“ครอบครัวเข้มแข็ง” แรงหนุนทหารไทย 3 จังหวัดชายแดนใต้

ข่าวทั่วไป Tuesday September 16, 2008 14:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.ย.--สสส.
ปัจจุบันกำลังพลในกองทัพไทย กำลังประสบกับปัญหาในหลายๆด้าน ทั้งปัญหาด้านสุขภาพกายและสุขภาพใจ โดยมีต้นเหตุมาจากปัญหาทางด้านสังคม หนี้สิน ความเครียด และปัญหาในเรื่องสภาพแวดล้อม ซึ่งส่งผลกระทบไปยังคนภายในครอบครัวของกำลังพล โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวของกำลังพลที่ถูกส่งไปปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อหัวหน้าครอบครัวไม่อยู่ ก็มักจะยิ่งก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ กับคนในครอบครัวมากยิ่งขึ้น
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ตระหนักในศักยภาพของกองทัพในฐานะเป็นองค์กรระดับชาติที่มีขีดความสามารถในการขับเคลื่อนสังคมไปสู่สังคมแห่งสุขภาวะ อีกทั้งเป็นองค์กรที่มีบุคลากร ในสังกัดรวมทั้งสมาชิกในครอบครัวจำนวนมากกระจายอยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศ สสส.จึงได้ร่วมกับกองทัพพัฒนา “แผนแม่บทการสร้างเสริมสุขภาพกำลังพลของกองทัพไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2545 -2549)” ขึ้นมา
ในระยะแรกกิจกรรมส่วนใหญ่จึงมุ่งเน้นส่งเสริมและพัฒนาทักษะการสร้างเสริมสุขภาพผ่านกิจกรรมการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นความต้องการของกำลังพล ครอบครัว และเยาวชนภายในหน่วย ต่อมาในช่วงหลังของการดำเนินงานระยะที่ 1 (พ.ศ.2548-2549) จึงได้พัฒนาเป็นโครงการสร้างเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ครอบคลุมทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสุขภาพสังคม โดยมีกิจกรรมการออกกำลังกายและกีฬา, กิจกรรมอาหารปลอดภัยมีคุณค่าโภชนาการ, การปฏิบัติธรรม, การลดปัจจัยเสี่ยงจาก บุหรี่ สุรา ยาเสพติด, การป้องกันอุบัติเหตุ, การป้องกันโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อ
รวมไปถึงการพัฒนาหน่วยงานเป็นสถานที่ทำงานสร้างเสริมสุขภาพด้วยการจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพและทางสังคมที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพ, การจัดตั้งศูนย์เยาวชนในหน่วยทหาร ตลอดจนการนำระบบการสื่อสารของกองทัพมาใช้เป็นช่องทางเผยแพร่ข่าวสาร ความรู้เชิงวิชาการ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพให้แก่กำลังพล และประชาชนทั่วไป
พลโทหญิง กมลพร สวนสมจิตร ผู้ทรงคุณวุฒิกองบัญชาการทหารสูงสุด และผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะในกองทัพ สสส. กล่าวว่าจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับกำลังพลของกองทัพในปัจจุบัน โครงการนี้จึงเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของกำลังพลกองทัพไทย โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้กำลังพลและครอบครัว รวมไปถึงประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงพื้นที่เขตทหารนั้นได้มีสุขภาพที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุข
“การดำเนินงานในระยะที่ 1 พบว่ามีหน่วยที่ดำเนินการได้ประสบความสำเร็จจนได้รับการคัดเลือกให้เป็นหน่วยดีเด่นจากทุกเหล่าทัพ 12 หน่วย โดยเฉพาะที่กรมทหารราบที่ 6 รักษาพระองค์ ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานีนั้น เป็นหน่วยงานต้นแบบที่ได้มีการพัฒนาการสร้างเสริมสุขภาวะแบบองค์รวมได้เกณฑ์สูงสุดของกองทัพ โดยได้มีการพัฒนาสุขภาวะครบองค์รวมใน 4 ด้านคือ ด้านสุขภาพร่างกาย ด้านสุขภาพจิต ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และด้านจิตวิญญาณหรือปัญญา” พลโทหญิง กมลพรกล่าว
ด้าน พ.อ.จุลเดช จิตถวิล ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 6 รักษาพระองค์ฯ ได้กล่าวถึงการดำเนินงานโครงการนี้ว่า “โครงการเกิดจากการพิจารณาเห็นว่ากำลังพลของกรมทหารราบที่ 6 มีประสิทธิภาพการปฏิบัติงานไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งค้นพบว่าเกิดจากปัญหาหนี้สิน ปัญหาสุขภาพร่างกายและจิตใจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงาน จึงได้ขอการสนับสนุนโครงการจาก สสส. ซึ่งได้เริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2547 โดยมีการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์มากมายให้กำลังพลและครอบครัวได้มีส่วนร่วม รวมทั้งมีการต่อยอดกิจกรรมด้วยการขยายไปยังชุมชนอื่นที่อยู่รอบค่ายซึ่งเป้าหมายสูงสุดคือจำนวนผู้ร่วมโครงการที่เพิ่มมากขึ้น”
ทางด้านครอบครัวของทหารที่ไปปฏิบัติหน้าที่ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การดำเนินงานต่างๆ ของโครงการนี้ก็ได้เข้ามาดูแลสารทุกข์สุขดิบของคนในครอบครัวในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นการหาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ การจัดกิจกรรมทำบุญนั่งสมาธิเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับครอบครัวของกำลังพล
นางสุนทร คุณภาที ภรรยาของ จ.ส.อ.ทวี คุณภาที ซึ่งเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวถึงกิจกรรมต่างๆ ของโครงการเข้ามาช่วยเหลือครอบครัวของตนว่า “ท่านผู้การฯ ได้หางานให้แม่บ้านได้ทำ จนมีรายได้เพิ่มขึ้นถึงเดือนละ 5-6 พันบาท รวมถึงพาไปร่วมทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ทำบุญไหว้พระ ทำให้เราจิตใจดีขึ้น ไม่เหงา คลายกังวลได้ ซึ่งทางสามีเมื่อรู้ว่าเรามีกิจกรรมทำ เขาก็ไม่ห่วงเรา เพราะรู้ว่าเราไม่ว่าง ไม่คิดฟุ้งซ่าน เขาก็รู้สึกสบายใจ ปฏิบัติงานได้มีประสิทธิภาพ”
ด้าน นางบังอร สายแวว ภรรยาของ จ.ส.อ.ประสงค์ สายแวว ที่ได้ร่วมเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกครอบครัวหนึ่งก็ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “โครงการนี้ได้สร้างขวัญกำลังใจให้เราด้วยการช่วยให้เรามีงานทำ มีรายได้ ทำให้เรารู้สึกมีกำลังใจ มีงานทำ ทำให้จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน”
ซึ่งผลจากการดำเนินการต่างๆ ภายใต้แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะกำลังพลกองทัพไทย
พบว่าสถิติตัวเลขต่างๆ มีแนวโน้มที่ดีขึ้นจนเป็นที่น่าพอใจ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขของกำลังพลที่หันมาออกกำลังกายมากขึ้นกว่า 90% สถิติเรื่องของยาเสพติด และตัวเลขเรื่องของอุบัติเหตุด้านการจราจรลดลงจนแทบจะเป็นศูนย์ หนี้สินของกำลังพลลดลงจาก 129 ล้านบาท เหลือเพียง 118 ล้านบาท ค่ารักษาพยาบาลจาก 1.6 ล้านบาทลดลงเหลือเพียง 0.37 ล้านบาทต่อปี และสุขภาพของกำลังพลก็ดีขึ้นจากตัวเลขการวัดค่าน้ำหนักตัว ไขมันและความดัน ลดลงไปกว่าครึ่งหนึ่งเมื่อกับตัวเลขก่อนเข้าร่วมโครงการ
“เมื่อสถิติการเจ็บป่วยลดลง การเกิดอุบัติเหตุลดลง ค่ารักษาพยาบาลลดลง หนี้สินลดลง กำลังพลและครอบครัวก็มีความสุขกาย สุขใจขึ้น และไม่มีใครไปยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข สังคมและสิ่งแวดล้อมในหน่วยทหารก็ดีขึ้น ในส่วนของหัวหน้าครอบครัวที่ไปปฏิบัติหน้าที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องกังวลว่าจะมีใครคอยดูแลครอบครัวและคนที่บ้าน เนื่องจากจะมีเพื่อนบ้านมาช่วยกันทำหน้าที่แทน” พลโทหญิง กมลพร กล่าวสรุป
ดังนั้นเพื่อเป็นการพัฒนาและเสริมศักยภาพให้หน่วยต่างๆ ของทุกเหล่าทัพ ให้เป็นหน่วยที่มีขีดความสามารถในการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพและสามารถขยายผลไปเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตกำลังพล ครอบครัวและชุมชนได้ในวงกว้าง ทาง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จึงได้ร่วมกับกองทัพ พัฒนา “แผนงานการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตกำลังพลกองทัพไทย ระยะที่ 2” พ.ศ. 2550 -2552 ขึ้นมา และนำปัจจัยความสำเร็จจากการดำเนินการในระยะแรกมากำหนดเป็น “ยุทธศาสตร์” ในการกำหนดแผนงานหลัก เพื่อจัดการและสนับสนุนให้แผนงานการสร้างเสริมสุขภาพของกองทัพไทยให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จ ในการที่จะพัฒนาให้หน่วยต่างๆ ของกองทัพ เป็นกลไกเพื่อการขับเคลื่อนกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพในสังคมไทยต่อไป .
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
ผู้ส่ง : ปุณณดา
เบอร์โทรศัพท์ : 0813580687

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ