กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สั่งการให้ศูนย์ ปภ. เขต และสำนักงาน ปภ.จังหวัด จัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ รถยนต์ และเรือท้องแบน ตลอดจนกำชับเจ้าหน้าที่ มิสเตอร์เตือนภัย ทีมกู้ชีพกู้ภัยประจำตำบล เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อแจ้งเตือน และอพยพประชาชนได้ทันที หากเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติขึ้นในพื้นที่ พร้อมเตือนประชาชนที่อาศัย
ในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณที่ลาดเชิงเขาและที่ลุ่มริมแม่น้ำในพื้นที่ ๒๘ จังหวัด ให้ระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มในระยะ ๑ — ๒ วันนี้ (วันที่ ๑๘ - ๒๐ ก.ย. ๒๕๕๑) ขอให้ประชาชนติดตามข่าวพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด รวมทั้งการแจ้งเตือนภัยจากหน่วยงานต่างๆ
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ร่องความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่พาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ทำให้ทั่วทุกภาคของประเทศมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักบางแห่งในระยะ ๑ - ๒ วันนี้(วันที่ ๑๘ -๒๐ ก.ย. ๒๕๕๑) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
จึงขอเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยทั้งที่ลาดเชิงเขาและที่ราบลุ่มริมแม่น้ำในบริเวณ ๒๘ จังหวัดได้แก่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สุรินทร์ นครราชสีมา อุทัยธานี นครสรรค์ สระบุรี ลพบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด ระมัดระวังอันตรายจากสภาวะฝนตกหนัก ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มในระยะนี้ และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฝนตกหนัก ปภ. สั่งการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ประสานจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เตรียมความพร้อม จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด ๒๔ ชั่วโมง จัดเตรียมเครื่องจักรกล ยานพาหนะ เรือท้องแบน และอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ทันทีที่เกิดเหตุภัยพิบัติขึ้นในพื้นที่ รวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่ทั้งอาสาสมัครแจ้งเตือนภัยดินถล่ม (มิสเตอร์เตือนภัย) สมาชิกอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และทีมกู้ชีพกู้ภัย (OTOS) ติดตามเฝ้าระวัง ข้อมูลข่าวสารพยากรณ์อากาศ และการขึ้น-ลง ของน้ำในแม่น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด ๒๔ชั่วโมง หากเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติในพื้นที่ จะได้แจ้งเตือนประชาชนให้อพยพออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัยได้ทันท่วงที
นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า เพื่อความปลอดภัย ขอให้ประชาชนที่อาศัยในบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว ติดตามรับฟังข่าวการพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด จัดเตรียมอาหารแห้ง เครื่องเวชภัณฑ์ ตะเกียง ไฟฉาย และวิทยุ ไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน จัดเตรียมกระสอบทราย เพื่อจัดวางเป็นแนวกั้นน้ำ ขนย้ายทรัพย์สินและสิ่งของที่มีค่า และอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดไว้บนที่สูง เพื่อป้องกันการเกิดไฟฟ้ารั่ว ไฟฟ้าซ็อต รวมทั้งจัดเวรยามเฝ้าระวังปริมาณน้ำฝนสังเกตสิ่งบอกเหตุและสัญญาณการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่บ่งชี้ว่าจะเกิดภัยพิบัติ เช่น การส่งเสียงร้องของสัตว์ป่า เสียงดังโครมครามจากต้นน้ำ สีของน้ำในลำธาร เปลี่ยนเป็นสีเดียวกับสีดินของภูเขา ให้เตรียมการอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยหรือขึ้นที่สูงในทันที สุดท้ายนี้ หากประชาชนในพื้นที่ใดได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทั้ง ๗๕ จังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตทั้ง ๑๘ เขต กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรือ ทางสายด่วนสาธารณภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อประสานและให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
ผู้ส่ง : nest
เบอร์โทรศัพท์ : 02-2432200