ASEAN HUB ยุทธศาสตร์สู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ข่าวทั่วไป Tuesday September 23, 2008 15:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในปี 2552 กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ และกลยุทธ์ของศูนย์ภูมิภาคอาเซียน (ASEAN HUB) โดยเน้นการสร้างโอกาสและขยายการค้าในภูมิภาคนี้ และมีวัตถุประสงค์ที่จะใช้อาเซียนเป็นฐานธุรกิจก้าวสู่ตลาดโลก (THAILAND’S PRODUCTION PLATFORM FOR GLOBAL MARKETPLACE) โดยอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศในฐานะหัวหน้าภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Hub Leader) ได้เชิญประชุมหัวหน้าสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ในภูมิภาคอาเซียนทั้ง 9 สำนักงาน และผู้แทนของหน่วยงานในส่วนกลาง ได้แก่ ผู้แทนจากกรมส่งเสริมการส่งออก กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการส่งออก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันพิจารณาโครงการ/แผนงานเพื่อดำเนินกลยุทธ์ทางการค้าตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์
ข้อสรุปกรอบโครงการเพื่อดำเนินการในเชิงบูรณาการ เพื่อผลักดันและขยายการค้าและการลงทุนเข้าไปยังประเทศในภูมิภาคนี้ และสนับสนุนให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในทุกโครงการ โดย ASEAN Hub ได้วางกลยุทธ์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินกิจกรรม/โครงการในเรื่องต่าง ๆ ไว้ 4 กลุยทธ์ คือ
กลยุทธ์ที่ 1 พันธมิตรทางการค้า (Trade Alliance) มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความได้เปรียบในเชิงแข่งขัน (Competitive Advantage) ในการที่จะลดต้นทุนการผลิตสินค้า เป็นฐานการผลิตสินค้า และใช้ประโยชน์จากการมีสิทธิพิเศษทางการค้าของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งโครงการที่จะดำเนินการจะมีลักษณะเป็นความร่วมมือเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกทางการค้า การลงทุน รวมไปถึงเรื่องของสินค้า เช่น ข้าว ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่าง ๆ รวมทั้งจะมีการดำเนินโครงการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการค้าและการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย
กลยุทธ์ที่ 2 ตลาดสำหรับสินค้าไทย (Integrated Marketplace) มีวัตถุประสงค์ เพื่อรักษา ขยายและยกระดับสินค้าไทย ในการที่จะเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าไทย เช่น สินค้าข้าวหอมมะลิ และสินค้าปศุสัตว์ เป็นต้น
กลยุทธ์ที่ 3 เสริมสร้างสมรรถนะนักธุรกิจไทย (Capacity Building) เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพในตลาดอาเซียน และอำนวยความสะดวกด้านการค้าแก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยมีเป้าหมายในการที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุน และเพื่อลดอุปสรรคในการส่งออกและจัดจำหน่ายสินค้าของผู้ประกอบการ SMEs โดยจะมีโครงการที่จะส่งเสริมสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การขนส่งและโลจิสติกส์บนเส้นทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น
กลยุทธ์ที่ 4 เสริมสร้างวิสาหกิจไทยให้ก้าวไปสู่ความเป็นบริษัทการค้าระดับนานาชาติ (International of Thai Enterprise) เพื่อเพิ่มช่องทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับอาเซียน ในการที่จะเพิ่มรายได้ในรูปเงินตราต่างประเทศจากเงินตอบแทนการลงทุนที่จะส่งกลับประเทศไทย รวมทั้งหาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ เช่น พลังงาน น้ำมัน วัตถุดิบที่แน่นอน สามารถนำมาใช้ในประเทศไทย และส่งเสริมบริษัทเอกชนมีโอกาสนำสินค้าไทยออกไปใช้ในโครงการลงทุนการก่อสร้าง การประมูล และจ้างเหมาบริการต่าง ๆ
การดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้มูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับอาเซียนในปี 2552 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2551 โดยการส่งออกในปี 2552 ประมาณการว่าจะมีมูลค่า 42,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 15
จากสถิติการค้าระหว่างไทย - อาเซียน โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2548-2550) มูลค่าการค้าของไทยกับสมาชิกทั้ง 9 ประเทศมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จาก 46,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2548 เป็น 57,555 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2550 และในด้านการส่งออกสินค้าของไทยไปยังอาเซียนเองก็มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก โดยคาดว่าในปี 2551 ไทยจะสามารถส่งสินค้าออกไปยังตลาดอาเซียนได้กว่า 36,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
สินค้าส่งออกของไทยสู่ตลาดอาเซียนที่สำคัญ ได้แก่ ยานยนต์และอะไหล่ น้ำมันสำเร็จรูป อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน เครื่องจักรกล แผงวงจรไฟฟ้า เหล็ก/ผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ยางพารา เครื่องใช้ไฟฟ้า/ชิ้นส่วน ส่วนสินค้านำเข้าจากอาเซียน ได้แก่ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ ก๊าซธรรมชาติ/น้ำมันดิบ แผงวงจรไฟฟ้า แร่/เศษโลหะ เครื่องจักรกล/ส่วนประกอบ สื่อบันทึกข้อมูล ภาพ เสียง และน้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ