ผลการบริหารจัดการหนี้สาธารณะภาครัฐ ประจำเดือนสิงหาคม 2551 และรายงานหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2551

ข่าวทั่วไป Tuesday September 23, 2008 13:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ผลการบริหารจัดการหนี้สาธารณะภาครัฐ ประจำเดือนสิงหาคม 2551และรายงานหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2551 นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ขอสรุปผลการดำเนินการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐประจำเดือนสิงหาคม 2551 พร้อมทั้งรายงานสถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2551 ดังนี้
ผลการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ
1. การปรับโครงสร้างหนี้ภาครัฐ
1.1 เดือนสิงหาคม 2551
หนี้ในประเทศ
กระทรวงการคลังได้ดำเนินการปรับโครงสร้างพันธบัตรรัฐบาลที่ออกเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่ครบกำหนดในวันที่ 5 สิงหาคม 2551 จำนวน 22,000 ล้านบาท โดยการออกพันธบัตรรัฐบาล จำนวน 2 รุ่น ในเดือนสิงหาคมและเดือนกันยายน 2551 ซึ่งในเดือนสิงหาคมได้ดำเนินการออกพันธบัตรรัฐบาลแล้ว จำนวน 12,000 ล้านบาท
รัฐวิสาหกิจได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 10,600 ล้านบาท โดยทำการ Roll Over วงเงิน 2,600 ล้านบาท และ Refinance วงเงิน 8,000 ล้านบาท โดยการเคหะแห่งชาติและธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้ทำการ Roll Over หนี้เดิม วงเงิน 600 ล้านบาท และ 2,000 ล้านบาท ตามลำดับ และการประปานครหลวง การรถไฟแห่งประเทศไทย และการเคหะแห่งชาติ ได้ทำการ Refinance หนี้เดิม วงเงิน 800 ล้านบาท 3,000 ล้านบาท และ 4,200 ล้านบาท
หนี้ต่างประเทศ
อนึ่ง กระทรวงการคลังได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศ เพื่อบริหารความเสี่ยงหนี้เงินกู้ Samurai Bond รุ่นที่ 22 วงเงิน 25,000 ล้านเยน โดยทำการแปลงหนี้เฉพาะในส่วนของดอกเบี้ย (Coupon Only Swap) จากหนี้สกุลเงินเยนอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 1.07 ต่อปี เป็นหนี้สกุลเงินบาทอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 1.129 ต่อปี
1.2 ช่วง 11 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2551
หนี้ในประเทศ
กระทรวงการคลังได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้
ในประเทศวงเงินรวม 97,657 ล้านบาท โดยเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน วงเงิน 15,000 ล้านบาท ตั๋วเงินคลัง วงเงิน 21,000 ล้านบาท และพันธบัตรรัฐบาล วงเงิน 61,657 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจได้ทำการ Roll Over และ Refinance หนี้เดิมรวม 90,896 ล้านบาท
หนี้ต่างประเทศ
กระทรวงการคลังได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศวงเงินรวม 22,361 ล้านบาท โดยเป็นการ Prepay วงเงิน 2 ล้านบาท Refinance วงเงิน 17,328 ล้านบาท และ Swap วงเงิน 5,031 ล้านบาท ทำให้สามารถลดภาระดอกเบี้ยรวม 1,589 ล้านบาท
รัฐวิสาหกิจได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศวงเงินรวม 12,291 ล้านบาท โดยเป็นการ Prepay วงเงิน 1,699 ล้านบาท เป็นการ Roll Over วงเงิน 7,500 ล้านบาท และเป็นการ Refinance วงเงิน 3,092 ล้านบาท ทำให้สามารถลดภาระดอกเบี้ยรวม 622 ล้านบาท
2. การกู้เงินภาครัฐ
เดือนสิงหาคม 2551
กระทรวงการคลังได้กู้เงินในประเทศเพื่อชดเชยการขาดดุล งบประมาณ วงเงินรวม 6,636 ล้านบาท โดยเป็นการออกพันธบัตรออมทรัพย์ วงเงิน 636 ล้านบาท และพันธบัตรรัฐบาล วงเงิน 6,000 ล้านบาท
รัฐวิสาหกิจได้กู้เงินในประเทศ วงเงินรวม 10,000 ล้านบาทโดยเป็นการกู้เพื่อลงทุนในโครงการของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และการเคหะแห่งชาติ วงเงินหน่วยงานละ 2,000 ล้านบาท และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย วงเงิน 4,000 ล้านบาท
ช่วง 11 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2551
ภาครัฐได้กู้เงินในประเทศรวม 236,077 ล้านบาท โดยเป็นการกู้ของกระทรวงการคลัง 164,336 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจ 71,741 ล้านบาท
3. การชำระหนี้ภาครัฐ
เดือนสิงหาคม 2551
กระทรวงการคลังได้ดำเนินการชำระหนี้จากงบประมาณ
รวม 22,290 ล้านบาท โดยเป็นการชำระคืนเงินต้น 15,781 ล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมรวม 6,509 ล้านบาท
ช่วง 11 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2551
กระทรวงการคลังได้ชำระคืนต้นเงินกู้ ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมจากงบประมาณรวม 134,742 ล้านบาท
รายงานหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2551
ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2551 มีจำนวน 3,330,372 ล้านบาท หรือร้อยละ 35.39 ของ GDP เป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 2,127,598 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 949,905 ล้านบาทหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน 93,085 ล้านบาท หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 142,982 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 16,802 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน หนี้สาธารณะลดลง 45,647 ล้านบาท โดยหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกันและหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐลดลง 31,182 ล้านบาท 7,269 ล้านบาท 3,030 ล้านบาท และ 4,167 ล้านบาท ตามลำดับ สำหรับหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เพิ่มขึ้น 1 ล้านบาท
การลดลงสุทธิของหนี้สาธารณะคงค้างเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมานั้น ที่สำคัญเกิดจากการลดลงของหนี้ที่รัฐบาลกู้ตรง หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ โดยหนี้ที่รัฐบาลกู้ตรงลดลงสุทธิ 31,182 ล้านบาท รายการที่สำคัญเกิดจากการปรับลดระดับตั๋วเงินคลังลง จำนวน 31,000 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับฐานะดุลเงินสดของรัฐบาลในเดือนดังกล่าว และรัฐบาลได้ปรับโครงสร้างหนี้ตั๋วเงินคลังที่ครบกำหนดโดยการแปลงเป็นพันธบัตรรัฐบาลจำนวน 5,000 ล้านบาท และออกพันธบัตรออมทรัพย์เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 809 ล้านบาท
สำหรับหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน ลดลงสุทธิ 7,269 ล้านบาท รายการที่สำคัญเกิดจากการลดลงของหนี้ต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน เนื่องจากการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ Refinance เงินกู้ JBIC จากสกุลเงินเยนเป็นสกุลเงินบาท และการเปลี่ยนแปลงสุทธิของหนี้ต่างประเทศในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อแปลงเป็นเงินบาทลดลง จึงทำให้หนี้ต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกันลดลงสุทธิรวม 5,526 ล้านบาท
และสำหรับหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐลดลง เนื่องจากกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติได้ชำระคืนเงินกู้ระยะยาวจำนวน 4,167 ล้านบาท และกู้เงินระยะยาวเพิ่ม จำนวน 590 ล้านบาท
หนี้สาธารณะ 3,330,372 ล้านบาท แยกออกเป็นหนี้ต่างประเทศ 377,721 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.34 และหนี้ในประเทศ 2,952,651 ล้านบาท หรือร้อยละ 88.66 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง และเป็นหนี้ระยะยาว 3,207,617 ล้านบาท หรือร้อยละ 96.31 และหนี้ระยะสั้น 122,755 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.69 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง
ส่วนประสานสัมพันธ์นักลงทุน สำนักนโยบายและแผน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ โทร. 0 2265 8050 ต่อ 5135

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ