กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--ปชส.จร.
เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2549 นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เข้าประชุมหารือร่วมกับผู้บริหารกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อรับฟังสรุปประเด็นการเจรจาการค้าของไทย ในกรอบต่างๆ ที่เป็นภารกิจเร่งด่วนและต้องได้รับมอบนโยบายที่ชัดเจนในการดำเนินการ โดยมีนางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สรุปประเด็นสำคัญทั้งการเจรจาในกรอบ WTO เอเปค อาเซียน และเขตการค้าเสรี
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้มอบนโยบายด้านการเจรจาการค้าโดยย้ำว่า 1) จะต้องเป็น Free and Fair Trade โดยมีมาตรการ safeguard เป็นแนวคุ้มกันเพื่อไม่ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศเกิดความเดือดร้อน โดยนำกฎหมายการแข่งขันทางการค้า (competition policy)ของกรมการค้าภายในมาใช้ให้เป็นประโยชน์ 2) ต้องมีกองทุนปรับตัว ( Structural Adjustment Fund) ซึ่งมี 2 ส่วน คือโดยทั่วไปไม่ว่าจะมี FTA หรือไม่มีก็ต้องใช้เงินส่วนนี้ให้ผู้ประกอบการปรับตัว และส่วนที่สอง คือ ส่วนที่ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมากจาก FTA โดยมีหน่วยงานกลางมาทำหน้าที่หามาตรการปรับตัวและบริหารการใช้เงิน 3) ต้องสร้าง awareness ให้ผู้รับประโยชน์จากการเจรจาการค้าได้รับทราบถึงโอกาสและเข้ามาใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดตลาด มีความสามารถในการปรับโครงสร้างและปรับตลาดได้ 4) ต้องมีการเจรจาเชิงรุก (pro-active participation) ในทุกเวที การเจรจาต้องมีทิศทางที่ชัดเจน รู้ว่าทิศทางนั้นเพื่อผลประโยชน์ของประเทศอย่างไร และหนทางที่จะนำไปสู่ทิศทางนั้นต้องทำอย่างไร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ย้ำว่า การเจรจาระดับพหุภาคีและระดับภูมิภาคเป็นสิ่งที่จะต้องเข้าร่วมเจรจา แต่การเจรจาใน FTA สามารถมีทางเลือกได้หากการเจรจากับประเทศใดมีปัญหาและไม่ได้ประโยชน์ ก็จะไม่สานต่อ ส่วนการเจรจากับประเทศใดที่ดีมีเหตุผลสามารถอธิบายได้จะดำเนินการต่อ ส่วนความตกลงใดที่สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ก็จะปรับปรุง ทั้งนี้ ได้แจ้งว่า FTA ที่จะลงนามกับญี่ปุ่นนั้นจะต้องผ่านสภาเสียก่อน
นอกจากนี้ยังได้ให้นโยบายว่า ต้องมีความโปร่งใสในการทำงานและต้องทำอย่างต่อเนื่องและต้องมีการเสริมสร้างความสามารถ (capacity building) ให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาตนเองเพื่อใช้ประโยชน์จากผลการเจรจาเปิดตลาดได้อย่างทั่วถึง
ในตอนท้าย อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้กล่าวว่า ตลาดสวิสเซอร์แลนด์เป็นตลาดที่สำคัญและไม่ควรละเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไทยมีความตกลงการค้าเสรีกับ EFTA แล้ว ก็ควรจะมีเจ้าหน้าที่ไปดูแลผลประโยชน์ของไทย จึงเสนอว่าไทยมีที่ทำการของคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก ณ นครเจนีวา อยู่ที่นั่น จึงเห็นควรพิจารณาให้มีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงพาณิชย์ไปประจำที่เจนีวา เพื่อดูแลเรื่องการส่งเสริมการส่งออกของไทยหรือหากไม่มีการส่งผู้แทนไปประจำก็สามารถพิจารณาให้ผู้แทนไทยที่ดูแลเรื่องการเจรจา WTO ดูแลเรื่องการค้าควบคู่ไปด้วย