สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยประกาศนโยบาย 14 แผนงานหลัก เสริมสร้างความเข้มแข็งอุตสาหกรรมไทย พร้อมแข่งขันบนเวทีโลก

ข่าวทั่วไป Tuesday May 30, 2006 16:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประกาศวิสัยทัศน์ (Vision) ภารกิจ (Mission) และแผนการดำเนินงานของสภาอุตสาหกรรมฯ สำหรับวาระปี 2549-2551 ชูบทบาทการเป็นผู้นำภาคอุตสาหกรรมไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีสากล โดยมีภารกิจหลัก 5 ข้อ ดังนี้
พัฒนาศักยภาพ หาลู่ทาง สร้างโอกาส ให้อุตสาหกรรมทุกขนาดของประเทศ เพื่อการขยายตัวอย่างมีคุณภาพ และสามารถแข่งขันได้อย่างต่อเนื่องทั้งในระดับภูมิภาคและสากล
รณรงค์และส่งเสริมให้มีการประกอบอุตสาหกรรมอย่างสร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์ในด้านสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์พลังงานของชาติ และความรับผิดชอบต่อสังคม
เป็นตัวแทนภาคอุตสาหกรรมในการเสนอแนวทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม และผลักดันให้เป็นนโยบายของรัฐบาล พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมของชาติ
เน้นการมีส่วนร่วมของสมาชิกทั้งในระดับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมจังหวัด กลุ่มอุตสาหกรรม รวมถึงผู้ประกอบการ เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพ และความสมานฉันท์ ในการร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมไทย
ปรับปรุงองค์กรให้ทันสมัย เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินการ และบริหารงานโดยหลักธรรมาภิบาลเพื่อความโปร่งใส และปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง
ในการนี้ เพื่อให้การดำเนินงานตามภารกิจ สามารถบรรลุเป้าหมายตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ สภาอุตสาหกรรมฯ จึงได้กำหนดแผนงานหลักในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย 9 แผนงานดังนี้
เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยเน้นการเพิ่มศักยภาพด้านเทคโนโลยี และบุคลากร
เชื่อมโยงให้เกิดความร่วมมือระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงสภาอุตสาหกรรมจังหวัดทั้งหมด เพื่อประโยชน์โดยรวมและมูลค่าเพิ่มในภาคอุตสาหกรรม
ประสานความร่วมมือกับภาครัฐเพื่อเสนอแนวทาง และผลักดันนโยบายต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมไทย รวมถึงเรื่อง FTA, การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก, การปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคและ Logistics ของชาติ และการขยายการลงทุนของอุตสาหกรรมไทยในต่างประเทศ
พัฒนาความสัมพันธ์กับองค์กรต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างเครือข่ายสำหรับแลกเปลี่ยนความรู้ และข่าวสารต่างๆ รวมถึงความร่วมมือในการผลักดันอุตสาหกรรมไทยสู่เวทีโลก
หาวิธีการในการลดใช้พลังงานและพัฒนาการใช้พลังงานทางเลือกของภาคอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม
สนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และส่งเสริมให้ผู้บริโภคในประเทศใช้สินค้าที่ผลิตจากอุตสาหกรรมดังกล่าว
ผลักดันการพัฒนากฎหมายอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แก้ไขข้อขัดข้อง และส่งเสริมการประกอบธุรกิจในทุกๆ ด้าน
เสนอและผลักดันให้มีการแก้ไขปรับปรุงโครงสร้างระบบภาษีให้ทันสมัย เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
รณรงค์ให้ทุกอุตสาหกรรมประกอบธุรกิจบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งทางด้านการควบคุมมลพิษ การจัดการสิ่งแวดล้อม และช่วยเหลือการพัฒนาชุมชนที่อยู่โดยรอบ
ในแผนงานครั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมฯ ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล เพื่อรองรับการก้าวสู่ยุคการค้าเสรี นอกจากนี้ สภาอุตสาหกรรมฯ ยังได้ให้ความสำคัญในการปรับปรุงองค์กร ส.อ.ท. ให้ทันสมัย เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงาน โดยมีแผนงานหลัก 5 แผนงานในการพัฒนาองค์กร ดังนี้
ปรับโครงสร้างองค์กรทั้งระบบให้กระชับคล่องตัว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ
พัฒนาความรู้และทักษะของบุคลากร พร้อมทั้งส่งเสริมความภาคภูมิใจ ขวัญกำลังใจ และวัฒน-ธรรมองค์กรในการทำงานเป็นทีม และมุ่งมั่นต่อความสำเร็จเพื่อรองรับการปฏิบัติงานตามโครงสร้างใหม่ของ ส.อ.ท.
จัดทำระบบฐานข้อมูลอุตสาหกรรม (IT Database) เพื่อรองรับการใช้งานของสมาชิกและบุคลลภายนอก
สร้างทีมงานวิชาการเพื่อเป็นแกนหลักในการรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกให้ผู้สนใจได้ใช้ประโยชน์
หารายได้จากการให้บริการ การจัดกิจกรรม และโครงการต่างๆ เพื่อเป็นทุนในการสนับสนุนการดำเนินงานของ ส.อ.ท. และกลุ่มสมาชิก
ทั้งนี้ ในการผลักดันแผนงานต่างๆ ดังกล่าวทั้ง 14 แผนงาน และการดำเนินงานตามภารกิจ สภาอุตสาหกรรมฯ จึงได้แต่งตั้งรองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ อาวุโส รองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ และเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมฯ เพื่อดูแลรับผิดชอบสายงานต่างๆ ดังนี้ 1.นายบดินทร์ อัศวาณิชย์ รองประธานฯ อาวุโส กำกับ ดูแลงานกฎหมายและภาษี 2. นายสมพงศ์ นครศรี รองประธานฯ อาวุโส กำกับดูแลงานแรงงาน 3. นายสุมิดา บุรณศิริ รองประธานฯ อาวุโส กำกับดูแลงานพิธีการต่างประเทศ 4. นายขจรเดช แสงสุพรรณ รองประธานฯ กำกับดูแลงานสถาบัน 5. นายนิพนธ์ สุรพงษ์รักเจริญ รองประธานฯ กำกับดูแลงานเศรษฐกิจและงานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด 6. นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานฯ กำกับดูแลงานอุตสาหกรรม 7. นายไพบูลย์ พลสุวรรณา รองประธานฯ กำกับดูแลงานองค์กรระหว่างประเทศ 8. ดร.มนูญศรี โชติเทวัญ รองประธานฯ กำกับ ดูแลงานกิจกรรมและรายได้ 9. นายมังกร ธนสารศิลป์ รองประธานฯ กำกับดูแลงานการลงทุนและตลาดทุน 10. นายสมพงษ์ ตันเจริญผล รองประธานฯ กำกับดูแลงานประชาสัมพันธ์ 11. นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน รองประธานฯ กำกับดูแลงานวิชาการ และ 12.นายธานี พุฒิพันธุ์พฤทธิ์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมฯ กำกับดูแลกองเลขาธิการ
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวเสริมอีกว่า “ผมมีความเชื่อมั่นว่า ทุกภาคส่วนของสภาอุตสาหกรรมฯ จะร่วมแรงร่วมใจกันผลักดันแผนงานต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคอุตสาหกรรมของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ (Vision) ของสภาอุตสาหกรรมฯ ว่า เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจและสังคมไทย"
ราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย และปัจจัยการเมือง ส่งผลกระทบผู้ประกอบการต่อเนื่อง ล่าสุดดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนเมษายน 49 ลดต่ำกว่า 100 เสนอรัฐให้ความดูแล SMEs และระดับราคาน้ำมัน ดอกเบี้ยให้เหมาะสม ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการ
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนเมษายน 2549 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 463 ตัวอย่าง ครอบคลุม 35 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงอย่างมากอยู่ที่ระดับ 94.5 จาก 108.5 ในเดือนมีนาคม 2549 ที่ผ่านมา โดยค่าดัชนีที่ได้มีค่าต่ำกว่า 100 เป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2548 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาวะการณ์ด้านอุตสาหกรรมอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก ทั้งนี้ สำหรับสาเหตุที่ทำให้ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง เนื่องมาจากค่าดัชนีหลักที่นำมาใช้คำนวณทุกปัจจัยปรับตัวลดลง ได้แก่ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย และปริมาณการผลิต ปรับตัวลดลงจาก 118.6 116.9 และ 124.2 ในเดือนมีนาคม เป็น 109.7 108.0 และ 113.6 ในเดือนเมษายน ตามลำดับ เช่นเดียวกับค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของต้นทุนการประกอบการ และผลประกอบการ ปรับตัวลดลงจาก 61.2 และ 117.1 ในเดือนมีนาคม เป็น 57.5 และ 101.7 ในเดือนเมษายน ตามลำดับ ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นการสะท้อนความรู้สึกของผู้ประกอบการว่ากำลังได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การที่ค่าดัชนีดังกล่าวลดลงเป็นผลมาจากขณะทำการสำรวจในเดือนเมษายน สถานการณ์ราคาต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในภาคอุตสาหกรรม มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในแต่ละอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ และสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งเป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ การที่อัตราดอกเบี้ยและค่าเงินบาทที่ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการสั่งซื้อสินค้า และทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายลง โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องกันว่า ต้องการให้ภาครัฐ เข้ามาช่วยเหลือ SMEs ทั้งด้านการเงิน การตลาดให้มากขึ้น รวมถึงเข้ามาดูแลการเปลี่ยนแปลงระดับราคาน้ำมัน ค่าเงินบาท และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้มีความเหมาะสม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภายในประเทศ
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมในแต่ละปัจจัยที่เหลือของเดือนเมษายน 2549 ผลสำรวจพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันกับค่าดัชนีหลัก คือ ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงสอดรับกับค่าดัชนีใน 5 ปัจจัยหลัก ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมต่อยอดคำสั่งซื้อในประเทศ ยอดขายในประเทศ การจ้างงาน และการใช้กำลังการผลิต ลดลงจาก 111.0 113.1 114.1 และ 137.5 ในเดือนมีนาคม เป็น 101.7 104.2 109.8 และ 130.2 ในเดือนเมษายน ตามลำดับ ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมต่อการลงทุนของ กิจการ สภาพคล่องของกิจการ และความสามารถในการแข่งขัน ลดลงจาก 113.2 95.1 และ 106.3 ในเดือนมีนาคม เป็น 111.3 94.4 และ 102.4 ในเดือนเมษายน ตามลำดับ เช่นเดียวกับค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ สภาวะในกลุ่มอุตสาหกรรม และสภาวะของการประกอบการของกิจการ ลดลงจาก 118.0 124.3 และ 109.7 ในเดือนมีนาคม เป็น 106.5 115.7 และ 106.2 ในเดือนเมษายน ตามลำดับ สำหรับดัชนีที่มีค่าปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคมผ่านมา ได้แก่ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ และ ยอดขายในต่างประเทศ และราคาขาย เพิ่มขึ้นจาก 119.9 116.8 และ 125.3 ในเดือนมีนาคม เป็น 120.1 117.1 และ 132.8 ในเดือนเมษายน ตามลำดับ เช่นเดียวกับค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของสินค้าคงเหลือ และสินเชื่อในการประกอบการ เพิ่มขึ้นจาก 116.6 และ 103.4 ในเดือนมีนาคม เป็น 118.3 และ 104.9 ในเดือนเมษายน ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาค่าดัชนีรายอุตสาหกรรมเปรียบเทียบระหว่างเดือนมีนาคมกับเดือนเมษายน 2549 โดยจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ จำนวน 35 กลุ่ม พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรม 20 กลุ่ม มีค่าดัชนีต่ำกว่า 100 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ในการประกอบธุรกิจในระดับที่ไม่ดีนัก และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบว่า มีอุตสาหกรรมที่มีค่าดัชนีปรับตัวลดลง 24 กลุ่มอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 11 กลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลงมี 18 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีมีการลดลงอย่างชัดเจน ได้แก่ อุตสาหกรรมก๊าซ ลดลงจาก 92.7 เป็น 64.1 อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ลดลงจาก 118.2 เป็น 63.6 อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ลดลงจาก 101.0 เป็น 86.7 อุตสาหกรรมแก้วและกระจก ลดลงจาก 117.1 เป็น 103.8 อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร ลดลงจาก 131.4 เป็น 69.4 อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ลดลงจาก 146.1 เป็น 77.6 อุตสาหกรรมเซรามิก ลดลงจาก 119.3 เป็น 86.2 อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ลดลงจาก 101.1 เป็น 71.1 อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ลดลงจาก 102.7 เป็น 74.7 อุตสาหกรรมยานยนต์ ลดลงจาก 124.6 เป็น 65.4 อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ ลดลงจาก 141.2 เป็น 95.9 อุตสาหกรรมรองเท้า ลดลงจาก 113.7 เป็น 68.7 อุตสาหกรรมสิ่งทอ ลดลงจาก 110.5 เป็น 46.9 อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง ลดลงจาก 107.5 เป็น 88.7 อุตสาหกรรมเหล็ก ลดลงจาก 129.3 เป็น 89.5 อุตสาหกรรมหัตถอุตสาหกรรม ลดลงจาก 119.6 เป็น 84.2 อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า ลดลงจาก 142.4 เป็น 116.7 และอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ลดลงจาก 129.5 เป็น 117.4 ในทางกลับกันมี 7 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ เพิ่มขึ้นจาก 106.9 เป็น 134.0 อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เพิ่มขึ้นจาก 101.2 เป็น 137.4 อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง เพิ่มขึ้นจาก 87.7 เป็น 98.0 อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น เพิ่มขึ้นจาก 91.0 เป็น 102.6 อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม เพิ่มขึ้นจาก 100.0 เป็น 123.3 อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพิ่มขึ้นจาก 86.0 เป็น 105.6 และอุตสาหกรรมการจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้ เพิ่มขึ้นจาก 110.9 เป็น 124.5
ในส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่แยกพิจารณาตามขนาดของกิจการพบว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั้ง 3 ขนาด ได้แก่ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่มีจำนวนแรงงาน 1 - 49 คน ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมขนาดกลางที่มีจำนวนแรงงาน 50 - 199 คน และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมใน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีจำนวนแรงงานมากกว่า 200 คนขึ้นไป มีความเชื่อมั่นต่อสภาวะการประกอบการอุตสาหกรรมในระดับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา โดยลดลงจาก 97.6 103.3 และ 122.6 ในเดือนมีนาคม เป็น 78.8 100.6 และ 104.0 ในเดือนเมษายน ตามลำดับ
สำหรับค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมแยกตามภูมิภาค พบว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา โดยมีค่าดัชนีลดลงจาก 108.0 114.4 98.8 และ 102.3 ในเดือนมีนาคม เป็น 90.1 99.0 94.4 และ 85.5 ในเดือนเมษายน ตามลำดับ ในขณะที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นจาก 112.4 ในเดือนมีนาคม เป็น 115.4 ในเดือนเมษายน ตามลำดับ
ส.อ.ท. เผย 4 เดือน ส่งออกรถยนต์โตกว่าร้อยละ 48
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยจำนวนการผลิตและการส่งออกรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ของประเทศในเดือนมกราคม — เมษายน 2549 ดังต่อไปนี้
รถยนต์
จำนวนรถยนต์ ที่ผลิตในประเทศเดือน มกราคม — เมษายน 2549 มีทั้งสิ้น 389,584 คัน มากกว่าปี 2548 ระยะเวลาเดียวกัน 60,613 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.43 ในจำนวนนี้ผลิตเพื่อการส่งออก 176,786 คัน มากกว่าปีที่แล้วในระยะเวลาเดียวกัน 53,986 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.96 และเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 212,798 คัน มากกว่าปีที่แล้วในระยะเวลาเดียวกัน 6,627 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.21
รถยนต์นั่ง ประกอบได้ 95,089 คัน เท่ากับร้อยละ 24.41 ของรถยนต์ที่ผลิตได้ทั้งหมด และผลิตมากกว่าปีที่แล้ว 10,594 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.54 และผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.20
รถยนต์นั่งขนาด 1201-1500 ซีซี ผลิตได้ 55,627 คัน มากกว่าปีที่แล้ว 11,346 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.62
รถยนต์นั่งขนาด 1501-1800 ซีซี ผลิตได้ 27,492 คัน มากกว่าปีที่แล้ว 3,266 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.48
รถยนต์นั่งขนาด 1801-2000 ซีซี ผลิตได้ 6,141 คัน มากกว่าปีที่แล้ว 940 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.07
รถยนต์นั่งขนาด 2001-2500 ซีซี ผลิตได้ 5,297 คัน น้อยกว่าปีที่แล้ว 3,443 คัน ลดลงร้อยละ 39.39
รถยนต์นั่งขนาด 2501-3000 ซีซี ผิลิตได้ 531 คัน น้อยกว่าปีที่แล้ว 1,516 คัน ลดลงร้อยละ 74.06
รถยนต์นั่งขนาด 3001 ซีซี ขึ้นไป ผลิตได้ 1 คัน มากกว่าปีที่แล้ว 1 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 100
รถยนต์โดยสารขนาด 10 ตัน ขึ้นไป ผลิตได้ 118 คัน มากกว่าปีที่แล้ว 24 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.53
รถยนต์บรรทุก ผลิตได้ทั้งหมด 294,377 คัน เท่ากับร้อยละ 75.56 ของรถยนต์ที่ผลิตทั้งหมด และผลิตมากกว่าปีที่แล้ว 49,995 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.46
รถกระบะขนาดต่ำกว่า 1 ตัน ผลิตได้ 285 คัน น้อยกว่าปีที่แล้ว 63 คัน ลดลงร้อยละ 18.10
รถกระบะขนาด 1 ตัน มียอดการผลิต 286,708 คัน เท่ากับร้อยละ 73.59 ของรถยนต์ที่ผลิตทั้งหมด และผลิตมากกว่าปีที่แล้ว 50,146 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.20 ผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 55.15 แบ่งเป็นการผลิตรถกระบะบรรทุก 147,921 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.72 รถกระบะดับเบิ้ลแค๊บ 115,991 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.23 และ รถกระบะ PPV 22,796 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.31
รถบรรทุกต่ำกว่า 5 ตัน ผลิตได้ 2,171 คัน น้อยกว่าปีที่แล้ว 277 คัน ลดลงร้อยละ 11.32
รถบรรทุกขนาด 5 - 10 ตัน ผลิตได้ 1,417 คัน น้อยกว่าปีที่แล้ว 137 คัน ลดลงร้อยละ 8.82
รถบรรทุกมากกว่า 10 ตัน ผลิตได้ 3,796 คัน มากกว่าปีที่แล้ว 326 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.39
รถจักรยานยนต์
ยอดการผลิตรถจักรยานยนต์เดือน มกราคม - เมษายน 2549 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,195,463 คัน มากกว่าปีที่แล้ว 88,813 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.03 แยกเป็นรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU) 743,513 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.57 และ ชิ้นส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ (CKD) 451,950 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.65
การส่งออก
รถยนต์สำเร็จรูป มีจำนวนส่งออก 174,674 คัน เท่ากับร้อยละ 44.84 ของรถยนต์ที่ผลิตได้ทั้งหมด และส่งออกมากกว่าปีที่แล้ว 57,406 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.95 มีมูลค่าการส่งออก 77,804.05 ล้านบาท มากกว่าปีที่แล้ว 23,313.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.78
เครื่องยนต์ มีมูลค่าการส่งออก 2,801.39 ล้านบาท มากกว่าปีที่แล้ว 559.65 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.96
ชิ้นส่วนรถยนต์อื่นๆ มีมูลค่าการส่งออก 27,802.23 ล้านบาท มากกว่าปีที่แล้ว 7,076.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.14
อะไหล่รถยนต์ มีมูลค่าการส่งออก 1,443.12 ล้านบาท มากกว่าปีที่แล้ว 326.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.23
รวมส่งออกรถยนต์ เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอะไหล่ มีมูลค่า 109,850.79 ล้านบาท มากกว่าปีที่แล้ว 31,275.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.80
รถจักรยานยนต์ มีจำนวนส่งออก 499,823 คัน (รวม CBU + CKD) มากกว่าปีที่แล้ว 78,694 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.69 โดยมีมูลค่า 8,127.11 ล้านบาท มากกว่าปีที่แล้ว 1,084.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.40
ชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 3,873.50 ล้านบาท มากกว่าปีที่แล้ว 566.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.14
อะไหล่รถจักรยานยนต์ มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 182.29 ล้านบาท น้อยกว่าปีที่แล้ว 2.97 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.60
รวมมูลค่าการส่งออกรถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วน และอะไหล่รถจักรยานยนต์ 12,182.90 ล้านบาท มากกว่าปีที่แล้ว 1,648.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.64
รวมมูลค่าการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนอื่นๆ อะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วน และอะไหล่รถจักรยานยนต์ มีทั้งสิ้น 122,033.69 ล้านบาท มากกว่าปีที่แล้ว 32,923.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.95
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 0-2345-1013 โทรสาร 0-2345-1296-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ