กรุงเทพฯ--22 ก.ย.--
ปัญหาเด็กติดเกมได้กลายเป็นวาระประเทศไปแล้ว เพราะผลจากปัญหาได้ก่อให้เกิดปัญหาสังคมมากมาย อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาเด็กติดเกมให้ตรงจุดนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง แต่ในขณะนี้มีพ่อแม่จำนวนมากที่คิดว่าการแก้ไขปัญหาเด็กติดเกม ก็คือการห้ามลูกเล่นเกมซึ่งแทนที่จะได้รับความร่วมมือ กลับพบว่าลูกต่อต้าน ไม่ได้ผล เพราะเมื่อเล่นในบ้านไม่ได้ ก็ต้องแอบออกไปเล่นนอกบ้าน และเล่นต่อหน้าแม่ไม่ได้ ก็แอบเล่นเวลาแม่ไม่อยู่ จากที่ไม่เคยพูดโกหกก็เริ่มนำมาใช้ นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า การแก้ไขด้วยการห้ามนั้น ไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสม
พญ.พัชรี พรรณพานิช จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ อธิบายระดับการเล่นเกมของเด็กที่พ่อแม่ควรสังเกตและควรทำความเข้าใจว่า การเล่นเกมของลูกนั้นอยู่ในระดับไหน เพื่อจะได้หาทางแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม เพราะว่าแทนที่จะใช้มาตรการที่รุนแรงด้วยวิธีการสั่งห้าม ซึ่งมักไม่ได้ผล สำหรับระดับของการเล่นเกมนั้น อาจแบ่งได้ 3 แบบคือ
1. เด็กเริ่มชอบเกม หมายถึง เด็กมักจะชอบเล่นตามเพื่อนและชอบทำอะไรเหมือนๆกัน อยากรู้ อยากเห็น เล่นเพื่อความสนุกสนาน ไม่มีผลกระทบต่อการเรียน และการดำรงชีวิตตามปกติ ถ้าไม่ได้เล่นเกมก็ไม่เป็นไร
2. เด็กหลงใหลหรือคลั่งไคล้เกม หมายถึง เด็กเล่นเกมแล้วสนุกเพลิดเพลิน มีความภูมิใจที่ชนะหรือผ่านด่านที่สูงขึ้นในเกมส์ได้ เด็กต้องการมีเพื่อนที่เล่นด้วยกัน พูดคุยกันในเรื่องเดียวกันได้ เด็กพยายามจัดเวลาเล่นในชีวิตประจำวัน คือเล่นยามว่าง เล่นเป็นงานอดิเรก แต่การเรียนและชีวิตประจำวันยังปกติดี
3. เด็กติดเกมเกม หมายถึง เด็กมีกิจกรรมเล่นเกมอย่างเดียว โดยไม่สนใจอย่างอื่น หมกมุ่นอยู่กับการเล่นเกมทั้งวัน ไม่ทำการบ้าน ไม่ทำงานส่งครู ไม่ไปโรงเรียน ไม่สนใจงานบ้าน มีผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ ได้แก่ ทานข้าวไม่เป็นเวลา นอนดึกหรือไม่นอนเลย ครุ่นคิดแต่เรื่องเกมมองเห็นภาพการเล่นหรือตัวละครของเกมในสมองตนเอง อาจเล่นพนันในเกม หรือแสดงออกในทางก้าวร้าวกับพ่อแม่หรือน้องเป็นต้น
พญ.พัชรี กล่าวว่า ในปัจจุบันยังมีพ่อแม่บางส่วนที่สับสนและเข้าใจผิดว่าการที่ลูกไมได้เล่นเกมนั้นเป็นการปิดกั้นความคิดและจินตนาการของลูก ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การที่เด็กไม่ได้เล่นเกมไม่ถือเป็นการปิดกั้นจินตนาการของเด็กแต่อย่างใด แต่ในทางกลับกันการเล่นเกมนั้นเป็นการรบกวนจินตนาการของเด็กด้วยซ้ำไป เพราะเกมมักมีโครงสร้างที่ชัดเจนอยู่แล้ว ว่าควรเล่น เดิน หรือทำอย่างไร และเกมมักไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้จินตนาการมักนัก แต่อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาที่ได้ผลจริงนั้นไม่ควรใช้การห้ามสำหรับเด็กแต่เพียงอย่างเดียว
“การแก้ปัญหาไม่ควรใช้วิธีการห้าม ควรที่จะพูดคุยโดยฟังความคิดเห็นของเด็ก และร่วมให้เด็กช่วยกันแก้ไขปัญหา ผู้ใหญ่ต้องมั่นใจว่าตนเองมีเหตุผลเพียงพอที่โน้มน้าวเพื่อให้เด็กสามารถลดเวลาการเล่นเกม แต่ขณะเดียวกัน ผู้ใหญ่ก็ต้องช่วยหาทางออกหรือกิจกรรมอื่นที่สร้างสรรค์มาทดแทน” จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กล่าว และให้เทคนิควิธีการแก้ปัญหาเพิ่มเติมว่า สำหรับการเล่นเกมของเด็กในระยะที่ 1-2 นี้เป็นช่วงที่เด็กเริ่มชอบและหลงใหลเกมแล้ว ผู้ใหญ่ควรเข้าไปมีส่วนร่วมกับเด็กในขณะที่เล่นเกม พิจารณาเกมที่มีประโยชน์และสร้างสรรค์สำหรับเด็ก และป้องกันไม่ให้มีเกมที่รุนแรง กำหนดเวลาให้เด็กได้เล่นในเวลาที่เหมาะสม หากวันธรรมดาไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมง ส่วนวันเสาร์อาทิตย์ไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมง เพราะว่าในระยะนี้ยังเป็นระดับที่พ่อแม่สามารถทำความเข้าใจ และควรชี้แนะให้เขาเล่นอย่างเหมาะสมได้ ซึ่งพ่อแม่สามารถพูดคุยและใช้วิธีดังต่อไปนี้ในการแก้ไขปัญหา
? สร้างข้อตกลงในการเล่น เช่นวันหนึ่งเล่นได้เพียง 2 ชั่วโมง
? เสริมสร้างวินัยในตนเองของเด็ก เช่น ฝึกให้เด็กเล่นจนครบเวลาตามที่กำหนดไว้ และให้ลูกได้ปิดคอมพิวเตอร์ด้วยตนเอง
? หากิจกรรมเสริมที่น่าสนใจและสนุกสำหรับเด็ก เช่น เล่นบิงโก ทำงานศิลปะ และเกมส์ภาษาอังกฤษ
? หาปัญหาที่อาจซ่อนอยู่ เช่นสมาธิสั้น ซึมเศร้า วิตกกังวล ดื้อ ก้าวร้าว เป็นต้น
อย่างไรก็ตามข้อสังเกตที่สามารถทราบได้ว่าลูกติดเกมส์หรือไม่นั้นดูได้จากลักษณะการเล่น หากเล่นแบบไม่หลับไม่นอน ไม่เรียนก็น่าจะแสดงว่ามีปัญหาที่รุนแรง ซึ่งควรพบจิตแพทย์ เพราะจะมีการพูดคุยให้เด็กเห็นปัญหาและสร้างแรงจูงใจให้เด็กได้เกิดการปรับเปลี่ยนโดยใช้คำพูดเชิงบวกและสร้างสรรค์
สำหรับพ่อแม่ที่สนใจเทคนิคการช่วยลูกออกจากเกมส์อย่างสร้างสรรค์ สามารถไปร่วมรับฟังการบรรยายหัวข้อ โดย นพ.จอม ชุมช่วย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ ที่ห้องประชุมชั้น 2 โรงพยาบาลมนารมย์ สุขุมวิท 70/3 พร้อมพาบุตรหลานร่วมกิจกรรมสาธิตที่ ทุกครอบครัวสร้างนำไปใช้ในการทำกิจกรรมร่วมกับลูกๆ ได้ โดยที่เด็กๆ จะรู้ยังคงรู้สึกสนุก มีคุณค่า มีความสุข เหมือนกับเล่นเกมส์ ติดต่อร่วมกิจกรรมฌโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่ 027259595 หรือ www.manarom.com
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ
คุณ พิมพร ศิริวรรณ โทร 081 928 2808
คุณ จีรศักดิ์ หลักเมือง โทร 083 136 8267