ICT ส่งดาวเทียม SMMS เฝ้าระวังภัยพิบัติธรรมชาติในภูมิภาคเอเซีย

ข่าวเทคโนโลยี Monday September 22, 2008 10:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ก.ย.--ก.ไอซีที
นายสือ ล้ออุทัย ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เปิดเผยว่า เนื่องด้วยสภาพแปรปรวนของสภาพธรรมชาติและภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆจนยากที่จะคาดเดา ทำให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้ทราบและเท่าทันสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของสภาพธรรมชาติและภูมิอากาศ เพื่อเฝ้าระวัง เตรียมการป้องกัน เพื่อบรรเทาความเสียหายอันอาจเกิดจากภัยธรรมชาติให้น้อยลง
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จึงเดินหน้าโครงการร่วมสร้างดาวเทียมเอนกประสงค์ขนาดเล็ก(Small Multi — Mission Satellite :SMMS)หรือ SMMS หลังจากประเทศไทยได้เข้าร่วมพิธีส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร ณ ฐานปล่อยจรวดเมือง ไทหยวน สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา กระทรวง ICT จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือเพื่อนำข้อมูลจากดาวเทียม SMMS มาใช้ประโยชน์โดยเฉพาะในเรื่องการเฝ้าระวังภัยพิบัติทางธรรมชาติและติดตามสถาพความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่เสี่ยงภัย
ดาวเทียม SMMS เป็นอีกผลงานการวิจัยของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เกิดจากความร่วมมือพหุภาคีด้านเทคโนโลยีอวกาศและการประยุกต์ใช้ประโยชน์ในภูมิภาคและเอเชียแปซิฟิก (Asia—Pacific Multilateral Cooperation in Space Technology and Application :AP-MCSTA) นับเป็นการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศระดับภูมิภาคเอเซีย ที่ประเทศไทยได้มีโอกาสร่วมมือกับจีนและประเทศพาหุภาคีรวม 6 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีใต้ จีน มองโกเลีย ปากีสถาน บังคลาเทศและอิหร่าน ซึ่งประเทศไทยสามารถร่วมใช้ข้อมูลจากทางประเทศจีน ด้วยคุณลักษณะพิเศษที่มีการออกแบบจัดสร้างอุปกรณ์ติดตั้งในดาวเทียม SMMS ได้แก่ กล้องถ่ายภาพสีแบบ CCD Multi-spectrum และกล้องถ่ายภาพแบบ Hyper-spectrum ที่สามารถถ่ายได้ 128 แถบความถี่ และอุปกรณ์สื่อสาร ระบบ Ka-Band ทำให้เก็บภาพพื้นที่ต่างๆตามแนวรัศมีโคจรรอบโลกได้ละเอียดจนสามารถนำภาพถ่ายมาประเมินสภาพพื้นที่ได้อย่างแม่นยำ โดยนำข้อมูลดังกล่าวถ่ายทอดมายังสถานีภาคพื้นดิน ณ อาคารวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตร หลังจากนั้นทางกระทรวง ICT จะเป็นศูนย์กลางส่งต่อข้อมูลเพื่อเป็นอีกส่วนหนึ่งในการประเมินผลสภาพภูมิอากาศและทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงเหตุปัจจัยต่างๆทางธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ดังนั้นประเทศไทยจะนำข้อมูล รายละเอียดจากภาพถ่ายดาวเทียมSMMS มาประยุกต์ใช้งานเพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ อย่างครบวงจรยิ่งขึ้น ใน 6 เรื่องหลักได้แก่
1. การบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่ง / การเฝ้าระวังภัยพิบัติ สามารถนำภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้สังเกตการณ์และจัดการพื้นที่บริเวณชายฝั่ง ความหนาแน่นการจราจรชายฝั่ง การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์วิทยา และการเฝ้าระวังภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น ภัยน้ำท่วม ดินถล่ม ซึ่งสามารถเฝ้าดูปริมาณน้ำสะสมในแต่ละลุ่มน้ำ รวมทั้งใช้ประกอบการวิเคราะห์ผลกระทบก่อนและหลังการเกิดภัยพิบัติ
2. การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพของดิน การประเมินความรุนแรงของการกัดเซาะผิวดิน การจำแนกประเภทของป่าไม้ และการวิเคราะห์ความหนาแน่นของป่าไม้ เป็นต้น
3. การเกษตรกรรม เพื่อใช้ในการวางแผนและบริหารจัดการพื้นที่และผลิตผลทางการเกษตร สามารถประเมินผลผลิตที่คาดว่าจะได้และสนับสนุนการตัดสินใจในด้านเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่อย่างเหมาะสม
4. การชลประทาน เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ประเมินแหล่งน้ำต่างๆ ได้แก่ แม่น้ำ เขื่อน อ่างเก็บน้ำ เพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำในฤดูน้ำหลาก /บรรเทาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง สามารถรองรับปริมาณความต้องการใช้น้ำในแต่ละช่วงเวลา นอกจากนี้ ยังใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางแผนด้านการชลประทานและการแจกจ่ายน้ำ การเปลี่ยนแปลงเส้นทางน้ำ รวมทั้งคุณภาพของน้ำ
5. การประมง เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการสำรวจพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะกับการทำประมง และ/หรือ แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ
6. การสำรวจและการจัดทำแผนที่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ วางผังเมือง จัดทำ แผนที่ และติดตามการขยายตัวของเมือง/แหล่งชุมชน ให้มีความเหมาะสม
โดยการนำข้อมูลจากดาวเทียม SMMS นั้น ทางกระทรวง ICT พร้อมเป็นตัวกลางเชื่อมให้เกิดการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์สูงสุดครบวงจรระหว่างหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการดูแลงานด้านภัยพิบัติธรรมชาติจากกระทรวงอื่นๆ และหน่วยงานในสังกัด เช่นกรมประมง กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมอุตินิยม
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
บังอร แก้วบวร มือถือ 081 9047907

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ