ไม่พอใจคำวินิจฉัยนำคดีสู่ศาลแรงงานได้

ข่าวทั่วไป Monday November 13, 2006 17:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--สปส.
เรื่องโดย.. นางสาวนิรมล กีรติสิทธิกุล
ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนเงินทดแทน
สำนักงานประกันสังคม
ลูกจ้างหญิงคนหนึ่งใช้สิทธินำคดีสู่ศาลแรงงาน ขอเพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคม ให้จ่ายเงินทดแทนการสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกายและจิตใจให้แก่โจทก์เป็นเงิน 8 ล้านบาท
เป็นหน้าที่ตามกฎหมายให้นายจ้างแจ้งการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงานต่อสำนักงานประกันสังคม ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ประสบอันตรายหรือวันที่ควรจะทราบว่าลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย การแจ้งการประสบอันตรายทำได้ไม่ยากเพียงกรอกข้อความให้สมบูรณ์ลงในแบบ กท.16 พร้อมส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องมาด้วยเพื่อให้พนักงานสามารถนำมาประกอบการพิจารณาว่าเป็นการประสบอันตรายจากการทำงานหรือไม่ ซึ่งในแต่ละปีก็มีผู้แจ้งการประสบอันตรายพร้อมแสดงเอกสารประกอบ ประมาณ 200,000 ราย มีบางคนเท่านั้นที่หัวหมอไม่ยอมส่งเอกสารประกอบการวินิจฉัย ซึ่งผลเสียก็คือพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่สามารถวินิจฉัยว่าเป็นการเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายจากการทำงาน
คดีที่จะกล่าวนี้ก็เป็นคดีที่ลูกจ้างเรียกร้องขอความเป็นธรรมไปทั่ว ก็ทำให้ผู้รับคำร้องเรียนต้องเชิญพนักงานเจ้าหน้าที่ไปชี้แจงท้ายที่สุดจบลงที่คดีสู่ศาลแรงงาน เพื่อพิสูจน์ความเป็นธรรมกัน
เรื่องมีอยู่ว่าลูกจ้างทำหน้าที่พ่นสีเกิดอาการปวดแขนทั้งแถบเลยไปถึงลำคอ สำนักงานประกันสังคม ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าทดแทนให้ ต่อมาลูกจ้างก็เปลี่ยนสถานพยาบาลจนในที่สุดก็ได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์ท่านหนึ่ง ลงความเห็นว่าเป็นโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังและความสามารถของสมอง ปอด กล้ามเนื้อ และโครงสร้างที่เกิดจากการทำงานมีการสูญเสียอย่างถาวรเป็นเวลา 8 ปี
เรื่องเช่นนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคม ต้องขอให้ลูกจ้างเข้ารับการตรวจเพื่อประเมินการสูญเสียสมรรถภาพใหม่ เนื่องจากลูกจ้างและแพทย์ที่รักษาไม่ยอมส่งเวชระเบียนมาประกอบการขอรับเงินทดแทน และสำนักงานประกันสังคม ได้พยายามติดตามให้ลูกจ้าง เข้ารับการตรวจร่างกายโดยพร้อมจะพาไปพบแพทย์ที่ใดก็ได้ที่ลูกจ้างประสงค์เข้ารับการตรวจสมรรถภาพทางจิต สำหรับผลการตรวจ จิตแพทย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญแจ้งว่าอาการซึมเศร้าไม่สามารถชี้ชัดว่าเกิดจากทำงานหรือไม่ ไม่ปรากฏว่ามีผู้อื่นมีอาการดังลูกจ้าง ลูกจ้างแจ้งว่าจะส่งผลการตรวจสูญเสียสมรรถภาพทางจิต ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือจากสำนักงานประกันสังคมหากไม่ส่งจะไม่ติดใจเรียกร้องใดๆ ทั้งสิ้น ปรากฏว่าลูกจ้างมั่นใจแพทย์ผู้รักษาเพียงคนเดียว จึงไม่นำหลักฐานทางการแพทย์มาให้ ไม่ไปรับการตรวจสมรรถภาพทางกายและเชื่อคำแนะนำของบุคคลใกล้ชิดหรือความเห็นของตนเองเป็นใหญ่ ศาลเห็นว่าลูกจ้างไม่เคารพกฏเกณฑ์ขององค์กรหรือความเห็นของบุคคลอื่นหรือผู้มีหน้าที่เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะเพื่อจะได้ทำการแก้ไขบรรเทาปัญหาให้แก่โจทก์ การกระทำที่เพิกเฉยดังกล่าวเป็นการมุ่งหาแต่ประโยชน์ของตนเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการเพียงฝ่ายเดียว ศาลนัดให้โจทก์และทนายโจทก์มารับหนังสือจากศาลเพื่อให้แพทย์ตรวจประเมินตามรายงานกระบวนการพิจารณา แต่ทั้งคู่ไม่สนใจนำพาต่อคำสั่งศาล ประกอบกับแพทย์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเคยทำการตรวจร่างกายว่าไม่สูญเสียสมรรถภาพของระบบกล้ามเนื้อและโครงสร้างมือขวา จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์สูญเสียสมรรถภาพทางสมองเช่นเดียวกัน คำสั่งของจำเลยชอบแล้วไม่มีเหตุที่จะเพิกถอน จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินกรณีสูญเสียสมรรถภาพใด ๆ ให้กับโจทก์อีก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ