กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สินค้าผัก ผลไม้จากไทยที่ส่งออกไปยังไต้หวันถูกตรวจพบว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดเป็นจำนวนมาก และหลายชนิดถูกห้ามการนำเข้า เช่น พบการระบาดของแมลงศัตรูพืชในถั่วฝักยาว มะเขือเทศ มังคุด พบสารตกค้างทางการเกษตรในสินค้าผักชี และพบสารปนเปื้อนในสินค้ามะพร้าวอ่อน เป็นต้น และหน่วยงานของไต้หวันได้ขอให้หน่วยงานรับผิดชอบของไทยดำเนินมาตรการควบคุมมาตรฐานสินค้าส่งออกไปยังไต้หวันให้รัดกุมยิ่งขึ้น เช่น การให้ขึ้นทะเบียนโรงงานคัดบรรจุและสวนผู้ผลิตสินค้าผักชี เป็นต้น
ไต้หวันเป็นประเทศหนึ่งที่มีการกำหนดใช้มาตรการสุขอนามัยเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคภายในประเทศมากเช่นเดียวกับประเทศผู้นำเข้าอื่น ๆ โดยมาตรการที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าผัก ผลไม้ของไทยเป็นอย่างมากคือ ระเบียบการกักกันโรคพืชเพื่อการนำเข้าสินค้ามายังไต้หวัน (Quarantine Requirements for Importation of Plants or Plant Products into Republic of China) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2546 เป็นต้นมา ระเบียบดังกล่าวระบุว่าไทยมีการระบาดของแมลงศัตรูพืช มีผลทำให้ผักและผลไม้ไทยจำนวน 11 ชนิด ถูกห้ามนำเข้าจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ พริก ถั่วลิสงมีฝัก มังคุด เงาะ ลำไย ส้มและส้มโอ มะม่วง กล้วยดิบ และผักชี อย่างไรก็ดี หน่วยงานภาครัฐของไทยที่เกี่ยวข้องก็มิได้นิ่งนอนใจและได้มีการประสานไปยังหน่วยงานของไต้หวันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อเจรจาให้ไต้หวันอนุญาตการนำเข้าสินค้าดังกล่าว อาทิ การส่งผลการวิเคราะห์ปลอดศัตรูพืชและโรคหนอนแมลง รวมทั้ง วิธีการกับจัดศัตรูพืชด้วยการอบไอน้ำในสินค้าผักผลไม้ให้เป็นไปตามมาตรฐานของไต้หวัน
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้หน่วยงานของไทยจะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องดังกล่าว แต่ไต้หวันแจ้งว่ามีข้อจำกัดด้านจำนวนบุคลากรของหน่วยงานของไต้หวัน ทำให้ไต้หวันไม่สามารถพิจารณาเอกสารผลการวิเคราะห์จากไทยได้รวดเร็วเท่าที่ควร เป็นสาเหตุให้สินค้าผักผลไม้ไปยังไต้หวันยังคงถูกห้ามนำเข้า จำนวน 11 ชนิด ดังกล่าว และอีก 14 ชนิด ให้นำเข้าได้โดยมีเงื่อนไขหรือมีการกำหนดโควตาการนำเข้า เช่น กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี ผักบุ้ง หอมแดง ผักกาดขาว หมาก ลำไยแห้ง ลิ้นจี่ และทุเรียน เป็นต้น
นางอภิรดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ไต้หวันได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าผักผลไม้มากขึ้น โดยเฉพาะการตรวจสอบสารตกค้างทางการเกษตร และหากพบว่าไม่ได้มาตรฐานจะอายัดหรือทำลายสินค้าและเรียกเก็บคืนจากท้องตลาด และในการนำเข้าสินค้าชนิดเดียวกันจากผู้ผลิตเดิมในอีก 5 ครั้งต่อไป จะถูกกักไว้เพื่อตรวจวิเคราะห์อย่างเข้มงวดและจะไม่ปล่อยสินค้าออกจากด่านนำเข้าจนกว่าการตรวจวิเคราะห์จะเสร็จสิ้นลง หากพบว่าสินค้ายังไม่ได้มาตรฐานอีก ไต้หวันจะประกาศห้ามนำเข้าสินค้าประเภทเดียวกันจากผู้ผลิตนั้น พร้อมทั้งเพิกถอนใบอนุญาตนำเข้าจากผู้นำเข้าด้วย ประกอบกับการที่ไต้หวันมีการพิจารณาเอกสารแก้ข้อกล่าวหาสินค้าแต่ละชนิดใช้เวลานานมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยไปยังไต้หวันได้ ฉะนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรเพิ่มความระมัดระวังในการใช้สารเคมีทางการเกษตร และปฏิบัติตามระเบียบของไต้หวันอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันปัญหาการห้ามนำเข้าสินค้าจากไทยอีก
อนึ่ง ไต้หวันเป็นตลาดส่งออกสินค้าอาหารที่สำคัญของไทย โดยมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 2 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารทั้งหมดโดยรวมของไทย โดยในปี 2550 ไทยส่งออกสินค้าผัก ผลไม้ไปไต้หวันเป็นมูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าไปยังไต้หวันทั้งหมดของไทย โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2549 คิดเป็นร้อยละ 2.53 และในปี 2551 (ม.ค. — ก.ค.) ไทยส่งออกไปไต้หวันเป็นมูลค่าประมาณ 4,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 11
ทั้งนี้ สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าผักผลไม้ของไต้หวันได้ที่ www.baphiq.gov.tw/en/index.asp