กระทรวงวิทย์จัดประชุมสมัชชาลดปัญหาโลกร้อนชูนโยบายคาร์บอนเครดิตกับโอกาสภาคเอกชนไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 17, 2008 15:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
กระทรวงวิทยาศาสตร์จัดระดมความคิดเห็นในงานประชุมสมัชชา “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับภาวะโลกร้อน” หวังรวบรวมเป็นมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบโลกร้อน นักวิชาการชี้ต้องทำเป็นระบบ มองปัญหาให้ครบวงจรทั้งสาเหตุ ผลกระทบ และแนวทางการแก้ปัญหา พร้อมเร่งหาพลังงานทดแทน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมชูนโยบายคาร์บอนเครดิตกับโอกาสของภาคเอกชนไทย
ดร. สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงการจัดประชุมครั้งนี้ว่า เป็นการสนองนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน ธุรกิจเอกชน และชุมชนเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน เพื่อระดมความคิดและประสบการณ์เกี่ยวกับปัญหา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแนวทางการรับมือกับภาวะโลกร้อน จากผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
เนื่องจากปัจจุบันโลกกำลังตื่นตัวและให้ความสำคัญกับปัญหาผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นวาระระดับโลกที่ต้องทำความเข้าใจ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และหยุดยั้งมหันตภัยต่างๆ เช่น ภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้ง การเกิดของโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ ตลอดจนความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศต่างๆ ทั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก น้ำแข็งในขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศและฤดูกาล
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้มีการศึกษาและวิจัยเพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อน เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทน เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน เทคโนโลยีเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีสะอาด ซึ่งการศึกษาและวิจัยเหล่านี้จะช่วยทั้งประเทศไทยและสังคมโลกในการเฝ้าระวังและบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนได้เป็นอย่างดี
รศ.ดร. สิรินทรเทพ เต้าประยูร บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวบรรยายในหัวข้อ “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับภาวะโลกร้อนในบริบทของประเทศไทย” ในการประชุมครั้งนี้ว่า เรื่องของโลกร้อนเป็นเรื่องนโยบายทางวิทยาศาสตร์ การที่จะดึงเรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้จะต้องมองอย่างเป็นระบบ ต้องมองโลกร้อนให้ครบวงจรตั้งแต่สาเหตุผลกระทบ และการลดปัญหา
รศ.ดร.สิรินทรเทพ กล่าวต่อว่า สาเหตุของปัญหาเราทราบว่ามาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในส่วนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอดีต โดยการศึกษาวงปีของต้นไม้ การศึกษาชั้นตะกอน เปรียบเทียบกับ การเก็บข้อมูลปีที่ร้อนขึ้น ปีที่มีมรสุม ปีทีน้ำท่วม จะช่วยทำให้เข้าใจการเกิดสภาะวะโลกร้อนในอดีตที่ผ่านมาได้ดีขึ้น ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลการเปลี่ยนแปลงในอดีต
นอกจากนี้เรายังต้องใช้วิทยาศาสตร์และข้อมูลในอดีตมองให้ถึงอนาคต เช่น การเพิ่มของอุณหภูมิที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย จึงต้องมีการพัฒนาความรู้ในเรื่องแบบจำลองสภาพภูมิอากาศระดับภูมิภาค ซึ่งจะทำให้เรามีข้อมูลว่าในอนาคตสภาวะโลกร้อนจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นกับประเทศไทย
“วิทยาศาสตร์จะนำมาสู่ความเข้าใจปัญหา เพื่อตั้งรับกับปัญหา เรื่องของโลกร้อนจะส่งผลกระทบโดยตรงกับ สิ่งแวดล้อม และผลทางอ้อมกับมนุษย์ เรื่องสิ่งแวดล้อมสำหรับประเทศไทยคือเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น วิทยาศาสตร์จะเข้ามาศึกษาเกี่ยวกับการเคลื่อนตัวของคลื่น เพื่อนำไปสู่การหาเทคโนโลยีในการป้องกัน การศึกษาความสมบูรณ์ของป่าชายเลนเพื่อเป็นแนวปะทะของคลื่น ส่วนเรื่องของความแห้งแล้งของพื้นที่ทำการเกษตร จะดูว่าภายใต้สภาวะโลกที่เปลี่ยนแปลงต้องทำการพัฒนาพันธุ์พืชให้เหมาะสมอย่างไร รวมถึงศึกษาเรื่องของโรคระบาดที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนเพื่อมองหาแนวทางในการป้องกัน เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น”
รศ.ดร.สิรินทรเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเรื่องของการลดหรือบรรเทาปัญหานั้น คือ การช่วยกันลดการปลดก๊าซเรือนกระจก เป็นเรื่องของเทคโนโลยีเป็นหลัก โดยเฉพาะการใช้เชื้อเพลิงทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคพลังงานซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดก๊าซเรือนกระจก เช่นการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ อย่าง เอธานอล ไบโอดีเซล ไบโอแก๊ส ทั้งนี้ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ที่เอื้อต่อการให้เชื้อเพลิงชีวภาพ นอกจากนี้ในปัจจุบันได้มีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้พลังงานลมซึ่งคาดว่าจะมีศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่าเดิม
“และที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งคือ เรื่องการประหยัดพลังงาน ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวคนมาก นอกจากจะเป็นเรื่องของจิตสำนึกแล้ว เทคโนโลยียังเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การผลิตหลอดไฟแบบประหยัด เครื่องใช้ไฟฟ้าฉลากเบอร์5 เทคโนโลยีที่จะมาสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรประสิทธิภาพสูงในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น “ รศ.ดร. กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ประชาคมโลกได้ตระหนักว่าสาเหตุของภาวะโลกร้อนเกิดจากการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ จึงได้มีการบรรลุข้อตกลงในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปี 2533 และพิธีสารเกียวโตในปี 2540 ประเทศไทยได้ลงนามให้สัตยาบันเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2537 และต่อมาได้ลงนามให้สัตยาบันพิธีสารเกียวโตเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2545 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2548
โดยมีเงื่อนไขว่า ช่วงพ.ศ.2551-2555 ให้ประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งเป็นสมาชิกของพิธีสารฯในกลุ่มบัญชีที่ 1 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศอุตสาหกรรมเช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย มีพันธะกรณีต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 5.2 และเปิดโอกาสให้ประเทศเหล่านี้สามารถเข้าดำเนินกิจกรรมบางอย่างในประเทศในบัญชีที่ 2 ที่รวมประเทศไทยอยู่ด้วย เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสามารถนำไปใช้คำนวณออกมาเป็นเครดิตเรียกว่า “คาร์บอนเครดิต
นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) กล่าวในหัวข้อ “คาร์บอนเครดิตกับโอกาสของภาคเอกชนไทย” ว่า ในปัจจุบันมีโครงการที่ผ่านการรับรองแล้ว 2 โครงการ และยังมีอีก 41 โครงการที่กำลังจะผ่านการรับรอง ส่วนอีก 23 โครงการกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา อย่างไรก็ตาม มีอีกหลายโครงการที่มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตโดยไม่ได้ผ่านการรับรองอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ 41 โครงการสามารถนำมาคำนวณการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 2.9 ล้านตันต่อปี
นายศิริธัญญ์ กล่าวต่อว่า ผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าโครงการจะต้องทำเอกสารและออกแบบโครงการเพื่อให้ผ่านการรับรองและจดทะเบียนว่าโรงงานของเขาสามารถลดการปล่อยก๊าคาร์บอนไดออกไซด์ ได้จริงหรือไม่ จากนั้นจะต้องผ่านการรับรองจากสหประชาชาติอีกทีหนึ่ง ซึ่งจะต้องเป็นโครงการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 4 หมวด คือ ความยั่งยืนต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี
นายศิริธัญญ์ กล่าวว่า ธุรกิจที่เข้าสู่โครงการจะเป็นธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น โรงแป้งมันสำปะหลัง และโรงงานที่มีของเสียที่มีความเข้มข้นมาก ทั้งนี้ ราคาของคาร์บอนเครดิตในปัจจุบันจะซื้อขายกันในราคา 15-20 ยูโรต่อตัน ส่วนที่ไม่เป็นทางการจะอยู่ที่ 9-10 ยูโรต่อตัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ