กรุงเทพฯ--2 ส.ค.--ไอบีเอ็ม ประเทศไทย
อุตสาหกรรมสื่อสารบันเทิง โดยเฉพาะ วงการโทรทัศน์ เตรียมพบกับความท้าทายใหม่ ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคที่ซับซ้อนมากขึ้น ธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่นกลายเป็นคู่แข่งรายใหม่ และเทคโนโลยีการแพร่ภาพผ่านเครือข่ายไอพี
IBM Global Business Services (GBS) เปิดเผยรายงานฉบับใหม่ “จุดจบรูปแบบโทรทัศน์ยุคปัจจุบัน มุมมองอุตสาหกรรมในอนาคต” ที่สรุปผลการศึกษาและวิเคราะห์แนวโน้มของอุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์ว่า จะเกิดภาวะชะงักงันเกิดขึ้นในหลายส่วนหลักๆ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระยะยาว โดยใกล้เคียงกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอุตสาหกรรมเพลง
ในวันนี้ ไอบีเอ็มได้จัดงาน Digital Media Show ซึ่งเป็นงานสัมมนาและงานแสดงโซลูชั่นด้านดิจิตอลมีเดียวที่มากที่สุดครั้งแรกในประเทศไทย โดยในงานนี้ ไอบีเอ็มจะนำเสนอแนวทางการนำเทคโนโลยีด้านดิจิตอลมีเดียมาสร้างนวัตกรรมทางด้านการให้บริการ (Services Innovation) นวัตกรรมในกระบวนการและขั้นตอนการดำเนินธุรกิจ (Business Process Innovation) รวมทั้ง การสร้างนวัตกรรมในรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (Business Model Innovation) ในกลุ่มธุรกิจสื่อและบันเทิง รวมถึง กลุ่มธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม และบริษัทคู่ค้า พันธมิตรด้านโซลูชั่นดิจิตอลได้นำตัวอย่างโซลูชั่น Media Asset Management, IPTV, IBM Digital Media Center, Archive Management Solutions เป็นต้น
นายศุภกิจ ติยะวัชรพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจ Emerging Solutions บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “จุดประสงค์สำคัญของไอบีเอ็มคือ ช่วยองค์กรธุรกิจให้มีศักยภาพและเครื่องมือในการแปรสภาพการ
ดำเนินธุรกิจ (Business Transformation) เพื่อมุ่งปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนวิธีในการ “สร้าง” (create) “บริหารจัดการ” (manage) และ “นำเสนอ” (distribute) ข้อมูลและช่องทางการสื่อสารที่กระจัดกระจายอยู่ในหลากหลายประเภทและมีจำนวนมากมายมหาศาล ซึ่งถือเป็นกระบวนการในการทำธุรกิจหลักของอุตสาหกรรมสื่อสาร บันเทิง และอุตสาหกรรมโทรคมนาคมให้เกิดประสิทธิภาพทั้งทางด้านคุณภาพและผลการดำเนินธุรกิจสูงสุด ดังนั้น ดิจิตอลมีเดียจึงนับเป็นคำตอบของการดำเนินธุรกิจที่ไอบีเอ็ม บริษัทคู่ค้า และพันธมิตรด้านโซลูชั่นจะร่วมกันนำเสนอเป็นโซลูชั่นครบวงจรสำหรับการดำเนินธุรกิจไร้พรมแดนจากอนาล็อคสู่ยุคดิจิตอล”
รายงาน “จุดจบรูปแบบโทรทัศน์ยุคปัจจุบัน มุมมองอุตสาหกรรมในอนาคต” ระบุว่า ผู้ชมจะถูกแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆ เพิ่มมากขึ้น โดยจะแบ่งเวลาไปตามสื่อต่างๆ ที่มีให้เลือกอยู่มากมาย ตามช่องสถานี และตามระบบใช้งานที่หลากหลาย อุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์กำลังเผชิญปัญหาที่ซับซ้อน ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (Business Model) จากเดิมอย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากปัจจัยต่างๆ เช่น การให้บริการตามความต้องการหรือออนดีมานด์ที่เพิ่มมากขึ้น ความสามารถในการกำหนดผังรายการด้วยตนเองและการค้นหา รวมถึงการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากผู้ให้บริการธุรกิจสื่อสาร ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และผู้ให้บริการข่าวสารข้อมูล เจ้าของคอนเทนต์รายการ ซึ่งต่างก็กำลังก้าวเข้าสู่ธุรกิจโทรทัศน์
นายโดมินิค สโตน ผู้บริหารฝ่ายบรอดคาสต์โซลูชั่น ไอบีเอ็มประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค กล่าวว่า “โทรทัศน์แบบที่เรารู้จักกันทุกวันนี้จะเปลี่ยนแปลงไปโดยจะมีผู้ชนะและผู้แพ้อย่างชัดเจน เราคาดว่าการกำหนดผังรายการและตารางเวลาออกอากาศจากส่วนกลางจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้ชมหลักได้อย่างเหมาะสม เพราะกลุ่มผู้ชมเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะสร้างผังรายการทีวีตามที่ตนเองต้องการ และธุรกิจโทรทัศน์เครือข่ายที่ถูกควบคุมโดยผู้ผลิตเพียงไม่กี่รายจะไม่ได้รับความนิยม ในขณะที่ส่วนแบ่งรายได้ที่ได้รับจากการโฆษณาทางโทรทัศน์จะลดลงอย่างเห็นได้ชัด บริการคอนเทนต์ที่เฉพาะเจาะจงตามเซกเมนต์ผู้บริโภค การขยายช่องทางกระจายสัญญาณ และการโฆษณาแบบเจาะกลุ่มเป้าหมาย จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องสำหรับพื้นฐานของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในช่วง 5-7 ปีข้างหน้า”
รายงานดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าภายในปีพ.ศ. 2555 อุตสาหกรรมโดยรวมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงลึกเพื่อความอยู่รอด โดยอุตสาหกรรมโทรทัศน์จำเป็นที่จะต้องนำเสนอคอนเทนต์แบบเปิดและระบบแพร่ภาพบนมาตรฐานเปิด เพื่อให้สามารถปรับปรุงคอนเทนต์และสร้างรายได้ที่ต่อเนื่อง นอกจากนั้นจะต้องเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคเข้าถึงมีเดียคอนเทนต์ที่ได้รับความคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีการกำหนดราคาเฉพาะสำหรับแต่ละบุคคล และนำเสนอผ่านทางช่องทางที่หลากหลาย
รายงาน “จุดจบรูปแบบโทรทัศน์ยุคปัจจุบัน มุมมองอุตสาหกรรมในอนาคต” ของไอบีเอ็มบ่งชี้ว่า ในระหว่างช่วงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคและผู้ผลิตนี้ อุตสาหกรรมโทรทัศน์ต้องรับมือกับกลุ่มผู้ชมสองกลุ่มที่มีความต้องการช่องสถานีแตกต่างกัน และนำเสนอสื่อและคอนเทนต์ที่สอดรับกับความต้องการของกลุ่มผู้ชมทั้งสองกลุ่ม
ขณะที่เซกเมนต์ผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่สุดในปัจจุบันคือ “Massive Passive” ยังคงชื่นชอบประสบการณ์การดูทีวีแบบดั้งเดิมที่มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย แต่อีกเซกเมนต์หนึ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและปรับตัวได้ก่อนอย่างกลุ่ม “Gadgetiers” และ “Kool Kids” จะมีความต้องการสื่อแบบอินเทอร์แอคทีฟมากขึ้น และผู้บริโภคกลุ่มหลังนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอุตสาหกรรมในฐานะ “ผู้ชมหนึ่งราย” ที่กำหนดช่วงเวลา วิธีการ และรายการที่ต้องการชมโดยเฉพาะเจาะจง เซกเมนต์ผู้บริโภคที่เข้าถึงเทคโนโลยีและพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ นี้จะกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจที่มีมายาวนานให้เป็นรูปแบบใหม่ที่นำเสนอคอนเทนต์บนหลากหลายแพลตฟอร์ม รวมถึงสื่อแบบพกพาที่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายตามความต้องการ และการกำหนดราคาเฉพาะบุคคล ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่จุดจบของผังรายการและตารางออกอากาศแบบเก่า
ผู้ให้บริการด้านการผลิตรายการโทรทัศน์ การกำหนดแพ็คเกจ การจัดผังรายการ และการแพร่ภาพ จะต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธอย่างฉับไว มิใช่เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้ชมย่อยนี้เท่านั้น แต่ยังจะต้องคำนึงถึงต้นทุนการดำเนินงานและตัดลดค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับซัพพลายเชนแบบเก่า ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ให้บริการมีเงินทุนเพิ่มเติมสำหรับการพัฒนาช่องทางการแพร่ภาพใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์พกพา อินเทอร์เน็ต หรือโทรทัศน์แบบออนดีมานด์และ IPTV
เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมกับเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ รายงาน “จุดจบรูปแบบโทรทัศน์ยุคปัจจุบัน” ได้แนะนำขั้นตอนที่ผู้ดำเนินธุรกิจโทรทัศน์สามารถเริ่มลงมือทำได้ในขณะนี้ เพื่อความอยู่รอดในสภาพแวดล้อมทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจแบบใหม่ในอนาคต อันประกอบด้วย:
เซกเมนต์ (Segment) : จุดจบของวิธีเข้าถึงตลาดแบบ “หนึ่งชุดสำหรับทุกกลุ่ม” และปรับเปลี่ยนบริการและผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งการผลิตและกระจายสัญญาณสำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่แยกเป็นสองแบบ
สร้างสิ่งใหม่ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ (Innovate) : ยอมเสี่ยงวันนี้เพื่อความสำเร็จในอนาคต และสร้างทางเลือกเพิ่มเติมให้แก่ผู้บริโภค ทั้งในส่วนของผังรายการ ชุดแพ็คเกจ การกำหนดราคา และรูปแบบการกระจายสัญญาณ
การทดลอง (Experiment) : ดำเนินการทดสอบตลาดอย่างต่อเนื่องด้วยตนเองและร่วมมือกับบริษัทคู่ค้า เพื่อศึกษาความต้องการ “ที่แท้จริง” ของผู้บริโภค
การสื่อสารได้ทุกที่ ทุกเวลา (Mobilize) : ให้บริการคอนเทนต์แบบไร้สาย และสร้างคอนเทนต์ที่ต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ใช้สามารถซิงโครไนซ์ระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ และให้บริการที่ใช้งานได้ง่าย
ระบบมาตรฐานเปิด (Open) : บริษัทจะต้องมีเครือข่ายส่งสัญญาณแบบเปิดที่อ้างอิงมาตรฐาน เพื่อปรับปรุงการพัฒนาคอนเทนต์และการแพร่ภาพ และรองรับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้กับธุรกิจและลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับเครือข่าย
ปรับองค์กร (Re-organize) : ประเมินทรัพยากรที่มีอยู่ในองค์กรธุรกิจ และระบุความสามารถหลักที่จำเป็นสำหรับการสร้างข้อได้เปรียบด้านการแข่งขันในอนาคต สำหรับส่วนที่ไม่ใช่ความสามารถหลัก ให้ผนวกรวม ร่วมมือกับคู่ค้า หรือใช้บริการเอาต์ซอร์สจากบริษัทอื่น
เกี่ยวกับสถาบันเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม
IBM Institute for Business Value ทำหน้าที่พัฒนาข้อมูลเชิงลึกทางด้านกลยุทธ์ที่อ้างอิงข้อเท็จจริงในประเด็นเฉพาะทางอุตสาหกรรมที่สำคัญและประเด็นทั่วๆ ไปของอุตสาหกรรม เพื่อนำเสนอต่อผู้บริหารธุรกิจระดับสูง งานวิจัยชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของฝ่ายบริการที่ปรึกษาด้านธุรกิจ (Global Business Services) ของไอบีเอ็มในการนำเสนอข้อมูลการวิเคราะห์และทัศนคติที่ช่วยสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้อย่างแท้จริง รายงานสำหรับผู้บริหารฉบับนี้อ้างอิงจากการสัมภาษณ์บุคคลเป็นจำนวนมาก ทั้งผู้บริหารในอุตสาหกรรม, นักวิเคราะห์, นักเศรษฐศาสตร์ และผู้ที่มีวิสัยทัศน์ทางเทคโนโลยีภายในและภายนอก สำหรับรายงานประเด็นเฉพาะนี้ ไอบีเอ็มมอบหมายให้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐศาสตร์ (Economist Intelligence Unit) ในยุโรป, เอเชีย และอเมริกาเหนือดำเนินการสัมภาษณ์ผู้บริหารในอุตสาหกรรมโทรทัศน์เพื่อวิจัยเบื้องต้น
เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โดย บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
คุณอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ โทร 02-273-4117 อีเมล์ : onumav@th.ibm.com