กรุงเทพฯ--22 ก.ย.--ชุมชน อพท.
“บ้านเขาเพ-ลา” เจียรนัยของดีทางธรรมชาติ ยกระดับแหล่งท่องเที่ยวล้ำค่าเชิงอนุรักษ์ “อพท.” จับมือ “อบต. สมอทอง” ร่วมหนุน! พร้อมลงนาม MOU ตั้งเป้าพัฒนาสู่แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน
จากศักยภาพของพื้นที่ บวกความมุ่งมั่นของชุมชน อพท. จับมือ อบต.สมอทอง รุดร่วมหนุนพร้อมลงนามความร่วมมือพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มุ่งเป้าเจียรนัยของดีทางธรรมชาติบ้านเขาเพ-ลา ยกระดับสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน บนแนวทางบูรณาการทรัพยากรคน เงิน และอำนาจหน้าที่ร่วมกัน
สำหรับนักท่องเที่ยวที่ใช้เส้นทางถนนเพชรเกษมทั้งขาขึ้นและขาลง หากแวะเวียนเดินทาง ผ่านลึกเข้าไปจากถนนสายเอเชียเพียง 20 กม. ท่านจะได้พบกับ “เทือกเขาเพ-ลา” เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีบรรยากาศแตกต่างไปจากสภาพภายนอกที่เป็นตึกร้านอาคารใหญ่และถนนที่เรียงรายอยู่โดยรอบอย่างสิ้นเชิง หลังประตูเขาที่ปิดชั้นกั้นไว้ด้วยต้นไม้สูงเสมือนเป็นบ้านของสัตว์ป่าที่นั่น มีสัตว์อยู่มากมายหลากหลายชนิด เช่น เลียงผา หมูป่า ไก่ ลิง หรือนก ฯลฯ รวมทั้งมีเส้นทางเดินป่าที่ยังบริสุทธิ์ปราศจากสิ่งอำนวยความสะดวกใดที่คนเมืองเคยคุ้นชิน
จากการสำรวจพื้นที่ของชุมชน และ อบต. สมอทอง พบว่า เทือกเขาเพ-ลา อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่ศักยภาพด้านการท่องเที่ยวชั้นดี สามารถจัดเป็นเส้นทางเดินป่าที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ หรือหากจะจัดเป็นที่พักแรมแบบโฮมสเตย์ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ดูนก ดูสัตว์ เที่ยวถ้ำ ได้ดีไม่แพ้แหล่งท่องเที่ยวชั้นนำอื่นเลย ซึ่ง อ.ท่าชนะ อยู่ติดอ่าวไทย เชื่อมโยงกับเกาะสมุยและเกาะพงัน โดยเทือกเขาเพ-ลาอยู่ห่างจากถนนสายเอเชียเพียง 20 กม. ตรงบริเวณสี่แยกท่าชนะ(หนองนิล) การคมนาคมโดยทางรถยนต์สามารถเข้าถึง สภาพของเทือกเขาเพ-ลาเป็นเขาเกือกม้า ขนาดประมาณ 1,000 ไร่ ด้านในหุบเขาขนาด 50 ไร่เป็นที่พักสงฆ์ ยังคงเป็นแหล่งทรัพยากรที่คงความอุดมสมบูรณ์ ทั้งต้นไม้พืชสมุนไพร ถ้ำ สัตว์ป่า สถานที่ทางประวัติศาสตร์ จุดชมวิวและสามารถพักแรมได้
ในด้านมิติของคน ชุมชนเขาเพ-ลา มีการรวมกลุ่มร่วมทำงานกันในหลายลักษณะ ทั้งเป็นจุดเรียนรู้เรื่องแผนชุมชน สวัสดิการชุมชน และกำลังมีแนวทางพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ประเพณี วิถีวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงเกษตรและการท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ รวมทั้งเป็นตำบลเข้มแข็งที่มีการจัดทำแผนชุมชนและเป็น 1 ใน 3 ของพื้นที่วิจัยของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เรื่องการดูแลผู้ด้อยโอกาสด้วย
จากศักยภาพของพื้นที่ และความมุ่งมั่นของชุมชนที่จะพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ภายใต้แนวคิดเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืน แต่ด้วยขาดกำลังทรัพย์และองค์ความรู้ที่จำเป็น องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. จึงเข้าไปสนับสนุนงบประมาณบางส่วนเพื่อเป็นกลไกให้การพัฒนาของชุมชนบ้านเขาเพ-ลาเดินต่อไปได้ โดยจับมือลงนามความร่วมมือพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านเขาเพ-ลา ร่วมกับ อบต. สมอทอง อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี ในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในแบบบูรณาการทรัพยากรบุคคล งบประมาณ และอำนาจหน้าที่ร่วมกัน
โดยกิจกรรมการพัฒนาเริ่มจากเงินและงานเล็กๆ ที่หวังและตั้งเป้าจะเชื่อมโยงไปสู่งานใหญ่ต่อไป เช่น กิจกรรมการจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวบ้านเขาเพ-ลา , ป้ายบอกทาง , จัดสร้างบันไดชมถ้ำต่างๆ , ติดตั้งระบบไฟฟ้าส่องสว่างภายในถ้ำ , จัดหาอุปกรณ์นำเที่ยวและนำทาง และจัดทำป้ายคณะกรรมการต่างๆ ที่จำเป็น
ซึ่งหากจะพิจารณาให้ลึกลงไปในกระบวนการทำงานที่เกิดขึ้นก่อนหน้าและตลอดช่วงของการพัฒนา ภายใต้หลักการมีส่วนร่วมที่ อพท. ยึดโยงมาโดยตลอดนั้นจะพบว่า อพท. ให้ความสำคัญทั้งในระดับโครงสร้างโดยตั้งเป็นคณะทำงานโครงการสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนระดับประเทศ เพื่อทำงานร่วมกับภาคีต่างๆ การจัดหารือหรือเวทีทางการเพื่อการพูดคุยในประเด็นต่างๆ ทั้งการสร้างความรู้ความเข้าใจกับชุมชนและผู้เกี่ยวข้อง การพัฒนาบุคลากรและกิจกรรมท่องเที่ยว การสร้างเครือข่ายภาคีในพื้นที่ การกำหนดกรอบงบประมาณตลอดจนโครงการที่เหมาะสมตรงตามต้องการของชุมชน จนพัฒนาออกมาเป็นโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านเขาเพ-ลาอย่างที่เห็นในมือขณะนี้ ที่ถือได้ว่าเป็นการเจียรนัยของดีทางธรรมชาติ พัฒนาสู่ทรัพยากรล้ำค่า ที่เรียกว่า “แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์” — “แหล่งท่องเที่ยวในแบบยั่งยืน