กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--ไอบีเอ็ม ประเทศไทย
การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของตลาดทุนจะลดจำนวนตัวแทนคนกลางและทำให้อัตรากำไรของบริษัทรายใหญ่ลดลง
บริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ประกาศคาดการณ์ว่าตลาดการเงินจะมีการเปลี่ยนแปลงและเชื่อมโยงถึงกันอย่างสมบูรณ์แบบภายในปีพ.ศ. 2558 เนื่องจากมีการรวมตัวกันของปัจจัยกระตุ้นที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว 3 ประการ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในตลาดการเงิน
ในการสำรวจวิจัยทั่วโลกครั้งแรกนี้ IBM ร่วมมือกับหน่วยงานเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ (Economist Intelligence Unit) พูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงกว่า 400 คน จากบริษัทขนาดใหญ่จำนวน 296 แห่งทั่วโลก ประกอบด้วยบริษัทดำเนินธุรกรรมซื้อขายแลกเปลี่ยน, บริษัทนายหน้าผู้ค้าหลักทรัพย์, บริษัทจัดการสินทรัพย์, บริษัทรับฝากสินทรัพย์, กองทุนบริหารความเสี่ยง และองค์กรกำกับดูแล ผู้บริหารเหล่านี้มีความเห็นว่านักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนมากขึ้น เนื่องจากตลาดมีความโปร่งใสเพิ่มขึ้น ส่วนพนักงานที่ทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างนักลงทุนและเงินลงทุน ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่รับอนุญาตในระบบซื้อขาย (Trader), นักวิเคราะห์, ผู้จัดการกองทุน จะทำงานอย่างยากลำบากขึ้นภายใต้ภาวะกดดัน หรือจำเป็นต้องออกจากตลาดไปในช่วงปีพ.ศ. 2558 ทั้งนี้ ความโปร่งใสอย่างสมบูรณ์ของตลาด เครือข่ายทั่วโลกที่เป็นรูปแบบเดียวกัน และความต้องการขยายตัวเพื่อรองรับภาวะความเสี่ยงถาวรในบางด้าน คือแรงผลักดันหลักในการกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงสู่รูปแบบตลาดหนึ่งเดียวแห่งใหม่ในโลกตลาดทุน
“อำนาจจะเปลี่ยนมือไปจากเทรดเดอร์ที่เคยได้รับผลประโยชน์จากการเป็นตัวกลางในการซื้อขาย เป็นผู้ซื้อและผู้ขายที่อยู่คนละด้านของการซื้อขายแทน” มร. มาร์ก อีสตั้น รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจบริการที่ปรึกษา บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าว “ที่สุดแล้วบริษัทจะต้องวิเคราะห์ความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกับความเสี่ยงอย่างรอบคอบ เพื่อค้นหาแนวทางใหม่เมื่อตลาดมีการฟื้นตัวในช่วงทศวรรษหน้า”
การโยกย้ายเงินทุนไปยังกองทุนดัชนี
ความโปร่งใสของตลาดและความรวดเร็วของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่รองรับการซื้อขายรูปแบบใหม่ในตลาด จะทำให้ระบบเอเจนซี่ในตลาดมีบทบาทหลักในการปรับเปลี่ยนองค์กร ควบรวมกิจการ หรือเลิกกิจการในอนาคตอันใกล้นี้ ผลกำไรส่วนเกินที่ตัวแทนเคยได้รับจะลดลง เนื่องจากมีการใช้ระบบอัตโนมัติแทนการใช้บริการจากเจ้าหน้าที่รับอนุญาตฯ เงินทุนก้อนใหญ่จะไหลออกจากกองทุนที่มีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก ซึ่งปัจจุบันบริหารสินทรัพย์ทั่วโลกที่ได้รับการบริหารที่ไม่เต็มที่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากนักลงทุนหันไปลงทุนในกองทุนดัชนีที่ให้ผลตอบแทนเท่าๆ กัน ธนาคารที่ให้บริการการเงินแบบครบวงจรจะเริ่มเข้ายึดครองบริษัทนายหน้าผู้ค้าหลักทรัพย์หลายแห่งในระดับภูมิภาคเพื่อขยายธุรกิจของธนาคารให้ใหญ่ขึ้น บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องร่วมมือกับพันธมิตรรายใหม่ๆ เพื่อให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จในขณะที่ตัดสินใจว่าพวกเขาอยู่ในธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนหรือจะลดทอนการลงทุนส่วนใดส่วนหนึ่งที่มีความเสี่ยงจากปัจจัยทั่วโลกมากขึ้น บริษัทจัดการสินทรัพย์และบริษัทนายหน้าผู้ค้าหลักทรัพย์จะเลิกดำเนินงานซื้อขาย และหันไปร่วมมือกับบริษัทรับฝากสินทรัพย์ หรือกำหนดรูปแบบการให้บริการแบบใหม่แทน บริษัทที่สามารถอยู่รอดได้ในสภาวะการณ์เหล่านี้จำต้องเปลี่ยนแปลงแนวทางการดำเนินงานของบริษัทครั้งใหญ่จนไม่หลงเหลือรูปแบบเดิมของการทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่รับอนุญาตฯ ผู้จัดการการลงทุน และที่ปรึกษาอีกต่อไป
ตลาดที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบจะล้มระบบคนกลาง จากการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการเข้าถึงข้อมูลการตลาดแทบไร้ขีดจำกัด ลูกค้าจะสามารถวิจัยการลงทุนได้ด้วยตนเอง โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ตอบแบบสำรวจคาดการณ์ถึงการจัดลำดับการลงทุนตามกลุ่มอุตสาหกรรมเทียบกับกลุ่มผลิตภัณฑ์ แม้ว่าตัวแทนจะยังมีบทบาทในการดำเนินธุรกรรมซื้อขาย
การแบ่งแยก ‘อัลฟ่า’ และ ‘เบต้า’ ปัจจุบันนี้ สินทรัพย์ทั่วโลกราว 70 เปอร์เซ็นต์ได้รับการจัดการผ่านกองทุนที่บริหารแบบหวังผลกำไรระยะยาว ซึ่งเป็นรูปแบบดั้งเดิม (รู้จักกันในชื่อกองทุนรวม) ผลิตภัณฑ์การลงทุนเหล่านี้ปัจจุบันจะผูกติดอัลฟ่า (เครื่องมือการลงทุนที่มุ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีตลาด) รวมเข้ากับเบต้า (เครื่องมือการลงทุนที่มุ่งให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีหลักของตลาด เช่น ดัชนี S&P 500) แต่ในอนาคต นักลงทุน (ทั้งรายย่อยและระดับสถาบัน) จะไม่ยินดีจ่ายค่าธรรมเนียมตามการลงทุนในอัลฟ่า โดยได้รับผลตอบแทนเพียงระดับการลงทุนในเบต้าอีก และวิธีการกำหนดราคาและการบริหารกองทุนจะต้องเปลี่ยนแปลงไป
จากข้อมูลแสดงจำนวนพนักงานที่จะปลดเกษียณทั่วโลกในทศวรรษหน้า จำนวนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจะทำให้บริษัทและหน่วยงานรัฐบาลไม่ต้องการรับภาระจากค่าใช้จ่ายด้านการเกษียณอีกต่อไป บริษัทโดยส่วนใหญ่จะเปลี่ยนระบบบำเหน็จบำนาญแบบกำหนดเงินสมทบ (Defined-Benefit) เป็นระบบบำเหน็จบำนาญแบบกำหนดประโยชน์ทดแทน (Defined-Contribution) ซึ่งเป็นการแบ่งแยกอัลฟ่าออกจากเบต้า โดยเปลี่ยนจากการลงทุนในกองทุนรวมที่บริหารจัดการแบบมุ่งหวังผลเป็นการลงทุนในกองทุนดัชนี
ปัจจัยที่ยังคงมีอยู่: กฎข้อบังคับ
โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้จัดการตลาดการเงินจะใช้เวลา 20 — 30 เปอร์เซ็นต์ในการจัดการการดำเนินงานให้สอดคล้องกับกฎข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติ ซึ่งคาดว่าจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคตอันใกล้
การแสวงหาความได้เปรียบ: ความได้เปรียบระยะสั้นสำหรับผู้ซื้อ
ผู้ซื้อจะมีข้อได้เปรียบในระยะสั้น จากการเติบโตของกองทุนบริหารความเสี่ยง (hedge fund) แต่ในระยะยาวแล้ว นักลงทุนจะต้องการเข้าถึงการลงทุนที่มีความสอดคล้องกันระหว่างค่าสินทรัพย์และหนี้สินที่ดีกว่า บริษัทผู้ขาย ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากบริษัทที่ให้บริการด้านนี้ จะสามารถสนองตอบความต้องการดังกล่าวของนักลงทุนได้ดี โดยผ่านการให้บริการในการลงทุนที่รองรับความเสี่ยง เช่น การลงทุนเชิงโครงสร้าง ผู้ตอบแบบสำรวจที่เป็นผู้ซื้อ คาดว่าโอกาสการขยายตัวระดับสูงสุดของตนจะมาจากกองทุนหุ้นส่วนบุคคลและกองทุนบริหารความเสี่ยง ที่ให้บริการกับนักลงทุนกลุ่มมีฐานะ นอกจากนี้ เนื่องจากนักลงทุนพยายามหาคำแนะนำที่เชื่อถือได้ กลยุทธ์กระจายการลงทุนของผู้ซื้อก็คาดว่าจะเปลี่ยนแปลงไป โดยหันเหจากบริษัทนายหน้าค้าหลักทรัพย์รายย่อยและบริษัทจัดการสินทรัพย์ ไปใช้บริการกับที่ปรึกษาด้านการเงินอิสระและธนาคารที่ให้บริการทางการเงินแบบครบวงจรแทน ด้วยเหตุนี้ บริษัทต่างๆ จะต้องย้อนพิจารณาการรวมธุรกิจบริการด้านจัดการ (บริหารสินทรัพย์) และบริการกระจายการลงทุน (ให้คำปรึกษา) ไว้ในบริษัทเดียวกัน
ความได้เปรียบในการแข่งขัน: การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ควบคู่กับการสร้างนวัตกรรม
บริษัททุกขนาด ไม่ว่าจะมีขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ที่ต้องการโอกาสในการเติบโต จะต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า และมุ่งเน้นเรื่องนวัตกรรม ผู้ตอบแบบสำรวจ โดยไม่คำนึงถึงบทบาทหน้าที่ในการทำงาน เห็นด้วยว่าการสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับลูกค้า และการสร้างผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง เป็นปัจจัย 2 ประการที่สำคัญที่สุดในการสร้างความได้เปรียบเชิงแข่งขันในอนาคต บริษัทในตลาดการเงินจะต้องสร้างและรักษาวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมการคิดค้นแนวทางและวิธีปฏิบัติงานใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถตอบสนองเป้าหมายที่เน้นลูกค้าเป็นหลัก เข้าใจความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้นและทำให้บริษัทมีความได้เปรียบสูงสุดในการแข่งขัน
บริษัทที่จะประสบความสำเร็จในอนาคต
ผู้ตอบแบบสำรวจคาดว่า ในช่วงทศวรรษหน้า ขนาดของธุรกิจจะทำให้บริษัทมีความได้เปรียบทางการแข่งขันมากที่สุด เนื่องจากธนาคารที่ให้บริการทางการเงินแบบครบวงจรนำเสนอบริการหลากหลายรูปแบบ มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ และสาขาที่กระจายครอบคลุม จึงทำให้ธนาคารเหล่านี้มีข้อได้เปรียบที่สำคัญในเรื่องของขนาด หากบริษัทต้องการรองรับความเสี่ยงและกลยุทธ์การขยายตัวในอนาคต บริษัทจะต้องสร้างความสมดุลเชิงขนาด พร้อมกับหลีกเลี่ยงกับดักที่จะเกิดขึ้นเมื่อบริษัทมีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น การสะสมของพอร์ตลงทุนภายในหรือระบบงานที่มีขั้นตอนมากเกินไป
ระเบียบวิธีวิจัย:
สถาบันเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจของ IBM (IBM Institute for Business Value: IBV) และ EIU ร่วมกันสำรวจความคิดเห็นผู้นำทางธุรกิจจำนวน 402 คนจากบริษัทในตลาดการเงิน 296 แห่ง ประกอบด้วยบริษัทนายหน้าค้าหลักทรัพย์, ธนาคารที่ให้บริการทางการเงินแบบครบวงจร, บริษัทบริหารสินทรัพย์, บริษัทจัดการกองทุนรวม, บริษัทที่การันตีผลการลงทุนโดยรัฐ, บริษัทรับฝากสินทรัพย์ บริษัทที่ดำเนินธุรกรรมซื้อขายแลกเปลี่ยนและรับชำระราคา โดย 66 เปอร์เซ็นต์ของผู้นำทางธุรกิจเหล่านี้เป็นผู้บริหารในระดับสูง (ระดับ C) หรือเป็นผู้อำนวยการฝ่ายที่ในบริษัทยังมีระดับกรรมการบริหาร, รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส หรือรองกรรมการผู้จัดการอีก วิธีการวิจัยนี้ใช้การสัมภาษณ์เชิงคุณภาพกับผู้บริหาร 130 คน และร่วมกับ EIU ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นจากผู้บริหาร 272 คน โดยกระจายครอบคลุม 3 ทวีปทั่วโลก (สหรัฐอเมริกา 37 เปอร์เซ็นต์, ยุโรป 32 เปอร์เซ็นต์ และเอเชีย 31 เปอร์เซ็นต์)
เกี่ยวกับสถาบันเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม (IBM Institute for Business Value)
สถาบันเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม ทำหน้าที่พัฒนาข้อมูลเชิงลึกทางด้านกลยุทธ์ที่อ้างอิงข้อเท็จจริงในประเด็นเฉพาะทางอุตสาหกรรมที่สำคัญและประเด็นทั่วๆ ไปของอุตสาหกรรม เพื่อนำเสนอต่อผู้บริหารธุรกิจระดับสูง สถาบันแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ไอบีเอ็ม โกลบอล บิสิเนส เซอร์วิส ได้รวบรวมข้อมูลคำแนะนำจากที่ปรึกษาของไอบีเอ็มทั่วโลกเพื่อนำเสนอประเด็นที่น่าสนใจทั่วไป และเพื่อพัฒนาคำแนะนำเชิงปฏิบัติสำหรับหน่วยงานในท้องถิ่น
หน่วยงาน ไอบีเอ็ม โกลบอล บิสิเนส เซอร์วิส เป็นหน่วยงานให้คำปรึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาชีพในประเทศต่างๆ 160 ประเทศ
บทวิจัยนี้นับเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจสืบเนื่องของไอบีเอ็ม ที่จะนำเสนอการวิเคราะห์แนวโน้มของอุตสาหกรรมและนำเสนอมุมมองทางธุรกิจ พร้อมทั้งช่วยบริษัทและอุตสาหกรรมปรับเปลี่ยนแนวทางในอนาคต สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดเยี่ยมชม www.ibm.com/iibv
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
คุณกฤษณา ศิลประเสริฐ
โทรศัพท์: 0-2273-4639
อีเมล์: krisana@th.ibm.com