กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
รัฐบาลทุ่มงบ 133 ล้าน ทำ 8 โครงการ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อและกระบือไทย รองรับการเปิดเสรีในอีก 12 ปีข้างหน้า “ชุติมา”ประเมิน 3 ปีการนำเข้าภายใต้ FTA ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ พบนำเข้าเพิ่มขึ้นจริง แต่เป็นการนำเข้าเพื่อผู้บริโภคระดับบนและผลิตส่งออก ไม่ได้แข่งขันกับสินค้าของไทย ส่วนแบ่งตลาดเครื่องในออสเตรเลียวูบเหลืออันดับสามจากที่เคยเป็นที่หนึ่ง
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงแนวทางในการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงโค และกระบือ ว่า ขณะนี้รัฐบาลได้มีการอนุมัติโครงการต่างๆ ที่ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรแล้วจำนวนทั้งสิ้น 8 โครงการ วงเงิน 133.2 ล้านบาท จากเงินกองทุน 2 กองทุน คือ กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ที่มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ และกองทุนเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากข้อตกลงเขต
การค้าเสรี (กองทุน FTA) มีกระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการเหล่านั้นได้แก่ โครงการคัดเลือกพ่อพันธุ์กำแพงแสนเพื่อใช้ผลิตน้ำเชื้อ โครงการปรับปรุงพันธุกรรมโคเนื้อของประเทศไทยโดยการใช้พ่อพันธุ์ชั้นดี โครงการจัดตั้งตลาดกลางโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน โครงการปรับโครงสร้างสินค้าเนื้อโคขุนและระบบตรวจสอบย้อนกลับ โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการด้าน
โคเนื้อ โครงการศึกษาเพื่อปรับยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมเครื่องหนังไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้กรอบการค้าเสรี โครงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อ และโครงการรณรงค์การบริโภคเนื้อโคและการขยายตลาด
“เป้าหมายในการจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อมุ่งหวังให้กลุ่มผู้เลี้ยงโคเนื้อและกระบือของไทย มีการพัฒนาให้เกิดความเข้มแข็งทั้งระบบ และเป็นการเตรียมการรองรับการเปิดเสรีอย่างแท้จริงในอีก 12 ปีข้างหน้า หรือปี 2563”นางสาวชุติมากล่าว
นางสาวชุติมากล่าวว่า สำหรับการนำเข้าสินค้าเนื้อโค กระบือ และเครื่องในจากต่างประเทศของไทยนั้น แม้ในช่วงก่อนที่ไทยจะทำ FTA กับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ไทยมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นตามความต้องการบริโภคภายในประเทศอยู่แล้ว และในปัจจุบัน FTA ไม่ได้เป็นสาเหตุทำให้ผู้เลี้ยงโค กระบือของไทยได้รับผลกระทบ เพราะรัฐบาลได้จัดให้สินค้าโคและกระบือเป็นสินค้าในกลุ่มอ่อนไหว โดยจะมีมาตรการปกป้องพิเศษ หากมีการนำเข้าเกินปริมาณที่กำหนดและยังมีการชะลอการลดภาษีเป็นศูนย์นานถึง 15 ปี (จากปี 2548-2563)
โดยการนำเข้าสินค้าเนื้อโค และกระบือในช่วง 3 ปีก่อนทำ FTA (ปี2545-2547) ไทยนำเข้ามูลค่าเฉลี่ย 120 ล้านบาท ปริมาณ 1,129 ตัน โดยนำเข้าจากออสเตรเลีย 80 ล้านบาท ปริมาณ 687 ตัน และนิวซีแลนด์ 15 ล้านบาท ปริมาณ 230 ตัน และ 3 ปีหลังทำ FTA (2548-2550) นำเข้าจากต่างประเทศเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 240 ล้านบาท ปริมาณ 1,698 ตัน ทั้งนี้ ปริมาณนำเข้าที่ได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษี ในปี 2548-2550 ให้ออสเตรเลีย คือ 776 ตัน 814.80 ตัน และ 855.54 ตัน และนิวซีแลนด์ คือ 500 ตัน 525 ตัน และ 551.25 ตัน ซึ่งเป็นการนำเข้าภายในโควตาที่จำกัดไว้ ส่วนที่เกินเสียภาษีตามปกติ
ส่วนการนำเข้าเครื่องในโค กระบือ ปี 2545-2547 นำเข้าจากต่างประเทศมูลค่าเฉลี่ย 20 ล้านบาท ปริมาณ 1,389 ตัน เป็นการนำเข้าจากออสเตรเลีย 9 ล้านบาท ปริมาณ 533 ตัน และนิวซีแลนด์ 7 ล้านบาท ปริมาณ 499 ตัน นำเข้าจากอาร์เจนตินา มูลค่าเฉลี่ย 2 ล้านบาท ปริมาณ 238.33 ตัน และปี 2548-2550 นำเข้า
จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่าเฉลี่ย 60 ล้านบาท ปริมาณ 4,307 ตัน โดยการนำเข้าที่ได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีจากออสเตรเลีย ประมาณ 147 ตันต่อปี และนิวซีแลนด์ ประมาณ 630.5 ตันต่อปี ซึ่งเป็นการนำเข้าภายในโควตาที่จำกัดไว้เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสินค้าในประเทศ ส่วนที่เกินส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ามาจากอาร์เจนตินาซึ่งเสียตามภาษีปกติ
“เนื้อโค กระบือ ที่นำเข้าจากต่างประเทศส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้เพื่อการบริโภคสำหรับผู้บริโภคระดับบน เช่น ภัตตาคาร โรงแรมระดับสูง และยังถูกนำไปใช้ในการผลิตอาหารกระป๋อง ส่วนเครื่องในถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ เพื่อส่งออกไปยังประเทศแถบยุโรป และสหรัฐฯ ไม่ได้นำเข้ามาแข่งขันกับสินค้าในประเทศ ที่สำคัญ แม้จะนำเข้าจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เพิ่มขึ้น แต่ส่วนที่เพิ่มขึ้นก็เสียภาษีปกติ จะได้สิทธิพิเศษก็ภายใต้โควตาที่กำหนดเท่านั้น และมองในแง่ส่วนแบ่งตลาดเครื่องในหลังทำ FTA แล้วออสเตรเลียซึ่งมีส่วนแบ่งอันดับหนึ่งกลับลดลงมาเป็นอันดับสาม โดยมีอาร์เจนตินาซึ่งไม่ได้ทำ FTA กับไทยเป็นอันดับหนึ่งแทน” นางสาวชุติมากล่าว