กระทรวงวิทย์สรุปผลประชุมสมัชชาลดโลกร้อนนักวิชาการเสนอตั้งกองทุนคาร์บอนเครดิต

ข่าวทั่วไป Thursday September 18, 2008 14:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
กระทรวงวิทย์ฯ สรุปผลประชุมสมัชชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับภาวะโลกร้อน ผลักดันแนวคิดการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนฯ เพื่อรับมือภาวะโลกร้อน สานต่อเป็นนโยบายรัฐบาล เพื่อเพิ่มการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมดึงพันธมิตรร่วม ด้านนักวิชาการเสนอตั้งกองทุนคาร์บอนเครดิต
เมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดประชุมสมัชชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนา ครั้งที่ 7 ขึ้นที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี 3 หัวข้อหลักที่มีการระดมความคิดคือ เรื่อง “คาร์บอนเครดิตกับโอกาสของภาคเอกชนไทย”, เรื่อง “การใช้พลังงานในอาคารอย่างมีประสิทธิภาพ” และเรื่อง “การใช้พลังงานในภาคการขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ” โดยมีการสรุปความคิดเห็นเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาล และผลักดันเป็นนโยบายลดผลกระทบและบรรเทาภาวะโลกร้อนในอนาคต
ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงความคิดเห็นที่มีการนำเสนอต่อกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯในเรื่อง “คาร์บอนเครดิตกับโอกาสของภาคเอกชนไทย” ว่า ที่ประชุมเห็นว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะมาช่วยในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพของภาคอุตสาหกรรม
ทั้งนี้มีการเสนอให้สถาบันการเงินเข้ามาสนับสนุน และเสนอให้มีการตั้งกองทุนคาร์บอนเครดิตขึ้น รวมทั้งให้มีการลดภาษีมูลค่าเพิ่มกับภาคอุตสาหกรรมที่มีการลดก๊าซเรือนกระจก ส่วนเรื่องเทคโนโลยีได้มีการเสนอให้ศึกษาเรื่องเทคโนโลยีการปลูกป่า และการจัดการป่าชุมชนว่าจะสามารถนำมาคำนวณเป็นคาร์บอนเครดิตได้หรือไม่ ทั้งได้เห็นพร้องกันว่า ประเทศไทยควรจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองแทนที่จะนำเข้าจากต่างชาติ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ดร.พัฒนะ รักความสุข จากคณะพลังงาน สิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวสรุปในหัวข้อ “การใช้พลังงานในอาคารอย่างมีประสิทธิภาพ”ว่า สถานการณ์การใช้พลังงานในประเภทอาคารมากอยู่ในอันดับ 3 รองจากภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรม คิดเป็น 1.4 %ของ GDP โดยเฉพาะเรื่องการใช้แสงสว่าง ซึ่งใช้พลังงานมากในอาคารที่ออกแบบไม่ดี ทั้งนี้จะต้องมีการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการออกแบบอาคารประหยัดพลังงาน เลือกวัสดุที่เหมาะสม และสร้างความเข้าใจกับประชาชน
“โดยเฉพาะในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ ไม่ใช่การเชิญชวนให้ประหยัดพลังงาน แต่เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ เช่น เรื่องการปรับอุณหภูมิที่ 25 องศา สำหรับเครื่องปรับอากาศว่า เป็นอุณหภูมิที่พอเหมาะ ทั้งที่บางคนอาจจะพอเหมาะที่ 27 องศา อุณหภูมิที่สบายอยู่ตรงไหน จะต้องให้การศึกษาและสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชน” ดร.พัฒนะ กล่าว
ส่วนหัวข้อสุดท้ายคือ “การใช้พลังงานในภาคขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ”ผศ.ดร.จำนง สรพิพัฒน์ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวสรุปว่า มีการเสนอในเรื่อง car pool , การเปลี่ยนช่วงเวลาการเดินรถเพื่อไม่ให้ถนนแออัด และแนวทางการออกแบบตัวเมืองที่ไม่ให้มีการกระจุกตัวอยู่ตรงกลาง ทำให้การเดินรถไปพร้อมๆกันในทางเดียว จะต้องมีการสร้างศูนย์กลางหลายศูนย์
ผศ.ดร. จำนง กล่าวอีกว่า ได้มีการเสนอให้มีการพัฒนาระบบขนส่ง เพิ่มการใช้การขนส่งทางเรือให้มากขึ้น รวมถึงภาครัฐต้องมีนโยบายลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล โดยปรับเปลี่ยนเป็นระบบขนส่งมวลชนให้มากขึ้น ทั้งนี้ต้องมีการเปลี่ยนเชื้อเพลิงที่เป็นทางเลือกให้มากขึ้น เสนอให้มีการใช้จักรยานในการเดินทางระยะใกล้ๆ การควบคุมความเร็วของรถยนต์ และใช้เทคโนโลยีในการผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษต่ำ รวมถึงการใช้ ICT เข้ามาช่วยเพื่อลดการเดินทาง
ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวสรุปปิดท้ายว่า ในการรับมือกับภาวะโลกร้อนนั้นจะต้องมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม ซึ่งข้อมูลทั้งหมดที่มีการนำเสนอนี้ ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะนำไปประมวล และเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาล และประสานการดำเนินงานสร้างเครือข่ายการพัฒนา และร่วมมือกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นพันธมิตรในการดำเนินงานต่อไป
โสรยา พงษ์ประยูร โทร.081-697-9100

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ