การประเมินดัชนีคุณภาพสิ่งแวดล้อมชายหาดท่องเที่ยว

ข่าวท่องเที่ยว Tuesday October 31, 2006 14:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กรมควบคุมมลพิษได้ริเริ่มโครงการนี้โดยเรียกชื่อเต็มว่า “โครงการประเมินดัชนีคุณภาพสิ่งแวดล้อมชายหาดท่องเที่ยว” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้บ่งชี้ระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมชายหาดท่องเที่ยวว่ามีความเหมาะสมต่อการท่องเที่ยวเพียงไร ซึ่งปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่นำมาใช้ในการประเมินนี้เราคำนึงถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ค่าใช้จ่ายไม่สูง และความเหมาะสมกับสภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ได้แก่ คุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง ปริมาณขยะตกค้างในน้ำ บนชายหาด และชุมชนชายทะเล ความสมบูรณ์ของชายหาด และการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยเราได้แบ่งคุณภาพสิ่งแวดล้อมออกเป็น 5 ระดับ คือ คุณภาพสิ่งแวดล้อมดีมาก ดี พอใช้ ต่ำ และต่ำมาก และนำเสนอในรูปแบบที่เข้าใจง่ายโดยการให้เป็น “ดาว” เช่นเดียวกับการให้ดาวโรงแรม โดยชายหาดที่มีคุณภาพสิ่งแวดล้อมดีมากจะอยู่ในระดับ 5 ดาว และชายหาดที่มีคุณภาพสิ่งแวดล้อมต่ำมากจะอยู่ในระดับ 1 ดาว จึงเป็นที่มาของชื่อโครงการ “ชายหาดติดดาว”
ทั้งนี้การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมชายหาดท่องเที่ยว นอกจากจะเป็นหน้าที่ของผู้ที่อยู่อาศัยหรือมีหน้าที่รับผิดชอบชายหาด นั้นๆ แล้ว คนทุกคนก็มีส่วนในการใช้ประโยชน์จากชายฝั่งทะเล ทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ชายหาดที่สวยงามเหล่านี้จะคงอยู่ให้เราได้ชื่นชมไปนานๆ ก็ด้วยความร่วมมือของทุกๆ คน อย่างน้อยเพียงแค่คุณมาเที่ยวแล้วไม่ทิ้งขยะลงบนชายหาดคุณก็มีส่วนช่วยในการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมชายหาดแล้ว
ในส่วนของกรมควบคุมมลพิษเองก็ได้มีการติดตามประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อมชายหาดท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ก็ยังมีการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งทั่วประเทศเพื่อเฝ้าระวังปัญหาอันจะเกิดกับสิ่งแวดล้อมทางทะเลอีกด้วย
อย่างไรก็ตามกรมควบคุมมลพิษ ได้ “ติดดาว” ให้ชายหาดท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยไปแล้วหลายแห่ง ซึ่งตั้งแต่ปี 2545 - 2548 ผลการประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อมชายหาดท่องเที่ยวพบว่าส่วนใหญ่อยู่ในระดับ 3 — 4 ดาว มีชายหาดหลายแห่งของประเทศไทยสามารถรักษาระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมดี (4 ดาว) มาตลอด ได้แก่ หาดทรายแก้ว (เกาะเสม็ด) จังหวัดระยอง หาดหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และหาดเฉวง (เกาะสมุย) จังหวัด สุราษฎร์ธานี นอกจากนี้ชายหาดที่มีชื่อเสียงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเก่าแก่ของคนไทยอย่าง หาดบางแสน จังหวัดชลบุรี ก็ได้ยกระดับจาก 3 ดาว เป็น 3 ดาวครึ่ง อีกด้วย ซึ่งเป็นผลมาจากความใส่ใจในการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมชายหาดของหน่วยงานเจ้าของพื้นที่
สำหรับปี 2549 กรมควบคุมมลพิษ กำลังจะติดดาวให้ชายหาดอีกเป็นจำนวนถึง 105 แห่ง ตั้งแต่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกจากจังหวัดตราดถึงชลบุรี จำนวน 31 แห่ง ส่วน 8 จังหวัดชายทะเลฝั่งอ่าวไทย ตั้งแต่เพชรบุรีจนถึงนราธิวาส มีจำนวน 38 แห่ง และ 6 จังหวัดฝั่งอันดามันจำนวน 36 แห่ง
ในปี 2549 กรมควบคุมมลพิษได้ทำการประเมินเพื่อติดดาวให้ชายหาดท่องเที่ยวจำนวน 105 แห่ง โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 8 13 14 และ 15 สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดที่ติดชายฝั่งทะเล 15 จังหวัด เทศบาล อุทยานแห่งชาติ องค์การบริหารส่วนตำบล หรือแม้แต่ผู้ประกอบการบางแห่ง
ส่วนในปี 2550 ยังมีการติดตามประเมินอย่างต่อเนื่อง และมีแนวคิดในการปรับปรุงเกณฑ์การประเมินดัชนีคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญมีแผนในการยกระดับดาวให้ชายหาดโดยการแก้ไขปัญหาในพื้นที่นั้นๆ เพื่อให้ชายหาดท่องเที่ยวมีคุณภาพสิ่งแวดล้อมดีขึ้นอีกด้วย
แม้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหลายหน่วยงานทั้งจากภาครัฐและเอกชน แต่ก็ยังไม่ทั่วถึงพอสำหรับชายฝั่งทะเลทั่วประเทศที่มีอยู่กว่า 500 แห่ง ซึ่งที่จริงแล้วภาระในการจัดการดูแลรักษาสภาพแวดล้อมชายหาดไม่ใช่เรื่องยุ่งยากเลยและทุกคนและทุกภาคส่วนก็สามารถทำได้
ในส่วนของหน่วยงานท้องถิ่นที่รับผิดชอบพื้นที่ควรจัดหาถังขยะให้เพียงพอพร้อมกับมีการดูแลจัดเก็บขยะให้ทั่วถึง กวดขันเข้มงวดและจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ชายหาด การดูแลจัดการเรื่องน้ำทิ้งจากบ้านเรือนและสถานประกอบการต่างๆ ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยวก็ควรเพิ่มการรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อมชายหาด ผู้ประกอบการโรงแรมหรือร้านค้าริมหาดก็ร่วมมือได้ด้วยการช่วยกันจัดเก็บขยะที่เกิดจากการประกอบกิจการของตัวเอง รวมทั้งไม่ทิ้งน้ำเสียลงในทะเล ไม่ก่อสร้างสิ่งลุกล้ำชายหาดเพราะจะเป็นการกีดขวางทางน้ำและจะส่งผลให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งตามมา ตลอดจนการตั้งวางเตียงผ้าใบและร่มชายหาดให้เป็นระเบียบ ก็จะสามารถช่วยรักษาให้ชายหาดของประเทศไทยใช้ประโยชน์เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ภายใต้การดำเนินงานของโครงการชายหาดติดดาวได้มีการจัดกิจกรรมมาโดยตลอด อย่างเช่นเมื่อปี 2547 ได้จัดงานแถลงข่าวและเปิดตัวป้ายดัชนีคุณภาพสิ่งแวดล้อมชายหาดท่องเที่ยว ที่หาดบางแสน จังหวัดชลบุรี การแถลงข่าว “ฟื้นภัยสึนามิด้วยชายหาดติดดาว” การจัดกิจกรรมค่ายเยาวชน “รักษ์หาดติดดาว” เมื่อวันที่ 19-22 กรกฎาคม 2548 ณ จังหวัดภูเก็ต เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน ซึ่งได้รับความสนใจจากเยาวชน ประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสื่อมวลชนเป็นอย่างดี
ส่วนกิจกรรมติดดาวสัญจรครั้งนี้เราเรียกชื่อตอนว่า Full of Stars Party ในวันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม 2549 เป็นการจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินงานของโครงการชายหาดติดดาว ซึ่งงานจะประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อจูงใจให้กลุ่มเป้าหมายทั้งเยาวชน ประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเข้าร่วมงานกับเราด้วย เช่น นิทรรศการความรู้ “ทำไม...ชายหาดจึงติดดาว” การแข่งขันอาชีพท้องถิ่น การประกวดผสมเครื่องดื่ม Star Punch ของกลุ่มผู้ประกอบการ การประกวด Folk Song และการเต้นประกอบเพลงเกี่ยวกับทะเลของเยาวชน การประกวดแฟนซีชุดชายหาด และที่สำคัญยังจะได้มีการมอบรางวัลให้กับหน่วยงานท้องถิ่นที่มีผลการดำเนินงานดี ทั้งจังหวัดที่มีชายหาด 5 ดาว ชายหาดพัฒนาดีเด่น และจะเปิดตัวเพลงประจำโครงการ “ชายหาดติดดาว” โดย “ศุ บุญเลี้ยง”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ