กรุงเทพฯ--22 ก.ย.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณที่ลาดเชิงเขาและที่ลุ่มริมแม่น้ำในพื้นที่ ๖ จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ ติดตามข่าวพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดในระยะ๑ — ๒ วันนี้ (วันที่ ๒๒ - ๒๔ ก.ย. ๒๕๕๑) พร้อมกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเจ้าหน้าที่มิสเตอร์เตือนภัย เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อแจ้งเตือนและอพยพประชาชนได้ทันที หากเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติขึ้นในพื้นที่
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้ ทำให้ทั่วทุกภาคของประเทศมีฝนตกกระจายและตกหนักบางแห่งในระยะ ๑ — ๒ วันนี้ (วันที่ ๒๒ - ๒๔ ก.ย. ๒๕๕๑) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงขอเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยทั้งที่ลาดเชิงเขาและที่ราบลุ่มริมแม่น้ำในบริเวณ ๖ จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ ติดตามข้อมูลพยากรณ์อากาศ และประกาศแจ้งเตือนภัยจากหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด ระมัดระวังอันตรายจากสภาวะฝนตกหนัก ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มขึ้นซ้ำอีกในระยะ ๑ -๒ วันนี้ และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฝนตกหนัก ปภ.ได้สั่งการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย แจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมอพยพหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน และให้ประสานจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เตรียมความพร้อมด้วยการจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด ๒๔ ชั่วโมง จัดเตรียมเครื่องจักรกล ยานพาหนะ เรือท้องแบน และอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ทันทีที่เกิดเหตุภัยพิบัติขึ้นในพื้นที่ รวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่ทั้งอาสาสมัครแจ้งเตือนภัยดินถล่ม (มิสเตอร์เตือนภัย) สมาชิกอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และทีมกู้ชีพกู้ภัย (OTOS) เฝ้าระวัง สถานการณ์ และติดตามข้อมูลข่าวสารพยากรณ์อากาศ และการขึ้น-ลง ของน้ำในแม่น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด ๒๔ ชั่วโมง หากเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติในพื้นที่ จะได้แจ้งเตือนประชาชนให้อพยพออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัยได้ทันท่วงที สุดท้ายนี้ หากประชาชนในพื้นที่ใดได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทั้ง ๗๕ จังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตทั้ง ๑๘ เขต กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรือ ทางสายด่วนสาธารณภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อประสานและให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป