กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
ราชนาวิกสภา เป็นหน่วยขึ้นตรงต่อกรมยุทธศึกษาทหารเรือ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๕๙ ในสมัยที่จอมพลเรือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นเสนาบดีกระทรวงเรือ เพื่อใช้เป็นสถาบันส่งเสริมการศึกษา และเผยแพร่ วิชาการให้แก่นายทหารเรือ และเพื่อให้นายทหารเรือได้พบปะปราศรัย แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน
เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาราชนาวิกสภา ครบรอบ ๘๙ ปี ได้มีการจัดพิธีมอบรางวัล บทความดีเด่นที่ลงพิมพ์ในนิตยสารนาวิกศาสตร์ ซึ่งราชนาวิกสภา เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงาน ประจำปี ๒๕๔๘ และมอบเข็มและโล่เครื่องหมายราชนาวิกสภาให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับ ณ ห้องอเนกประสงค์ อาคารนันทอุทยานสโมสร เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ในวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๔๙ เวลา ๑๓.๓๐
สถานที่ตั้งของราชนาวิกสภา อยู่ทางริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ตามประวัติเดิม เป็นบ้าน ของพระอินทรเทพ (ทัพ) ภายหลังตกเป็นของพระคลังข้างที่ กองทัพเรือได้เริ่มเช่ามาตั้งแต่ พุทธศักราช ๒๔๔๓ จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระองค์ ปัจจุบันอาคารราชนาวิกสภา ตั้งอยู่ติดกับโรงพยาบาล ทหารเรือกรุงเทพ กองเรือลำน้ำ กองเรือยุทธการ และกรมอู่ทหารเรือ ซึ่งบริเวณที่ตั้งของกรมอู่ทหารเรือ รวมทั้งราชนาวิกสภานี้ เป็นจวนเดิม ที่เคยเป็นพระราชนิเวศน์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และเมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีแล้วได้เสด็จมาประทับที่พระบรมมหาราชวัง ฝั่งกรุงเทพมหานคร และทรงยกพระนิเวศน์เดิมให้แก่ พระเจ้าลูกยาเธอ เป็นสมบัติตกทอดเรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงได้รับพระราชทานเป็นที่ตั้งกรมทหารเรือ
ราชนาวิกสภาเป็นอาคารแบบตะวันตกรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ๒ ชั้น ก่ออิฐถือปูน มีไม้ประกอบ หันด้านหน้าออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ตรงกับหมู่พระมหาปราสาทของพระบรมมหาราชวังฟากตรงข้าม ของแม่น้ำ ตัวอาคารชั้นล่างในปัจจุบันเป็นที่ทำการของราชนาวิกสภา ส่วนชั้นบน ใช้งานเฉพาะกิจ เช่น งานจัดเลี้ยง และการประชุม เป็นต้น แต่เดิมอาคารนี้ไม่มีระเบียงด้านหน้าเช่นในปัจจุบัน แต่ได้มาถูก ต่อเติมในราวพุทธศักราช ๒๔๗๔ ลักษณะสถาปัตยกรรมที่ต่อเติมมีอิทธิพลรูปแบบเรอเนซองส์ แต่ได้มีการผสมผสานและประยุกต์ให้เรียบง่ายขึ้น ทั้งชั้นล่างและชั้นบน มีระเบียงยาวตลอดความยาวของ ตัวอาคารที่กึ่งกลางของตัวอาคารชั้นล่างมีบันไดตรงขึ้นไปก่อนที่จะแยกออกเป็นสองทางเพื่อขึ้นสู่ระเบียงชั้นบนห้องต่างๆ ของชั้นบน ซึ่งอาคารราชนาวิกสภานี้ ถือเป็นโบราณสถานของกองทัพเรือ เมื่อครั้งที่ ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมเอเปค ๒๐๐๓ กองทัพเรือได้ซ่อมปรับปรุงอาคารราชนาวิกสภาเดิมพร้อมทั้งเพิ่มเติมอาคารขึ้นอีก ๑ หลัง ในรูปแบบสถาปัตยกรรมเดียวกันทุกประการ เพื่อให้เป็นสถานที่ชมการแสดงกระบวนพยุหยาตราชลมารคจำลองของผู้เข้าร่วมประชุม และในปี ๒๕๔๙ นี้จะใช้เป็นสถานที่จัดถวายพระสุธารสชาและทอดพระเนตรกระบวนพยุหยาตราชลมารคในงานฉลองสิริราชสมบัติ ครบ ๖๐ ปี
(ที่มา :หนังสือ กพ.ทร. ที่ กห ๐๕๐๓/๒๐๒๔ ลง ๑๕ มี.ค.๔๙)