Forest Certification กับการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์

ข่าวทั่วไป Thursday September 18, 2008 15:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยว่า ปัจจุบันทั่วโลกต่างให้ความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาพื้นที่ป่าไม้ที่ลดลง รวมทั้งมีการใช้ไม้และส่วนประกอบอื่นๆ จากไม้ ผลิตภัณฑ์และวัสดุที่มาจากป่าซึ่งได้มาจากการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งยังไม่มีการจัดการที่ถูกต้อง เพื่อให้มีไม้ในปริมาณที่พอใช้และสามารถส่งเสริมการอนุรักษ์ไปพร้อมกัน องค์กร Forest Stewardship Council (FSC) ได้กำหนดมาตรฐานระบบการให้การรับรองด้านการจัดการไม้ (Forest Certification) และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของไม้หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ได้จากป่า โดยให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม
การดำเนินการดังกล่าวจะมีการประทับเครื่องหมายหรือติดฉลาก FSC ที่ผลิตภัณฑ์หรือได้รับใบรับรอง FSC โดยไม้และผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ที่มีใบรับรองหรือโลโก้ FSC สามารถรับประกันได้ว่าเป็นไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่ใช้ไม้จากป่าธรรมชาติหรือแปลงปูลกป่าที่มีการจัด การป่าอย่างถูกต้องตามหลักการที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ไม่ใช่ได้มาจากการทำลายป่าธรรมชาติ ทั้งนี้ การรับรองป่าไม้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ การรับรองการจัดการป่าไม้ (Forest Management Certificate) ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่ดำเนินการในเรื่องป่าไม้ สวนป่า ทรัพยากรป่าไม้ ป่าธรรมชาติ และกลุ่มที่สองคือ Chain of Custody Certificate หรือ CoC ซึ่งเป็นการควบคุมการเคลื่อนย้ายไม้จากสวนป่าไปยังจุดสุดท้ายที่ไม้ไปอยู่จนถึงมือผู้ซื้อในตลาดไม้โลกว่าเกิดความยั่งยืนตลอดเส้นทาง เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่ใช้ผลิตภัณฑ์จากไม้ เช่น ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ โรงพิมพ์ อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ และอุตสาหกรรมเกี่ยวกับไม้ เป็นต้น ทั้งนี้ ก่อนขอการรับรองไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ต้องมีการตรวจสอบป่าและแปลงปลูกป่า วางแผนขั้นตอนการดำเนินงาน จัดทำบันทึกการผลิต กำหนดวิธีการสอบกลับ ฯลฯ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ป่าไม้ที่ได้รับการรับรองจาก FSC เพิ่มขึ้น ทั่วโลกต่างให้ความสนใจในการจัดการป่าไม้ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ FSC กำหนด รวมทั้งประเทศไทยที่มีป่าไม้ที่ได้รับการรับรองจาก FSC ด้วยเช่นกัน ตลอดจนประเทศต่าง ๆ ในสหภาพยุโรป เช่น อังกฤษ เยอรมัน สวีเดน เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวิสเซอร์แลนด์ และประเทศในทวีปอเมริกา เช่น สหรัฐฯ และแคนาดา ให้ความสำคัญกับ FSC เป็นอย่างมาก โดยจะสั่งซื้อเฉพาะสินค้าไม้ที่ได้รับการรับรองจาก FSC เท่านั้น
อนึ่ง ไทยส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ไปทั่วโลกมูลค่า (พ.ศ. 2548- พ.ศ. 2550) เฉลี่ยปีละ 39,000 ล้านบาท ในปี 2551 (มค.- กค.) ส่งออกมูลค่า 24,950 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ ผ่านมา ดังนั้น ก่อนส่งออกสินค้าไม้และผลิตภัณฑ์ไปต่างประเทศ ผู้ประกอบการจึงควรดำเนินการเกี่ยวกับ Forest Certification หรือติดฉลาก FSC ให้ถูกต้องก่อนส่งออกต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ