กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--สวทช.
ดร.จารุจินต์ นภีตะภัฏ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. อำลาโลกด้วยวัย 58 ปี เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา นับเป็นการสูญเสียบุคลากรคนสำคัญด้านธรรมชาติวิทยา และงานด้านอนุกรมวิธานสัตว์ของประเทศไทยไปอย่างน่าเสียดาย โดยทิ้งผลงานเขียนชิ้นสุดท้าย หนังสือพจนานุกรมสัตว์ไทย ให้คนรุ่นหลังได้สานต่อ
ดร.จารุจินต์เป็นผู้ที่ชอบสัตว์มากโดยเฉพาะแมลงที่ชอบมาตั้งแต่เล็ก ตอนเด็กๆ เขามักแอบนำเอากิ้งกือ จิ้งหรีด ใส่กระเป๋าเข้าบ้านเป็นประจำจนแม่ต้องคอยตรวจค้นอยู่เสมอ เมื่อเรียนในระดับอุดมศึกษาจึงได้เลือกเรียนกีฏวิทยา(ศาสตร์วิชาเกี่ยวกับแมลง)เป็นวิชาเอกที่คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนจบปริญญาโท และช่วงที่เรียนปริญญาโทนี้เองที่เขามีโอกาสมาช่วยงาน นพ. บุญส่ง เลขะกุล นักบุกเบิกงานอนุรักษ์สัตว์ป่าของเมืองไทย โดยได้ร่วมเขียนหนังสือคู่มือผีเสื้อประเทศไทย และหนังสือเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
ต่อมาได้มาทำงานที่ศูนย์รวบรวมวัสดุอุเทศก์ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย โดยมีหน้าที่ในการสำรวจและศึกษาวิจัยสัตว์ป่าชนิดต่างๆ ในประเทศไทย ทำอนุกรมวิธานลักษณะงานนั้นจะเหมือนกับงานในพิพิธภัณฑ์ คือทำงานทั้งในส่วนของวิจัยและจัดแสดง ดร.จารุจินต์ได้ทำงานที่นี่กว่า 20 ปี ทำให้สะสมความรู้และประสบการณ์มากมายพอๆกับการเก็บตัวอย่างสัตว์ต่างๆ ของไทย ซึ่งเขาใฝ่ฝันว่าจะนำตัวอย่างสัตว์เหล่านี้มาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาที่ต้องการจะจัดตั้งขึ้นให้สำเร็จและให้เป็นพิพิธภัณฑ์ชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังคำที่เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารอัพเดท ฉบับ 129 เดือนมีนาคม 2540 ไว้ว่า “ผมรวบรวมตัวอย่างสัตว์ไม่ต่ำกว่า 5,000 ชนิด นี่ไม่เยอะนะ นกบ้านเรามีอยู่ประมาณ 900 กว่าชนิด ผมมีแล้วประมาณ 500 กว่าชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมี 200 กว่าชนิด ผมมีแล้ว 100 กว่าชนิด นอกจากนี้ก็มีสัตว์สะเทินบกสะเทินน้ำ สัตว์เลื้อยคลาน แมลง ...
ผมต้องการให้เราเป็นหนึ่งทางด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในอนาคต เราจะสร้างพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมสัตว์ในบริเวณนี้ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เป็นศูนย์กลางในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บนแผ่นดินใหญ่ทั้งหมด นี่เป็นความฝันในชีวิต ”
มาถึงวันนี้ความฝันของดร.จารุจินต์ ได้เป็นจริงแล้วระดับหนึ่ง นั่นคือประเทศไทยได้มีการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ในสังกัดขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) โดยมีดร.จารุจินต์เป็นผู้อำนวยการ
นอกจากนี้ ดร.จารุจินต์ ยังได้สะท้อนมุมมองและความมุ่งมั่นในการพัฒนางานด้านอนุกรมวิธานในประเทศไทยอย่างชัดเจนไว้ว่า “ผมจะสร้างนักวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่านักอนุกรมวิธาน ซึ่งคนที่สนใจทางด้านนี้จะหายากที่สุดในโลกเลย ทุกวันนี้ อาจารย์มหาวิทยาลัยคนไหนมีลูกศิษย์เก่งๆ ผมจะพยายามขอตัวมาทำงานกับผม”
อย่างไรก็ดี ดร.จารุจินต์ ไม่เพียงเป็นนักธรรมชาติวิทยา นักอนุกรมวิธาน นักอนุรักษ์ แล้วในบทบาทของนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยม เนื่องด้วยบุคลิกที่เป็นคนร่าเริง เป็นมิตร คุยสนุก แฝงด้วยความตลก ประกอบกับความรอบรู้รอบด้าน ทำให้เขาถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างน่าประทับใจแก่ผู้ที่มีโอกาสได้พบหรือฟังการบรรยาย ตัวอย่างที่สะท้อนถึงบุคลิกดังกล่าวได้ดี ดังบทสัมภาษณ์ตอนหนึ่งในนิตยสาร a day ฉบับที่ 96 เดือนสิงหาคม 2551 ซึ่งน่าจะเป็นบทสัมภาษณ์ชิ้นสุดท้ายที่เผยแพร่ต่อสาธารณชน โดยบทสัมภาษณ์ได้กล่าวเน้นถึงงานที่จารุจินต์มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในการศึกษาสัตว์ชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกว่า “ตัวเงินตัวทอง” ซึ่งก็คือ “เหี้ย” นั่นเอง ซึ่งเขาได้กล่าวว่า “ถ้าผมเป็นตัวเหี้ย จะฟ้องร้องมนุษย์ด้วยซ้ำ โทษฐานที่นำชื่อไปตั้งเป็นคำหยาบ ฟ้องหมิ่นประมาทได้เลยนะเนี่ย”
และตอนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ได้เขียนถึงเขาไว้ราวกับเป็นการไว้อาลัยด้วยประโยคที่ว่า “ใครหลายคนบอกว่า ดร.จารุจินต์ เป็นหนึ่งในบุคคลที่ห้ามตาย เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นองค์ความรู้ที่นับไม่ได้จะสลายไปในที่สุด” ...และวันนี้ประเทศไทยของเราก็สูญเสียบุคลากรคนสำคัญที่กล่าวได้ว่าเป็นพหูสูตรด้านธรรมชาติวิทยาไปแล้วจริงๆ เขาจากไปอย่างกะทันหันจนคนรุ่นหลังตั้งตัวไม่ทันกับการรวบรวมประสบการณ์และองค์ความรู้ที่มีมากมายจากตัวเขาให้ได้มากกว่านี้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างเต็มที่
ทุกวันนี้เขาอยากให้อนุรักษ์สัตว์ป่าและธรรมชาติกันทำไมรู้มั้ย เพราะมันเป็นตัวชี้ว่าเราจะอยู่หรือจะไป ตราบใดที่เราเห็นนกบินในท้องฟ้า เราก็สบายใจได้ ถ้านกเกลี้ยงฟ้าเมื่อไหร่ คุณก็เตรียมตัวตายได้ วันนี้นกอาจจะตาย แต่วันหน้าคนอาจตายเหมือนกัน...”
คำกล่าวที่เป็นเสมือนคำเตือนใจให้แก่ประชาชน คนทำงานด้านอนุกรมวิธานและธรรมชาติวิทยารุ่นหลังได้รำลึกและสานต่ออุดมการณ์ของเขาต่อไป ขอสดุดีและไว้อาลัยอย่างสุดซึ้งต่อการจากไปของนักธรรมชาติวิทยาชั้นนำของเมืองไทย... ดร.จารุจินต์ นภีตะภัฏ
ความรู้สึกของคนในแวดวงธรรมชาติวิทยาต่อการจากไปของ ดร.จารุจินต์ นภีตะภัฏ
นายธัญญา จั่นอาจ ผู้อำนวยการกองพิพิธภัณฑ์อ้างอิง พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า การสูญเสีย ดร.จารุจินต์ ในครั้งนี้นับเป็นเรื่องที่น่าเศร้าต่อวงการวิทยาศาสตร์ยิ่งนัก เพราะอาจารย์เป็นผู้ที่มีความสนใจในเรื่องธรรมชาติวิทยาและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยมาก มีความตั้งใจที่แน่วแน่ทั้งในส่วนของตนเองและพร้อมสนับสนุนผู้ที่สนใจให้ร่วมกันค้นหาองค์ความรู้ทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยให้ครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด การดำเนินงานที่ผ่านมาอาจารย์ได้พยายามเข้าไปในพื้นที่ เข้าป่า เพื่อให้ได้เห็น ได้จับ ได้สัมผัส บันทึกภาพ และบันทึกเสียง ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งรายละเอียดของสิ่งต่างๆเหล่านี้ รวมทั้งยังให้ความสำคัญต่อภูมิปัญญาชาวบ้าน บันทึกความรู้และมุมมองของชาวบ้านที่เกี่ยวข้องกับพืชหรือสัตว์แต่ละชนิด อาทิ ชื่อ ความหมาย และการใช้ประโยชน์
“ แม้ด้วยอายุและสภาพของร่างกายของอาจารย์ที่ไม่พร้อมจะเข้าสำรวจพื้นที่ในบางครั้ง แต่อาจารย์ก็พร้อมเป็นกองหนุน ถ้าทีมงานขึ้นไปที่ยอดเขา อาจารย์ก็พร้อมที่จะอยู่ที่ตีนเขาเพื่อเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำทุกเรื่องที่ทีมภาคสนามต้องการ เพราะอาจารย์อ่านหนังสือทุกเล่ม อ่านหนังสือมาก มีหนังสือมาก อาจารย์เป็นคนที่มีความจำแม่น เพราะฉะนั้นทุกเรื่องที่เคยผ่านตามาอาจารย์จะจำได้และอธิบายได้ เรียกได้ว่าเป็นสารานุกรมทางธรรมชาติเคลื่อนที่ เพราะอาจารย์เป็นที่พึ่งของทุกคน ทุกสำนักพิมพ์ได้เสมอ ใครก็ตามที่มีปัญหาทางธรรมชาติทั้งพืชหรือสัตว์ในประเทศไทยอาจารย์ยินดีช่วยเหลือและให้คำแนะนำเป็นอย่างดีเสมอมา”
การสูญเสียอาจารย์จารุจินต์ นับเป็นการสูญเสียนักธรรมชาติวิทยาที่ยิ่งใหญ่ ที่ผ่านมาคนในวงการธรรมชาติวิทยาทำงานเพียงลำพังมาโดยตลอด จึงหวังว่าหากภาครัฐและผู้รับผิดชอบดูแลพื้นที่ความหลากหลายทางชีวภาพพร้อมให้การสนับสนุนมากขึ้น อาจารย์คงดีใจมากและจากไปอย่างสงบ สำหรับในส่วนของงานที่อาจารย์ได้ทำค้างไว้ ทีมงานจะประสานงานกับครอบครัวเพื่อนำงานมาดำเนินการสานต่อให้สำเร็จลุล่วง อันจะเป็นองค์ความรู้ทางด้านธรรมชาติวิทยาให้แก่คนรุ่นหลังสืบต่อไป
รศ.ดร. สมโภชน์ ศรีโกสามาตร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. กล่าวว่า ดร.จารุจินต์ เป็นนักธรรมชาติวิทยาซึ่งปัจจุบันหาได้ยาก เพราะว่าอาจารย์รู้ในหลายเรื่อง คือไม่ใช่คนที่รู้ลึกเพียงเรื่องเดียวแต่รู้กว้างไปหมด อาจารย์เป็นรอยต่อของนักธรรมชาติวิทยาสมัยเก่าและนักธรรมชาติวิทยาสมัยใหม่ ท่านสามารถถ่ายทอดจากยุคคุณหมอบุญส่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแบบหนึ่งมาสู่ยุคสมัยใหม่ได้ดี อีกทั้งช่วงหลังนี้วิทยาศาสตร์ทางธรรมชาติวิทยาจะแบ่งออกเป็นสาขาย่อยๆ มาก มีผู้เชี่ยวชาญเยอะไปหมด ดังนั้นการที่จะประสานความรู้หลายๆ เรื่องไว้ในตัวคนคนหนึ่งเพื่อถ่ายทอดให้กับสาธารณชนจะหาได้ยากมาก แต่อาจารย์เป็นผู้ที่สามารถดึงความรู้สมัยใหม่ออกสู่สาธารณะได้อย่างดี ดังจะเห็นได้จากผลงานที่ผ่านมา ที่สำคัญอาจารย์ยังเป็นนักธรรมชาติวิทยาที่มีบุคลิกในการสอนที่พิเศษ คือ พูดเรื่องยากให้เป็นเรื่องสนุกได้ และในเรื่องสนุกก็แฝงไปด้วยองค์ความรู้มากมาย ซึ่งเป็นจุดที่ดึงดูดให้คนมาสนใจนักธรรมชาติวิทยามากขึ้น และเป็นการต้นแบบในการถ่ายทอดบุคลิกของนักธรรมชาติวิทยาที่สามารถคุยอะไรได้หลายอย่างแต่ก็มีความรู้ในแต่ละเรื่องที่ลึกซึ้งมาก
ศ.ดร. วิสุทธิ์ ใบไม้ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย( BRT) กล่าวว่า อาจารย์จารุจินต์เป็นผู้ที่ทำงานด้วยจิตวิญญาณ ทุ่มเท รู้ลึก รู้กว้าง เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากกับการสูญเสียบุคลากรที่สำคัญเช่นนี้ เพราะหมายถึงคนทำงานด้านธรรมชาติมีแต่จะร่อยหรอไปทุกที ประเทศไทยสร้างคนทางด้านนี้น้อยหรือแทบจะไม่มีเลย
“คนที่ทำงานทางด้านธรรมชาติวิทยานี้น่าเห็นใจมาก เพราะทำงานหนักแต่ไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร คนทำงานทางด้านนี้โอกาสน้อยที่จะได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดีเด่น แต่ผลงานที่สร้างไว้มีความสำคัญต่อประเทศชาติมาก ความทุ่มเทที่ผ่านมาควรได้รับการเชิดชู สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาคือ เมื่อมีคนที่สนใจด้านนี้แล้ว เราจะสร้างคนกลุ่มนี้ให้ทำงานด้วยจิตวิญญาณเช่นเดียวกับอาจารย์จารุจินต์ได้อย่างไร เพราะหากประเทศไทยมีคนอย่างอาจารย์จารุจินต์สัก 10 คน คงจะช่วยให้การอนุรักษ์ธรรมชาติในประเทศไทยดียิ่งขึ้น”
นางรังสิมา ตัณฑเลขา ผู้จัดการโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย( BRT) กล่าวว่า ดร.จารุจินต์ เป็นผู้ที่มีบทบาทยิ่งในการเปลี่ยนมุมมองของคนต่อสัตว์เลื้อยคลานเปลี่ยนไป เพราะสิ่งมีชีวิตในกลุ่มสัตว์เลื้อยคลานมักถูกมองว่าน่ารังเกียจเสมอ แต่อาจารย์คือคนที่เข้ามาศึกษาอย่างจริงจังและมองว่าสัตว์กลุ่มนี้มีชีวิตจิตใจ ทุกครั้งที่เชิญอาจารย์มาเป็นวิทยากรบรรยาย อาจารย์จะนำเสนอมุมมองต่อสัตว์กลุ่มนี้ได้อย่างน่าสนใจ สนุก แต่ได้ความรู้มาก อาจารย์ได้ทิ้งคำพูดติดตลกสุดท้ายไว้ในงานแถลงข่าว “การค้นพบกิ้งกือสีชมพูครั้งแรกของโลก” ว่า “ในวงการกลุ่มสัตว์เลื้อยคลานนี้ผมเป็นชายใหญ่ ส่วนอาจารย์ กำธร ธีรคุปต์ เป็นชายกลาง และอาจารย์สมศักดิ์ ปัญหา เป็นชายเล็ก” คำกล่าวที่ต้องยอมรับอย่างปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มีนักวิชาการคนใดที่มีรอบรู้เรื่องสัตว์เลื้อยคลานเทียบเท่าดร. จารุจินต์ เลย
ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การจากไปของ ดร.จารุจินต์ เป็นเรื่องเศร้า ซึ่งคนต่างชาติในเวลานี้ เช่น ในประเทศ อเมริกา ญี่ปุ่น ก็เสียใจมากเช่นกัน ดร.จารุจินต์ เป็นต้นแบบของนักธรรมชาติวิทยาที่ดีมาก เพราะงานธรรมชาติต้องเน้นทำงานที่อยู่กลางสาม เรียนรู้มาก อ่านหนังสือมาก รู้รอบด้าน อีกทั้งเป็นคนเอาจริงเอาจังในการทำงาน มองเห็นเป้าหมายที่ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น ที่สำคัญอาจารย์สอนเสมอว่านักธรรมชาติวิทยาต้องเป็นนักสื่อสารที่ดีด้วย ต้องสื่อสารให้คนอื่นเห็นว่าธรรมชาติเป็นอย่างไร ต้องทำให้คนเข้าใจ สัมผัสได้ เข้าถึง ดังนั้นที่ผ่านมาจึงได้ฝากผลงานไว้มาก เพราะหวังว่าจะถ่ายทอดเรื่องราวในธรรมชาติให้กับคนปัจจุบันและคนรุ่นหลัง ซึ่งขณะนี้มีหนังสืออีกหลายเล่มที่อาจารย์ยังทำไม่เสร็จ ทั้งนี้แม้นักธรรมชาติวิทยาในเมืองไทยจะมีอยู่น้อยนิด แต่ก็ต้องช่วยกันทำให้สำเร็จ เพื่อจะเป็นสื่อกลางในการสานต่อปณิธานของอาจารย์ที่ตั้งไว้ให้สำเร็จ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย ส่วนงานกลาง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1461 ,1462 โทรสาร 0-2564-7000 ต่อ 1482 e-mail : thaismc@nstda.or.th