โทรีเซน วางเป้าปีหน้าธุรกิจเดินเรือเติบโต ออกหุ้นกู้วงเงินหมื่นล้านคงฐานะการเงินแข็งแกร่ง

ข่าวทั่วไป Tuesday September 26, 2006 15:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์
โทรีเซนไทย มั่นใจปีหน้าธุรกิจกลุ่มเดินเรือสินค้าแห้งเทกองเป็นขาขึ้น ชี้กลุ่มตลาดสำคัญ ได้แก่ จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง ตะวันออกเฉียงใต้ ปลื้มธุรกิจพาณิชย์นาวีนอกชายฝั่งรุ่ง หลังลงทุนเพิ่มใน MML เป็น 74% เร่งออกหุ้นกู้วงเงินกว่าหมื่นล้านชำระหนี้ คงความแข็งแกร่งฐานะการเงิน
ม.ล.จันทรจุฑา จันทรทัต กรรมการผู้จัดการ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยแนวโน้มธุรกิจเดินเรือ (ขนส่งสินค้าแห้งเทกอง) ในปี 2550 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เหตุเพราะว่าความต้องการในกลุ่มตลาดสำคัญในแถบเอเชีย ได้แก่ จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง และกลุ่มประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังคงเติบโตต่อเนื่อง
จากการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ที่ยังคงแข็งแกร่ง ส่งผลให้ค่าระวางในตลาดซื้อขายค่าระวางล่วงหน้าปรับตัวสูงขึ้นตลอดทั้งปี ยืนยันได้จากดัชนี BSI แสดงมูลค่าอัตราค่าระวางล่วงหน้าในเดือนมกราคม 2549 อยู่ที่ 17,162 ดอลล่าร์สหรัฐอเมริกาต่อวัน เดือนกรกฎาคม อยู่ที่ 22,581 ดอลล่าร์สหรัฐอเมริกาต่อวัน และล่าสุดเดือนกันยายน อยู่ที่ 29,072 ดอลล่าร์สหรัฐอเมริกาต่อวัน ตามลำดับ ค่าระวางเรือสูงขึ้นเป็นไปตามภาวะอุปสงค์และอุปทาน เนื่องจากความต้องการเรือมีมากกว่าปริมาณเรือในตลาด
ประกอบกับรายงานของ Platou ประจำเดือนกรกฎาคม 2549 ประมาณการว่าอัตราการใช้ประโยชน์จากกองเรือที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูงถึงกว่า 90% ซึ่งใกล้เคียงกับขีดความสามารถสูงสุดของเรือ ซึ่งอัตราการเติบโตของจำนวนเรือใหม่ที่จะสร้างเสร็จในปีหน้าคาดว่ามีประมาณ 17 ล้าน เดทเวทตัน
เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายกระจายการลงทุนในธุรกิจให้มีความหลากหลาย แต่ยังคงอยู่ในธุรกิจพาณิชย์นาวี บริษัทฯ จึงได้เข้าลงทุนเพิ่ม ใน บริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด (MML) โดยผ่านบริษัท โทรีเซน ชาเตอร์ริ่ง (เอชเค) จำกัด (บริษัทย่อย) อีกจำนวน 4.16 ล้านหุ้น ในราคารวม 624.99 ล้านบาท (หกร้อยยี่สิบสี่ล้านเก้าแสนเก้าหมื่นเก้าพันเก้าร้อยบาทถ้วน) คิดเป็น 10.87% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ MML ทำให้กลุ่ม TTA ถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 74.01% จากเดิมที่ถืออยู่ 63.14% เนื่องจากธุรกิจงานบริการนอกชายฝั่ง-บริการขุดเจาะน้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติของ MML มีแนวโน้มการเติบโตในอนาคตที่ดี ซึ่งการลงทุนในครั้งนี้สอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัทฯ ในการที่จะเป็นผู้ให้บริการธุรกิจพาณิชย์นาวีแบบครบวงจร
สัดส่วนผู้ถือหุ้นของ บริษัทเมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด ก่อนและหลังการเข้าซื้อหุ้น โดยบริษัท โทรีเซน ชาเตอร์ริ่ง (เอชเค) จำกัด ประกอบด้วยกลุ่ม TTA ถืออยู่ 74.01% จากเดิม 63.14% กองทุนเพื่อการร่วมลงทุน 21.29 % บริษัท เอเชียน ไชน่า อินเวสเมนท์ ฟันด์ แอล.พี. เหลือ 0% จากเดิมเคยถืออยู่ 10.87% ยูไนเต็ด แอสเซ็ท กรุ๊ป ลิมิเต็ด 3.72% และอื่นๆ 0.98%
ในการนี้บริษัทฯมีความมั่นใจถึงทิศทางธุรกิจ โดยเฉพาะงานพาณิชย์นาวีนอกชายฝั่ง ที่นอกจากเป็นกิจการให้บริการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแล้ว ยังมีงานด้านอื่นด้วย เช่น งานวิศวกรรมโยธาใต้ทะเล รวมไปถึงงานติดตั้งโครงสร้างใต้ทะเล (Sub-sea Engineering Services) มีเรือ 5 ลำ ที่ใช้เพื่อสนับสนุนงานเทคนิคใต้น้ำ งานบริการอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย (Safety Equipment Services) และงานฝึกอบรมเทคนิคใต้น้ำ (Technical Training) สามารถสร้างรายได้ที่ดีด้วยเช่นกัน
จากที่บริษัทฯ เพิ่มสัดส่วนการลงทุนเมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2548 ส่งผลให้เห็นชัดเจนว่าสัดส่วนรายได้ในงวด 9 เดือนของปี 49 มีผลประกอบการจากธุรกิจเดินเรือ 9,991.74 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,479.50 ล้านบาท กลุ่มบริษัทเมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด MML (ธุรกิจพาณิชย์นาวีนอกชายฝั่ง) รายได้ 2,351.90 ล้านบาท กำไรสุทธิ 476.60 ล้านบาท ธุรกิจอื่นๆ รายได้ 457 .30 ล้านบาท กำไรสุทธิ 107.90 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าทั้งธุรกิจเดินเรือสินค้าแห้งเทกองและธุรกิจให้บริการนอกชายฝั่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติกำลังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โอกาสทางธุรกิจก็ยังมีอยู่มากทั้งสองตลาด
เพื่อยกศักยภาพงานขนส่งทางเรือ รองรับการขยายตัวของตลาดทั่วโลก เมื่อเร็วๆนี้บริษัทได้จัดประชุม Liner Meeting เป็นการพบปะกันระหว่างตัวแทนเรือของ โทรีเซน (Overseas Shipping Agents) เพื่อนำปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานด้านการขนส่งสินค้าทางทะเล (สินค้าแห้งเทกอง) ของกองเรือโทรีเซน มาวิเคราะห์และวางทิศทาง-กลยุทธ์สำหรับเป็นแผนงานในปี 2550 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานด้านการขนส่งสินค้า เป้าหมายเพื่อลดค่าใช้จ่าย ประหยัดเวลาในแต่ละท่าเรือ เพิ่มรายได้ค่าระวาง ซึ่งจะส่งผลให้เพิ่มจำนวนวันในการขนส่งสินค้าและสร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ มากยิ่งขึ้น
สำหรับนโยบายสร้างความมั่งคงทางการเงินของบริษัท คณะกรรมการมีมติให้บริษัทฯ ออกและเสนอขายหุ้นกู้ภายในวงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาท โดยออกเป็นสกุลเงินบาทหรือสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐอเมริกา หรือเงินสกุลต่างประเทศอื่นในจำนวนที่เทียบเท่า เพื่อนำไปชำระหนี้เงินกู้มีหลักประกันที่มีอยู่กับธนาคาร (To Refinance Existing Secured Bank Debt) และใช้เพื่อการลงทุนในอนาคต ทั้งนี้หุ้นกู้ดังกล่าวอาจมีหรือไม่มีหลักประกัน และอาจมีหรือไม่มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ก็ได้ โดยเสนอขายต่อประชาชนและ/หรือบุคคลในวงจำกัด โดยอาจเสนอขายครั้งเดียวเต็มจำนวนหรือเป็นคราวๆไป ทั้งนี้บริษัทฯ จะเสนอมติคณะกรรมการดังกล่าวเพื่อให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติต่อไป
“การออกหุ้นกู้ดังกล่าวจะเป็นการช่วยลดภาระทางการเงิน เนื่องจากดอกเบี้ยของหุ้นกู้ที่จะเสนอขายจะมีอัตราต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมที่บริษัทฯ ต้องชำระให้กับธนาคาร นอกจากนี้เงินที่ได้ จากการจำหน่ายหุ้นกู้จะนำไปเพื่อลงทุนในอนาคต” ม.ล.จันทรจุฑา กล่าว
ทั้งนี้บริษัทฯ จะจัดการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติการออกหุ้นกู้ในวันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม 2549 เวลา 15.00 น. ณ ห้องเดอะ อโนมา แกรนด์ โรงแรมอโนมา ถนนราชดำริ กรุงเทพฯ
ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ คุณบังอร โทร 02 6633226 ต่อ 68

แท็ก อินเดีย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ