นวัตกรรมแข่งขันสมองกลและอาร์เอฟไอดี ประจำปี 2551 ค้นหานักประดิษฐ์ ในงาน NECTEC-ACE 2008

ข่าวเทคโนโลยี Monday September 15, 2008 16:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ จัดโครงการแข่งขันสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยระบบสมองกลฝังตัวและอาร์เอฟไอดีแห่งประเทศไทย ประจำปี 2551 เน้นดึงนักศึกษาจาก 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มวิศวกรรมศาสตร์ กลุ่มสร้างสรรค์และออกแบบผลิตอุตสาหกรรม และกลุ่มการตลาด ผสมผสานความรู้ด้านศาสตร์และศิลป์ พัฒนาและผลิตผลงานต้นแบบผลิตภัณฑ์ ออกสู่ตลาดอุตสาหกรรมอุตสาหกรรม โดยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) โครงการเทคโนโลยีแผ่นวงจรพิมพ์ (PCBTEC) บริษัทบิทไวส์ (ประเทศไทย) บริษัทอีเลคทรอนิคส์ ซอร์ซ จำกัด Microchip Technology Singapore Pte Ltd และ NXP Semiconductor Thailand Ltd ที่ให้การสนับสนุนเงินทุนและวัสดุอุปกรณ์สำหรับพัฒนาผลงานเชิงพาณิชย์ และผลักดัน ยกระดับผลงานเยาวชนให้ปรากฏสู่สาธารณชน และภาคเอกชน พบผลงานผู้เข้าร่วมแข่งขันและค้นหาสุดยอดนักประดิษฐ์ได้ในงานประชุมวิชาการและนิทรรศการเนคเทค ประจำปี 2551 “Digitized Thailand: Towards the Digital World ดิจิไทย : มุ่งสู่โลกดิจิทัล” วันพุธที่ 24 และวันพฤหัสบดีที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2551 ณ ชั้น 4 - 5 บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
การแข่งขันในครั้งนี้มีการแข่งขัน 3 ประเภท และมีผลงานที่ผ่านเข้ารอบดังนี้
ประเภทที่ 1 อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบปรับอากาศ Refrigeration Heating Ventilating and Air Conditioning; RHVAC มีผลงานที่ผ่านเข้ารอบ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้
1. โครงการ เครื่องอบผลิตภัณฑ์ทางสปา ชื่อทีม สปาตัน
เป็นอุปกรณ์ที่ให้ความร้อนกับลูกประคบที่ใช้สำหรับการนวด สร้างขึ้นจากแนวความคิดว่าในปัจจุบันไม่มีอุปกรณ์ให้ความร้อนกับผลิตภัณฑ์ทางสปาโดยตรง มีแต่การใช้สินค้าทดแทน คือหม้อหุงข้าวไฟฟ้า หม้อนึ่งไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งประสบปัญหาด้านการประหยัดพลังงาน และความสะดวกในการใช้งาน เนื่องจากสามารถตั้งอุปกรณ์ชนิดนี้ไว้ภายในห้องระหว่างที่มีการนวด ซึ่งนอกจากจะมีรูปลักษณ์สวยงามแล้วยังมีกลิ่นหอมตลอดการใช้งานอีกด้วย
2. โครงการ การควบคุมตู้อบแห้งแบบใช้ปั๊มความร้อนด้วยระบบสมองกลฝังตัว ชื่อทีม นอร์ท-เชียงใหม่เป็นการสร้างเครื่องต้นแบบเตาอบแห้งแบบใช้ปั๊มความร้อนโดยใช้ระบบสมองกลฝังตัวเข้ามาควบคุมการทำงานของระบบทำให้ระบบเป็นระบบอัตโนมัติ โดยห้องอบแห้งประกอบด้วยถาดจำนวน 7 ถาด ที่สามารถบรรจุลำไยเฉพาะเนื้อได้ 7 kg ความชื้นเริ่มต้น 551-658 %dry-basis อบแห้งจนมีความชื้นสุดท้าย 18 %dry-basis ที่อุณหภูมิ 55 ปั๊มความร้อนขนาด 1 ตันความเย็น ด้วยสารทำงาน R-22 ใช้ไมโครคอนโทรเลอร์ PIC18F458 ควบคุมอุณหภูมิภายในห้องอบแห้งและ ควบคุมทิศทางของอากาศตามเงื่อนไขในการอบแห้งเพื่อลดความชื้นของผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังสามารถความคุมเวลาของการทำงานได้ มีการแจ้งเตือนสถานะทำงานผิดพลาดเมื่อเกิดการขัดข้องของระบบได้ ซึ่งสามารถจัดเก็บข้อมูลค่าอุณหภูมิ และความชื้นตามช่วงเวลา ส่งผ่านพอร์ตอนุกรม RS-232 มายังคอมพิวเตอร์เพื่อดูสถานะพร้อมทั้งสร้างกราฟออกรายงานประกอบเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผลผลิตและสร้างความมั่นในตัวผลิตภัณฑ์
3. โครงการตู้อาบน้ำสำหรับผู้สูงอายุ ชื่อทีม แคแสด
ตู้อาบน้ำสำหรับผู้สูงอายุ เป็นตู้อาบน้ำที่ออกแบบมาเพื่อ ผู้สูงอายุ และสมาชิกทุกคนในครอบครัวให้สามารถอาบน้ำได้อย่างสะดวกสบาย และปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยการใช้งานอุปกรณ์เซ็นเซอร์ต่างๆ มาประยุกต์ใช้งาน รวมถึงวิธีการออกแบบตู้อาบน้ำให้มีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อการใช้งาน ซึ่งตู้อาบน้ำถูกออกแบบให้ทำความร้อนได้สม่ำเสมอและรวดเร็ว เครื่องทำน้ำอุ่นนี้ได้มีไมโครคอนโทรลเลอร์เป็นตัวควบคุมโดยมีระบบนิรภัย ELCB และมีระบบไฟฟ้าที่ให้ความปลอดภัยสูง
4. โครงการเครื่องวัดประสิทธิภาพเครื่องปรับอากาศ ชื่อทีม ครึ่งโหล
โครงการพัฒนาเครื่องวัดประสิทธิภาพเครื่องปรับอากาศนี้ หากสามารถนำมาตรวจสอบว่าเครื่องปรับอากาศที่ใช้อยู่มีนั้นมีประสิทธิที่ดีหรือไม่ ควรทำการซ่อมบำรุง เปลี่ยน หรืออาจเป็นลดเวลาการใช้งานของเครื่องที่มีประสิทธิภาพต่ำ เพื่อลดการใช้พลังานไฟฟ้าลง อีกทั้งหากเครื่องวัดประสิทธิภาพเครื่องปรับอากาศนี้ สามารถช่วยให้การตรวจสอบประสิทธิภาพของเครื่อง- ปรับอากาศมีความสะดวก สบายขึ้น ในอนาคตจะส่งผลให้มีการตรวจสอบประสิทธิภาพกันอย่างแพร่หลาย มีการปรับปรุงคุณภาพเครื่องปรับอากาศที่มากขึ้น ทำให้การใช้พลังงานรวมของประเทศในอนาคตลดลงได้
ประเภทที่ 2 อุปกรณ์หรือกระบวนการเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ทางการเกษตร (Agritronics)มีผลงานที่ผ่านเข้ารอบจำนวน 4 โครงการดังนี้
1. โครงการอุปกรณ์เพาะเลี้ยงจระเข้โดยใช้เครือข่ายเซ็นเซอร์ไร้สาย ชื่อทีม ผมเป็นจระเข้ทำไม?
เป็นเครื่องมือที่ช่วยลดจำนวนคนที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเลี้ยงจระเข้ และสามารถตรวจวัดและปรับปรุงสภาพแวดล้อมของบ่อเลี้ยงจระเข้ได้ ซึ่งแนวทางนี้จะเป็นการแก้ไขปัญหาการตายของจระเข้ในระยะแรกได้อย่างถูกต้อง และตรงกับปัญหา ซึ่งจะทำให้เพิ่มปริมาณจระเข้ที่จะนำไปแปรรูปเพื่อจำหน่ายส่วนต่างๆต่อไปได้อย่างพอเพียงต่อความของตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศได้
2. โครงการ กระบวนการติดตามและแจ้งเตือนการเลี้ยงสุกรขุนด้วย RFID ชื่อทีม สทญ.
สำหรับโครงการนี้เป็นการนำเอาเทคโนโลยี 2 อย่าง ได้แก่ เทคโนโลยี RFID (Radio Frequency Identification Technology) ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตาม และเทคโนโลยี ES (Embedded System) ที่ช่วยให้การแจ้งเตือนและควบคุมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการฟาร์มเลี้ยงสุกรขุน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการเลี้ยง ลดขั้นตอนที่ก่อให้เกิดความผิดพลาดจากคน และลดต้นทุนในการเลี้ยงสุกรขุน
3. โครงการ ปลูกพืชไม่ใช้ดินด้วยตัวควบคุมอัตโนมัติ ชื่อทีม พี เอส ยู วิน
ตัวควบคุมแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือส่วนที่ทำงานอยู่ทางฝั่งของ server และอีกส่วน คือ ส่วนปฏิบัติงาน ซึ่งจะทำการควบคุมอัตโนมัติ โดยให้ตัว microcontroller สามารถทำงานได้โดยจะทำการรับค่าที่ได้มาจากการใช้ sensor เพื่อใช้ในการพิจารณาค่าอัตราที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งค่าที่ได้รับนี้จะส่งกลับมายังส่วนปฏิบัติงานนั่นคือตัวmicrocontroller เพื่อให้ตัว microcontroller ใช้ในการตัดสินใจการทำงานเองว่าจะทำอะไรตามที่เราโปรแกรมไว้ เช่นเติมของเหลวเพื่อปรับระดับของสารละลายให้พอเหมาะอยู่เสมอ หรือว่าเติมสารละลายเพื่อให้ความเข้มข้นของสารอาหารพืชอยู่เหมาะสมตลอดเวลาหรือปรับค่า pH ให้เหมาะสมเป็นต้น และตัว microcontroller จะทำการส่งค่ากลับไปยังส่วนกลางนั่นคือส่วนของ serverซึ่ง server จะคอยเก็บข้อมูลสถิติต่างๆเช่น ค่า pH EC เป็นต้น
4. โครงการ เครื่องตรวจสอบคุณภาพลำไยอบแห้งแบบไร้สาย ชื่อทีม Qual@SENSE
โมเดล TR1 ที่มีความรวดเร็วในการประมวลผลเพื่อการวัดอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์แบบไร้สาย โดยใช้ระบบสมองกลฝังตัวมาใช้ในการทำนายหาค่า ความชื้น ค่าปริมาณน้ำอิสระหรือ Water Activity (aw) และความเสี่ยงในการเกิดเชื้อรา รวมไปถึงการตรวจสอบวันที่ผลิตของลำไยอบแห้ง อุปกรณ์ตรวจสอบคุณภาพลำไยอบแห้งแบบไร้สาย จะประกอบด้วยเซ็นเซอร์ซึ่งจะทำการวัดความชื้นและอุณหภูมิ จากนั้นข้อมูลจะถูกบันทึก ลงในหน่วยความจำ แล้วส่งข้อมูลผ่านทางคลื่นวิทยุที่ความถี่ 2.4 GHz โดยจะมีตัวรับสัญญาณที่เชื่อมต่ออยู่กับคอมพิวเตอร์พกพาแบบ (Ultra Mobile Personal Computer : UMPC) มี software ประมวลผลหาค่าปริมาณน้ำอิสระ (aw) ร่วมกับการใช้ทฤษฎี Sorption Isotherm และ Water activity เพื่อทำนายหาความเสี่ยงที่จะเกิดเชื้อรา ที่จะส่งผลต่อคุณภาพของลำไย TR1 ยังสามารถป้องกันการปลอมปนของสินค้าเก่ากับสินค้าใหม่ ทำให้สินค้ามีคุณภาพ และลดการสูญเสียรายได้เนื่องจากมีการตรวจสอบคุณภาพ เป็นเพิ่มความน่าเชื่อถือของผู้ค้าและผู้บริโภค
ประเภทที่ 3 กระบวนการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานโดยใช้เทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี มีผลงานที่ผ่านเข้ารอบจำนวน 2 โครงการ ดังนี้
1. โครงการ ป้ายโฆษณาอัจฉริยะ ชื่อทีม ขาหมู
การพัฒนาป้ายโฆษณาอัจฉริยะ(Smart Poster) จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการ ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะการลงทุนที่คุ้มค่าย่อมเป็น เป้าหมายหลักของทุกองค์กร และหัวใจของการประชาสัมพันธ์ คือการที่ให้ผู้บริโภคได้รับรู้ข่าวสารหรือบริการที่เราต้องการนำเสนอ อย่างแพร่หลาย กว้างขวาง นอกจากนั้นป้ายโฆษณา สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ซึ่งเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมในการช่วยลดปริมาณการใช้ทรัพยากร
2. โครงการ การเพิ่มมูลค่าของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ด้วยนวัตกรรม ชื่อทีม อินโนโวล
โครงการนี้จะนำเอานวัตกรรม RFID และเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นๆ มาช่วยให้ระบบโลจิสติกส์มีการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากนวัตกรรม RFID มีข้อได้เปรียบใหม่หลายอย่างด้วยกันที่จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อระบบโลจิสติกส์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความรวดเร็ว เพิ่มความแม่นยำ ลดต้นทุน หรือเพิ่มวิธีการเก็บข้อมูล โดยในโครงการนี้จะเน้นไปถึงการให้บริการทางด้านโลจิสติกส์ (Logistics Provider) ของบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprise: SMEs) ซึ่งได้เน้นไปถึงรูปแบบของการบริการทางด้านโลจิสติกส์ เพราะเป็นรูปแบบการบริการที่เป็นสากลมากกว่าอีกสองรูปแบบ ซึ่งขึ้นอยู่กับระบบหรือขั้นตอนการผลิตของลูกค้าใช้บริการ และเหตุที่ได้เน้นไปถึงบริษัทขนาดกลางและย่อม (SMEs) เป็นเพราะบริษัทขนาดดังกล่าวมักให้บริการในรูปแบบที่เล็กและรวดเร็วกว่าบริษัทขนาดใหญ่ ด้วยเหตุดังกล่าวถึงได้เลือกพัฒนาระบบการจัดการโลจิสติกส์ในขอบเขตดังกล่าวซึ่งคิดว่าจะตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ระบบได้ดีที่สุด ทั้งผู้ให้บริการเองและลูกค้าเอง และจะนำนวัตกรรม RFID มาประยุกต์ใช้เป็นหลัก
พบผลงานผู้เข้าแข่งขันทั้ง 10 ทีม และค้นหาสุดยอดนักประดิษฐ์ในแต่ละประเภท และรางวัลป๊อปปูล่าโหวต ชิงเงินรางวัลเงินกว่า 3 แสนกว่าบาท ได้ในงานประชุมวิชาการและนิทรรศการเนคเทค ประจำปี 2551 “Digitized Thailand: Towards the Digital World ดิจิไทย : มุ่งสู่โลกดิจิทัล” วันพุธที่ 24 และวันพฤหัสบดีที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2551 ณ ชั้น 4 - 5 บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ