กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยเกี่ยวกับสถานการณ์การส่งออกข้าวไทย ในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปี 2551 (ก.ย.-ธ.ค.) ว่าประเทศผู้นำเข้าหลายประเทศยังคงมีความต้องการนำเข้าข้าวประเทศไทยจึงมีโอกาสทางการตลาดสูงที่จะเพิ่มการส่งออกข้าวได้อีก เนื่องจากเป็นประเทศที่ไม่มีการกำหนดมาตรการควบคุมการส่งออก จึงคาดว่าในปีนี้ไทยจะสามารถส่งข้าวได้ประมาณ 9.5 — 10 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,795-6,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญ ได้แก่ ไนจีเรีย เบนิน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สหภาพยุโรป อิรัก ไอเวอรีโคสต์ เป็นต้น
สำหรับในปี 2552 คาดว่าสถานการณ์ข้าวโลกจะไม่มีความผันผวนมากเหมือนในปี 2551
โดยปริมาณข้าวโลกจะลดความตึงตัวลง เนื่องจากผลผลิตข้าวโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามความต้องการข้าวในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูงซึ่งเป็นผลจากปริมาณการบริโภคข้าวโลกที่เพิ่มขึ้น คาดว่าปริมาณการค้าข้าวโลก ในปี 2552 จะอยู่ที่ 28.25 ล้านตัน โดยประเทศผู้ส่งออกข้าวที่สำคัญยังคงเป็นไทย เวียดนาม สหรัฐอเมริกา ปากีสถาน และอินเดีย ในขณะที่ประเทศผู้นำเข้าข้าวที่สำคัญคือ ฟิลิปปินส์ ไนจีเรีย สหภาพยุโรป ซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน อิรัก และมาเลเซีย ทั้งนี้ ไทยจะยังคงเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก โดยจะส่งออกข้าวประมาณ 9-9.5 ล้านตัน มูลค่า 4,950-5,225 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2552 กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้กำหนดแผนการขยายตลาดเชิงรุกโดยจะมุ่งรักษาตลาดเดิม ได้แก่ จีน ฮ่องกง มาเลเซีย และ สิงคโปร์ โดยการสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องของคุณภาพมาตรฐานสินค้าและป้องกันการปลอมปนสินค้าข้าวหอมมะลิไทย โดยเฉพาะในตลาดจีน การขยายตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แอฟริกา สหพันธรัฐรัสเซีย และประเทศกลุ่ม CIS รวมทั้งประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยการเจรจาในระดับนโยบายและพบปะหารือกับผู้นำเข้า รวมทั้งการสร้างภาพลักษณ์สินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวไทย โดยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์คุณประโยชน์ทางโภชนาการและการปลอดการตัดแต่งพันธุกรรม (Non GMOs) ผ่านสื่อวงกว้าง (Mass Media) อย่างต่อเนื่องให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และการขยายตลาดจำเพาะ (Niche Market) สำหรับข้าวเพื่อสุขภาพ ได้แก่ ข้าวอินทรีย์ ข้าวกล้องอนามัย ข้าว GI โดยการรับรองคุณภาพและมาตรฐาน รวมทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมเพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้ข้าวดังกล่าวเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย นอกจากนี้จะส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยพัฒนาบรรจุภัณฑ์และส่งออกข้าวในรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ (Package) แทนการส่งออกในลักษณะ Bulk เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของข้าวอันจะส่งผลให้ผู้ส่งออกสามารถกำหนดราคาข้าวได้เพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. — 18 ก.ย. 51 ไทยส่งข้าวออกไปแล้ว 8.08 ล้านตัน มูลค่า 4,908 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 158,857 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณ 5.79 ล้านตัน มูลค่า 2,177 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 75,578 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.48 , 125.42 และ 110.19 ของปริมาณและมูลค่าตามลำดับ โดยราคาส่งออกเฉลี่ยได้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นตันละ 607 เหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ตันละ 376 เหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 61.61