หมอหญิงปางมะผ้า หมอชายวารินชำราบ คว้ารางวัลแพทย์ชนบทดีเด่น ปี 2551

ข่าวทั่วไป Friday September 19, 2008 11:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--
มูลนิธิแพทย์ชนบท ประกาศรายชื่อ “แพทย์ชนบทดีเด่นกองทุนนายแพทย์กนกศักดิ์ พูลเกษร ประจำปี 2551” ปรากฏ แพทย์หญิงวลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน และ นายแพทย์สุธี สุดดี แพทย์ประจำโรงพยาบาลวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับคัดเลือกให้เป็นแพทย์ชนบทดีเด่น ผลจากความมุ่งมั่นในการปฏิบัติงานอุทิศตัวเพื่อชุมชนอย่างทุ่มเทและต่อเนื่อง
ที่โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท ศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต กรุงเทพฯ ฯพณฯพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล “แพทย์ชนบทดีเด่น กองทุนนายแพทย์กนกศักดิ์ พูลเกษร ประจำปี 2551” ซึ่งเป็นกองทุนในมูลนิธิแพทย์ชนบทที่จัดตั้งขึ้นเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติแก่แพทย์ชนบทที่ปฏิบัติงานด้วยความอดทน ตั้งใจ และเสียสละ ในเขตเสี่ยงภัยและทุรกันดาร โดยปีนี้มีผู้ถูกเสนอชื่อทั้งหมด 20 คน และคณะอนุกรรมการสรรหาได้ลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน เพื่อพิจารณาผู้สมควรได้รับรางวัล
นายแพทย์ทวีเกียรติ บุญไพศาลเจริญ ประธานคณะอนุกรรมการสรรหาแพทย์ดีเด่น ประจำปี 2551 ของมูลนิธิแพทย์ชนบท กล่าวว่า แพทย์ชนบทคือผู้ที่ต้องปฏิบัติงานด้วยความเสียสละ และอดทนต่อความยากลำบาก ซึ่งแพทย์ผู้ที่ได้รับรางวัลในปีนี้ คือแพทย์หญิงวลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน และนายแพทย์สุธี สุดดี แพทย์ประจำโรงพยาบาลวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ล้วนต่างทำงานด้วยจิตใจที่มุ่งมั่นในการทำงาน มีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน ให้บริการผู้ป่วยดุจญาติมิตร จนเป็นที่ยอมรับและเป็นที่รักของประชาชนในท้องถิ่น ทั้งยังมีชีวิตที่เรียบง่ายพอเพียง อุทิศเวลาให้กับงานราชการอย่างเต็มที่ นับเป็นแบบอย่างที่ควรยึดถือ
“แพทย์หญิงวลัยรัตน์ ไชยฟู เป็นแพทย์ที่เสียสละตนเอง ทำงานเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง มีวิถีชีวิตที่เข้ากับชาวบ้าน โดยเข้าไปทำงานในชุมชนท้องถิ่นทุรกันดาร ซึ่งมีความยากลำบากในการเดินทางเพื่อให้บริการอย่างทั่วถึง โดยโรงพยาบาลปางมะผ้า เป็นโรงพยาบาลขนาด 10 เตียง แต่ได้พัฒนาโรงพยาบาลให้เป็นโรงพยาบาลของชุมชน ให้บริการทั้งชาวบ้านในท้องที่ ชาวเขาเผ่าต่างๆ ทั้งที่มีสัญชาติไทยและไร้สัญชาติอย่างเต็มความสามารถ
ส่วน นายแพทย์สุธี สุดดี เคยเป็นผู้บริหาร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวารินชำราบ แต่ต้องการทำงานกับชุมชนมากกว่า จึงมุ่งที่จะทำงานปฐมภูมิ (PCU) มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาสุขภาพของชุมชนและทำงานอย่างจริงจัง สร้างระบบและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรใน PCU ให้สามารถบริการผู้ป่วยปฐมภูมิได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นต้นแบบของการบริการปฐมภูมิที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์” นายแพทย์ทวีเกียรติ กล่าว
สำหรับแพทย์ผู้ได้รับรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่น ประจำปี 2551 แพทย์หญิงวลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้รับรางวัลว่า “ปางมะผ้ามีข้อจำกัดของพื้นที่ทั้งสภาพทางภูมิศาสตร์ ระบบการคมนาคม รวมถึงงบประมาณ และบุคลากร ซึ่งทุกคนก็ทำงานเชิงรุกกันอย่างเต็มที่ ออกพื้นที่ทุกหมู่บ้าน โดยให้บริการงานทั้งการรักษาพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค การที่ได้รับรางวัลนี้รู้สึกดีใจและภูมิใจ เหมือนว่ายังมีผู้ที่เห็นคุณค่าของคนที่ทำงานอยู่ห่างไกล เพราะรางวัลที่ได้ไม่ใช่เป็นของหมอคนเดียว แต่ยังรวมถึงทีมทุกคนที่ได้ตั้งใจทำงานกันอย่างทุ่มเทค่ะ”
ด้าน นายแพทย์สุธี สุดดี แพทย์ประจำโรงพยาบาลวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี นับเป็นคุณหมอต้นแบบการให้บริการแบบปฐมภูมิหรือหมอประจำครอบครัว “รางวัลที่ได้รับก็เป็นเหมือนกำลังใจ เพราะงานที่ทำอยู่คนอื่นเขาไม่ค่อยทำ แต่ผมรู้สึกว่าสนุกกับสิ่งที่ได้ทำ ได้ส่งเสริมให้ประชาชนมีที่พึ่งโดยไม่ต้องไปพึ่งโรงพยาบาลทั้งหมด โดยรักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้านหรือดูและตัวเองได้เบื้องต้น ซึ่งถ้าประเทศไทยมีลักษณะนี้เพิ่มขึ้นก็จะทำให้ระบบบริการสาธารณสุขมีประสิทธิภาพและคุณภาพมากขึ้นครับ”
เกี่ยวกับกองทุนนายแพทย์กนกศักดิ์ พูลเกษร
กองทุนนายแพทย์กนกศักดิ์ พูลเกษร เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นในมูลนิธิแพทย์ชนบท เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้รำลึกถึงคุณงามความดี ความกล้าหาญ เสียสละและอดทนของนายแพทย์กนกศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ซึ่งถูกลอบยิงโดยอาวุธสงครามเสียชีวิต เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2527 ในระหว่างเดินทางกลับจากการไปปฏิบัติหน้าที่โรงพยาบาลอรัญประเทศ กองทุนนี้ได้ดำเนินการสรรหาแพทย์ที่ปฏิบัติงานในชนบทที่เสียงภัยและทุรกันดารเป็นประจำทุกปี
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
ผู้ส่ง : คุณณัฐกานต์
เบอร์โทรศัพท์ : 085-812-9393

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ