กรุงเทพฯ--3 พ.ย.--ปตท.สผ.
บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ในฐานะบริษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ และบริษัทย่อย ประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2548 กำไรสุทธิ 7,183 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,072 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 75 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา
นายมารุต มฤคทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ปี 2548 ปตท.สผ. และบริษัทย่อย มีรายได้รวมทั้งสิ้น 19,987 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,230 ล้านบาท หรือร้อยละ 57 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จำนวน 12,757 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยในไตรมาสนี้ที่เพิ่มขึ้นเป็น 31.47 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ 23.83 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และปริมาณการขายในไตรมาสนี้ก็เพิ่มขึ้นเป็น 160,678 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 135,456 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน
ปริมาณการขายก๊าซธรรมชาติและคอนเดนเสตที่เพิ่มขึ้นมาจากหลายโครงการรวมทั้งโครงการบงกช โครงการไพลิน และโครงการเยตากุน นอกจากนี้ปริมาณการขายน้ำมันดิบก็สูงขึ้นเพราะนอกจากน้ำมันดิบจากโครงการเอส 1 แล้วก็ยังมีน้ำมันดิบจากโครงการนางนวล และจากโครงการ บี8/32 ที่ ปตท.สผ.มีสัดส่วนการร่วมทุนจากการซื้อหุ้นของบริษัท โปโก ประเทศไทยตั้งแต่เดือนกันยายน 2548
นายมารุต มฤคทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ.กล่าวว่า “ปตท.สผ.ตระหนักถึงภารกิจที่บริษัทมีต่อประเทศ ผลประกอบการที่ดีในระยะนี้ถือเป็นโอกาสที่ปตท.สผ.จะได้ขยายการลงทุนในต่างประเทศเพื่อสร้างความมั่นคงในด้านพลังงานของไทยในระยะยาว ซึ่งการลงทุนในธุรกิจนี้แม้จะมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นแต่ก็จะเป็นผลดีต่อประชาชนชาวไทยและต่อประเทศไทยในที่สุด”
กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวถึงความคืบหน้าในการลงทุนทั้งในและต่างประเทศในช่วงไตรมาส 3 ประจำปี 2548 ของ ปตท.สผ.และบริษัทย่อยว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2548 ปตท.สผ. ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายสิทธิ (Farm-in/ Farm-out Agreement) ในแปลงเมรางินวัน (Merangin1) ซึ่งมีศักยภาพด้านน้ำมันดิบ อยู่ทางตอนใต้ของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ในสัดส่วนร้อยละ 39 กับบริษัท PT Medco E&P Merangin ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการและมีสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 61
ในประเทศเวียดนามซึ่งปตท.สผ. ได้เข้าร่วมลงทุนในโครงการสำรวจปิโตรเลียมในทะเลในโครงการเวียดนาม 16-1 ผลการเจาะหลุมสำรวจหลุมที่ 5 TGT-1X ของโครงการฯพบปิโตรเลียมในอัตราการไหลรวมสูงสุดที่วันละประมาณ 9,432 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ประกอบด้วย น้ำมันดิบวันละประมาณ 8,566 บาร์เรล (STB/D) และก๊าซธรรมชาติวันละประมาณ 4.86 ล้านลูกบาศก์ฟุต (MMSCF/D) ซึ่งจะได้พัฒนาให้ผลิตในเชิงพาณิชย์ต่อไป
ในประเทศกัมพูชา ปตท.สผ.ได้รับการอนุมัติให้เข้าร่วมในสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract) ในโครงการสำรวจปิโตรเลียม แปลงบี จากรัฐบาลกัมพูชา ซึ่งโครงการนี้ประกอบด้วยกลุ่มผู้ร่วมทุนคือ ปตท.สผ. ร้อยละ 30 และบริษัท Resourceful Petroleum Limited (บริษัท RPL) ร้อยละ 30 บริษัท SPC Cambodia Ltd. (บริษัท SPC) ร้อยละ 30 และ บริษัท CE Cambodia B Ltd. (บริษัท CEL) ร้อยละ 10 ปตท.สผ.
ในสหภาพพม่า ปตท.สผ. ได้ลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract) เพื่อเข้าเป็นผู้ดำเนินการและถือสัดส่วนทั้งหมดในแปลง M11 ในอ่าวเมาะตะมะ ซึ่ง ปตท.สผ. มีแผนจะทำการศึกษาทางธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ งานสำรวจคลื่นไหวสะเทือน และเจาะหลุมสำรวจ 1 หลุม การที่ได้รับสิทธิในแปลง M11 ครั้งนี้ นับเป็นโครงการที่ 5 ของ ปตท.สผ. ในประเทศนี้ต่อจากโครงการยาดานา โครงการเยตากุน โครงการ M7&M9 และโครงการ M3&M4 ซึ่งปิโตรเลียมจากโครงการเหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศไทยในระยะยาว
ในบาห์เรน ปตท.สผ. ร่วมศึกษาและประเมินศักยภาพปิโตรเลียมทางเทคนิคในแปลงสำรวจนอกชายฝั่งทะเลแปลงที่ 1 และแปลงที่ 2 (Block 1 & Block 2) กับบริษัท Bahrain Petroleum Company หรือ BAPCO ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของบาห์เรน ตามสัญญาความร่วมมือ (Technical Evaluation Agreement) ความร่วมมือครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ประเทศให้มากขึ้น โดยเฉพาะด้านพลังงาน หากการศึกษาประสบความสำเร็จ ปตท.สผ. จะดำเนินการเพื่อขอสัญญาสิทธิการสำรวจและการแบ่งปันผลประโยชน์ (Exploration Production Sharing Agreement) ในรายละเอียดกับ BAPCO และรัฐบาลบาห์เรนต่อไป
ในโอมาน ปตท.สผ.ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือระหว่าง ปตท.สผ.และกระทรวงพลังงานแห่งรัฐสุลต่านโอมานเพื่อหาแนวทาง และศึกษาความเป็นได้ในการดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมร่วมกันในประเทศที่สามที่มีศักยภาพและน่าสนใจ
สำหรับความคืบหน้าในโครงการอาทิตย์ในอ่าวไทย ขณะนี้ได้ดำเนินการติดตั้งแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติแท่นแรกหรือที่เรียกว่า เอดับบลิวพี หนึ่ง (AWP-1) ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของ ปตท.สผ. และเป็นบทพิสูจน์ความสามารถของวิศวกรของ ปตท.สผ. ที่ร่วมมือประสานงานกันหลายหน่วยงาน ได้แก่ ทีมวิศวกรรม ทีมก่อสร้าง ทีมติดตั้ง และที่สำคัญเป็นแท่นที่สร้างขึ้นในประเทศไทย ซึ่งแท่นผลิตเอดับบลิวพี หนึ่ง จะช่วยให้โครงการอาทิตย์ก้าวหน้าไปตามแผนและจะสามารถเริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติได้ในปี พ.ศ. 2550 ในอัตรา 330 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปตท.สผ.ยังให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐให้การสนับสนุนโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม อาทิ โครงการวิทยาลัยข้าวไทย โครงการรักษ์ทะเลสาบสงขลา โครงการปลูกป่าต้นน้ำ ปรับปรุงโป่งดิน การจัดทำหนังสือ มรดกทะเลไทย ซึ่งจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการภายในปีนี้
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม
กรุณาติดต่อ ฝ่ายกิจการสัมพันธ์
สิทธิไชย ไชยันต์/ พัลลภ ลิ่มสกุล / จักร ศรีนาคนันทน์
โทร. 02 537 4000--จบ--