การคาดการณ์ผลกระทบวิกฤตการณ์ทางการเมืองต่อเศรษฐกิจ การลงทุน การส่งออก และการลงทุน รวมทั้ง ข้อเสนอทางออกจากวิกฤตการณ์ทางการเมือง

ข่าวทั่วไป Tuesday September 16, 2008 17:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.ย.--มหาวิทยาลัยรังสิต
ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เปิดเผยถึง ผลศึกษาผลกระทบของวิกฤตการณ์ทางการเมืองต่อเศรษฐกิจ การลงทุน และการท่องเที่ยวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอนาคตรวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วสามารถแบ่งออกได้เป็นสามกรณี คือ กรณีที่ 1 สถานการณ์วิกฤตการณ์ทางการเมืองยุติภายในเดือนกันยายน ยุติการยึดครองทำเนียบรัฐบาล (เทียบกับกรณีดี ซึ่งคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิตได้ทำการประมาณการเมื่อต้นปี อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 5-6%) โอกาสในความเป็นไปได้ของกรณีนี้เท่ากับ 20%) โดยคาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 4.8% โดยที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะอยู่ที่ 3.9% ผลเสียหายทางเศรษฐกิจโดยภาพรวมจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 19,000 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็นรายได้จากการท่องเที่ยว 6,000 ล้านบาท ผลกระทบต่อการส่งออก 10,000 ล้านบาท ผลกระทบการลงทุน 1,000 ล้านบาท ผลกระทบต่อการบริโภค 2,000 ล้านบาท ในขณะที่การสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและการลงทุนไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนล้านบาท (ส่วนนี้ไม่ได้คำนวณรวมในจีดีพี)
กรณีที่ 2 สถานการณ์วิกฤตการณ์ทางการเมืองยืดเยื้อแต่ไม่มีความรุนแรงและนองเลือดในวงกว้าง รัฐบาลมีอายุ 2-3 เดือนมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หรือยุบสภา (เทียบกับกรณีพื้นฐาน ซึ่งคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิตได้ทำการประมาณการเมื่อต้นปี อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 4-5%) โอกาสในความเป็นไปได้ของกรณีนี้เท่ากับ 60% หากเกิดกรณีนี้ขึ้น คาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 4.3% โดยที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะอยู่ที่ 2.9% ผลเสียหายทางเศรษฐกิจโดยภาพรวมจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 68,000 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็นรายได้จากการท่องเที่ยว 26,000 ล้านบาท ผลกระทบต่อการส่งออก 24,000 ล้านบาท ผลกระทบการลงทุน 6,000 ล้านบาท ผลกระทบต่อการบริโภค 12,000 ล้านบาท ในขณะที่การสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและการลงทุนไม่ต่ำกว่าสามแสนล้านบาท (ส่วนนี้ไม่ได้คำนวณรวมในจีดีพี)
กรณีที่ 3 สถานการณ์วิกฤตการณ์ทางการเมืองนำมาสู่ความรุนแรงและนองเลือดในวงกว้าง จบลงด้วยรัฐประหารในเดือนตุลาคม (เทียบกับกรณีเลวร้าย ซึ่งคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิตได้ทำการประมาณการเมื่อต้นปี อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 3-4%) หากเกิดกรณีนี้ขึ้น คาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 3.6% โดยที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะอยู่ที่ 1.5% ผลเสียหายทางเศรษฐกิจโดยภาพรวมจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 137,000 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็นรายได้จาการท่องเที่ยว 77,000 ล้านบาท ผลกระทบต่อการส่งออก 24,000 ล้านบาท ผลกระทบการลงทุน 14,000 ล้านบาท ผลกระทบต่อการบริโภค 22,000 ล้านบาท ในขณะที่เมื่อเกิดการรัฐประหารการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและการลงทุนจะไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านล้านบาท (ส่วนนี้ไม่ได้คำนวณรวมในจีดีพี) อย่างไรก็ตาม ความเสียหายของรัฐประหารยังมีขอบเขตจำกัดต่อเศรษฐกิจปี 51 เนื่องจากจะมีผลเฉพาะไตรมาสสี่ แต่จะส่งผลเสียหายทางเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างรุนแรงในระยะต่อไป และมีความเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจไทยจะเจอกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 52 หากมีรัฐประหารและความรุนแรงนองเลือดเกิดขึ้น
ดร. อนุสรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่จะมีผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ ระบบการเมือง ระบบกฎหมายและสังคม มากกว่า รัฐประหาร คือ สภาพอนาธิปไตยซึ่งเวลานี้ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเกิดสถานการณ์ดังกล่าวขึ้นได้ จึงขอเสนอแนะเพื่อเป็นทางออกจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางเศรษฐกิจ ภาพลักษณ์เสถียรภาพทางการเมืองของไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากการขาดความเข้าใจในวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่แท้จริง มีความอ่อนแอของระบบนิติรัฐและจริยธรรมในทุกระดับ เกิดสภาวะไม่เคารพกฎหมายและมีแนวโน้มใช้ความรุนแรงต่อกัน
ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้นำเสนอ 9 แนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองและผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ประการแรก ขอเรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกรัฐมนตรีที่มีความประนีประนอม มีความรู้ความสามารถ มีความซื่อสัตย์สุจริต และ ขอให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่เลือกคณะรัฐมนตรีที่นำมาสู่การหยุดยั้งวิกฤตการณ์ทางการเมืองและสลายขั้วความขัดแย้งทางการเมือง ในวันพุธนี้ ประการที่สอง แก้ไขกฎหมายให้การประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เป็นอำนาจของรัฐสภาซึ่งเป็นผู้แทนของราษฎรทั้งหลาย ประการที่สาม พันธมิตรต้องถอนตัวออกจากทำเนียบรัฐบาลและไปชุมนุมในสถานที่ที่ไม่ละเมิดต่อกฎหมายและละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ขอให้ทุกฝ่ายเคารพต่อกฎหมายและกติกาของสังคม ประการที่สี่ ขอให้ทุกฝ่าย หยุดการกระทำ คำพูด พฤติกรรมในลักษณะยั่วยุให้เกิดความรุนแรงหรือเกลียดชังที่มีต่อกันมากขึ้น พร้อมกับเปิดการเจรจาของคู่ความขัดแย้งเพื่อแสวงหาทางออกให้บ้านเมือง
ประการที่ห้า เปิดโอกาสให้ ศาลยุติธรรมและกระบวนการทางกฎหมายสะสางคดีทุจริตคอร์รัปชันต่างๆ ดำเนินไปโดยปราศจากการแทรกแซง ยึดถือความเป็นกลางและเป็นธรรมอย่างเคร่งครัด
ประการที่หก ดำเนินการจัดตั้งเครือข่ายประชาชนทุกสาขาอาชีพเพื่อผลักดันให้มีการปฏิรูปทางการเมืองรอบใหม่ คัดค้านการดำเนินการใดๆที่นอกเหนือหลักการประชาธิปไตย และ นอกวิถีทางรัฐธรรมนูญ ประการที่เจ็ด ออกกฎหมายนิรโทษกรรมสำหรับความผิดอันเป็นผลมาจากความขัดแย้งทางการเมือง ประการที่แปด ขอเรียกร้องให้ สื่อมวลชน นำเสนอข้อเท็จจริงอย่างเป็นกลาง ไม่เลือกข้าง เน้นการให้ความรู้และข้อมูลต่อประชาชน และ ขอเรียกร้องให้ นักวิชาการปัญญาชน ทำหน้าที่ให้ สติปัญญา กับ สังคม ไม่แสดงความเห็นอย่างมีอคติ
ประการที่เก้า จัดตั้ง คณะกรรมการปฏิรูปแห่งชาติ อันประกอบไปด้วยทุกภาคส่วนของสังคมเพื่อปฏิรูปประเทศอย่างรอบด้านทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและค่านิยม
ดร. อนุสรณ์ สรุปว่า แนวทางเก้าประการนี้ มีเป้าหมายเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตย ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ ปฏิรูปการเมืองให้ดีขึ้น บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะสันติสุขและมีเสถียรภาพก่อนวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๑
ดร. อนุสรณ์ ได้คาดการณ์ถึง แนวโน้มค่าเงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าได้หากสถานการณ์ทางการเมืองปรับตัวในทิศทางดีขึ้นและตัวเลขดุลการค้าที่เกินดุลเพิ่มขึ้น ส่วนดัชนีตลาดหลักทรัพย์อาจขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 750 ได้ในช่วงไตรมาสสี่ สำหรับนโยบายการเงินมองว่าควรจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างน้อย 0.50% เพื่อประคับประคองสภาวะเศรษฐกิจ โดยที่แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสสี่จะลดลงอย่างชัดเจนโดยอัตราเงินเฟ้อไม่น่าจะเกิน 6% ขณะที่มาตรการทางการคลังจะไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่จากปัญหาทางการเมือง การผ่อนคลายทางการเงินจึงเป็นมาตรการสำคัญในการดูแลเศรษฐกิจ
ดร. อนุสรณ์ ได้ให้ความเห็นต่อวิกฤตการณ์สถาบันการเงินสหรัฐฯ (เลห์แมน บราเธอร์) ว่า จะส่งผลกระทบทำให้เกิดความผันผวนของตลาดการเงินโลกระยะหนึ่ง ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอีกในไตรมาสสี่ มีผลต่อภาคส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยในไตรมาสสี่ ราคาน้ำมันอาจจะลงมาต่ำกว่า 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อาจจะกดดันให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยลงไปต่ำกว่า 600 ในระยะสั้น รวมทั้งสถาบันการเงินไทยที่ลงทุนในตราสารหนี้ของสถาบันการเงินสหรัฐฯที่มีปัญหา
การคาดการณ์ผลกระทบวิกฤตการณ์การเมืองต่อเศรษฐกิจไทย
กรณีที่1 กรณีที่2 กรณีที่3
ผลกระทบของการบริโภคต่อGDP (ร้อยละ) 0.02 0.13 0.23
ความเสียหายทางเศรษฐกิจ (ล้านบาท) 2,000 12,000 22,000
ผลกระทบของการลงทุนต่อGDP (ร้อยละ) 0.01 0.06 0.15
ความเสียหายทางเศรษฐกิจ (ล้านบาท) 1,000 6,000 14,000
ผลกระทบและการส่งออกต่อGDP (ร้อยละ) 0.11 0.25 0.25
ความเสียหายทางเศรษฐกิจ (ล้านบาท) 10,000 24,000 24,000
ผลกระทบของการท่องเที่ยวต่อGDP (ร้อยละ) 0.06 0.26 0.77
ความเสียหายทางเศรษฐกิจ (ล้านบาท) 6,000 26,000 77,000
ผลกระทบโดยร่วมต่อGDP (ร้อยละ) 0.2 0.7 1.4
ความเสียหายทางเศรษฐกิจ (ล้านบาท) 19,000 68,000 137,000
การขยายตัวทางเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง (ร้อยละ) 3.9 2.9 1.5
การขยายตัวทางเศรษฐกิจปี51 (ร้อยละ) 4.8 4.3 3.6
สมมติฐาน
กรณีที่1
สถานการณ์วิกฤตการณ์ทางการเมืองยุติภายในเดือนกันยายน ยุติการยึดครองทำเนียบรัฐบาล (เทียบกับกรณีดี ซึ่งคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิตได้ทำการประมาณการเมื่อต้นปี อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่5-6%) โอกาสและความเป็นไปได้ของกรณีนี้เท่ากับ20%
กรณีที่2
สถานการณ์วิกฤตการณ์ทางการเมืองยืดเยื้อแต่ไม่มีความรุนแรงและนองเลือดในวงกว้าง รัฐบาลมีอายุ2-3เดือนมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หรือยุบสภา (เทียบกับกรณีพื้นฐาน ซึ่งคณะเศรษฐศาสตร์
ม. รังสิตได้ทำการประมาณการเมื่อต้นปี อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่4-5%) โอกาสและความเป็นไปได้ของกรณีนี้เท่ากับ60%
กรณีที่3
สถานการณ์วิกฤตการณ์ทางการเมืองนำมาสู่ความรุนแรงและนองเลือดในวงกว้าง จบลงด้วยรัฐประหารในเดือนตุลาคม(เทียบกับกรณีเลวร้าย ซึ่งคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิตได้ทำการประมาณการเมื่อต้นปี อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่3-4%) โอกาสและความเป็นไปได้ของกรณีนี้เท่ากับ20%
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
นุชนารถ อำนาจบุดดี
ผู้ประสานงานคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต
โทร.02-997-2222 ต่อ 1238
แฟกซ์ 02-533-9695

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ