กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2551 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีบุชได้ลงนามในกฎหมายด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของสหรัฐฯ ในการตรวจสอบสินค้าเครื่องใช้เด็กที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยมีรายละเอียดของกฎระเบียบ สรุปได้ดังนี้
1. ปริมาณสารตะกั่ว : จำกัดปริมาณตะกั่วต้องลดลงเหลือ 600 part par million (ppm.) ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 และต้องลดลงเหลือ 100 ppm. ภายในเดือนสิงหาคม 2552 นอกจากนี้ ในส่วนของสีที่ใช้ต้องลดปริมาณตะกั่วลงเหลือ 90 ppm. ภายในเดือนสิงหาคม 2552 เช่นกัน และต้องมีการประมวลกฎระเบียบใหม่ทุก ๆ 5 ปี เนื่องจากความก้าวหน้าในเทคโนโลยีการผลิต
2. ปริมาณสาร Phthalates : จำกัดปริมาณสาร di-(2-ethylhexyl) phthalate (DEHP), dibutyl phthalate (DBP) และ benzyl butyl phthalate (BBP) ต้องลดลงเหลือไม่เกินกว่า ร้อยละ 0.1 ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 นอกจากนี้ ยังจำกัดปริมาณสาร diisononyl phthalate (DINP), diisodecyl phthalate (DIDP) และ di-n-octyl phthalate (DnOP) ต้องลดลงเหลือไม่เกินกว่า ร้อยละ 0.1 ในสินค้าของเด็กเล่นที่เด็กสามารถเอามาใส่ในปากได้อีกด้วย
3. การติดฉลาก : ต้องติดฉลากบอกรายละเอียดของที่อยู่ของผู้ผลิต วันที่ทำการผลิต ชื่อรุ่นสินค้า batch number และ run number เพื่อบ่งบอกคุณลักษณะเฉพาะของสินค้า
4. การลงทะเบียนสินค้าเด็กอ่อน (Infant product registration) : ผู้ผลิตต้องแนบไปรษณียบัตรที่สั่งจ่ายแล้วมาพร้อมในกล่องสินค้า เพื่อให้ผู้ซื้อสามารถลงทะเบียนชื่อ ที่อยู่และเบอร์ติดต่อกลับ ให้กับผู้ผลิตได้ทราบ ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบายการปรับปรุงระบบการเรียกของคืนกลับในกรณีพบข้อบกพร่องของสินค้า ซึ่งระเบียบนี้จะเริ่มใช้ในเดือนสิงหาคม 2522
5. สินค้าเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี : ผู้ผลิตสินค้าที่ใช้กับเด็กอายุตั้งแต่แรกเกิด ถึง 12 ปี ต้องส่งตัวอย่างสินค้าให้กับ Consumer Preduct Safety Commission Office (CPSC) โดยต้องยื่นใบรับรองส่วนประกอบและวัสดุที่ใช้ผลิตสินค้ามาพร้อมด้วย
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า สหรัฐฯ มีการประกาศใช้มาตรการที่มิใช่ภาษีในเรื่องการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคในสินค้าชนิดต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักมาจากการเรียกร้องของผู้บริโภคเนื่องจากสินค้านำเข้าไม่ได้คุณภาพ ทำให้เกิดอันตราย ดังเช่นกรณีที่สหรัฐฯ เรียกคืนสินค้าของเด็กเล่นที่นำเข้าจากจีน ดังนั้น ผู้ผลิตสินค้าไทย ต้องยกระดับและพัฒนาการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยทัดเทียมเกณฑ์ที่สหรัฐฯ กำหนด เพื่อให้สามารถส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายในสหรัฐฯ ได้ และเพื่อรักษาภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้าไทย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีปัญหาเรื่องมาตรฐานต่ำดังเช่นสินค้าจากจีน