภิวัตน์ด้านเงินทุนได้ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศเพื่อนบ้าน
ในส่วนของเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจย่อมได้รับผลกระทบจากกระแสโลกภิวัตน์ด้านเงินทุนเช่นเดียวกัน ดังนี้
1) การลงทุนจากต่างประเทศ ช่วยเพิ่มรายได้ การจ้างงานและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเศรษฐกิจฐานราก
2) การลงทุนจากต่างประเทศ ช่วยเพิ่มเงินทุนและมีส่วนช่วยการเข้าถึงเงินทุนของเศรษฐกิจฐานรากผ่านสถาบันการเงิน องค์กรการเงินชุมชน และแหล่งทุนในชุมชนที่ได้รับเงินทุนมากขึ้น
3) การลงทุนจากต่างประเทศ มีส่วนในการยกระดับการแข่งขันในด้านต่างๆ สูงขึ้น
4) วิกฤตทางเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง โดยเศรษฐกิจฐานรากจะได้รับผลกระทบในระดับที่สูง
5) ความผันผวนของกระแสเงินทุนโลก และการเพิ่มขึ้นของรายได้ชั่วคราวมีผลลบต่อเศรษฐกิจฐานราก
สำหรับขอเสนอแนะในการรองรับกระแสโลกาภิวัตน์ด้านเงินทุน มี 5 แนวทาง ดังนี้
แนวทางที่ 1 : การพัฒนาคนและตลาดแรงงาน
แนวทางที่ 2 : การสร้างประโยชน์จากเงินทุนระหว่างประเทศผ่านสถาบันการเงินภาครัฐและสถาบันการเงินระดับฐานราก
แนวทางที่ 3 : การบูรณาการการทำงานของภาครัฐ/เอกชนทั้งในและต่างประเทศเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก
แนวทางที่ 4 : การสร้างสังคมสมดุลโดยมุ่งลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และช่องว่างระหว่างสังคมชนบทและสังคมเมือง
แนวทางที่ 5 : การสร้างกลไกป้องกันและลดผลกระทบทางลบสำหรับเศรษฐกิจฐานรากจากปัญหาความผันผวนและวิกฤตเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ การสัมมนาโครงการวิจัยเรื่อง "โลกาภิวัตน์ด้านเงินทุนและเศรษฐกิจฐานรากของไทยในทศวรรษหน้า" ได้รับความสนใจเป็นอย่างดีจากหน่วยงานต่างๆ ที่มีบทบาทใกล้ชิดกับประชาชนในระดับฐานราก โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจำนวนประมาณ 150 คน ซึ่งคณะผู้วิจัยจะได้นำข้อคิดเห็นต่างๆ ไปใช้ประกอบการพิจารณานำเสนอนโยบายและมาตรการเศรษฐกิจการคลังที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมระบบเศรษฐกิจให้มีความแข็งแกร่งและยั่งยืนต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
สำนักนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน
โทร. 02-273-9021 ต่อ 3691

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ