กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--สำนักงานสื่อสารองค์กร เครือซิเมนต์ไทย
มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ จับมือภาคีกัลยาณมิตรทางธรรมทั้งภาครัฐและเอกชนจัดตั้งหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ หรือ “สวนโมกข์กรุงเทพฯ” ณ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ จตุจักร) เป็นศูนย์เรียนรู้และบริการด้านศาสนธรรม (Spiritual Fitness & Edutainment Center) เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมสนับสนุนการจัดตั้ง เพื่อขับเคลื่อนให้พลังพุทธธรรม นำพาความถูกต้องและสันติสุขทั้งทางกาย จิตใจ และปัญญาให้กลับคืนสู่สังคมมนุษยชาติ พร้อมเปิดปลายปีหน้า
ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์เกษม วัฒนชัย ประธานคณะกรรมการจัดตั้งหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ประธานคณะกรรมการสนับสนุนทุนจัดตั้งฯ และนายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช กรรมการและเลขานุการมูลนิธิหอจดหมายเหตุฯ ร่วมแถลงข่าวและลงนามความร่วมมือสนับสนุนการจัดตั้งหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือสวนโมกข์ที่กรุงเทพฯ ร่วมกับภาคีกัลยาณมิตรทางธรรมทั้งภาครัฐและเอกชน โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สร้างถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อปี 2549 และโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้และบริการด้านศาสนธรรม (Spiritual Fitness & Edutainment Center) เป็นหอจดหมายเหตุดิจิตอล (Digital Archives) ที่สมบูรณ์ ซึ่งรวบรวม ดูแล รักษา และอนุรักษ์ผลงานเอกสารต้นฉบับและสื่อการศึกษาของท่านพุทธทาส ให้สามารถใช้งานได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนมุ่งให้บริการ และสนับสนุนการศึกษา ค้นคว้าวิจัย พัฒนา เผยแผ่และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านศาสนธรรม รวมทั้งจัดกิจกรรมเสริมสร้างสติปัญญาและจิตใจให้เกิดประโชน์สูงสุดแก่สาธารณชน ดังมรดกธรรมที่ท่านพุทธทาสฝากไว้ว่า “สวนโมกข์คือสถานที่ให้ความสะดวกในการเป็นเกลอกับธรรมชาติ ทั้งฝ่ายจิตและฝ่ายวัตถุ ควรจัดให้มีทุกแห่งหน เพื่อการศึกษาโดยตรง เพื่อการรู้จักกฎของธรรมชาติ และเพื่อการชิมรสของธรรมชาติจนรู้จักธรรมชาติ ซึ่งล้วนแต่ช่วยให้เข้าใจธรรมะได้โดยง่าย”
การจัดตั้งหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ได้เตรียมการมาตั้งแต่ปี 2547 เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา บนเนื้อที่ 8,000 ตารางเมตร ณ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ จตุจักร) กรุงเทพฯ ซึ่งมีบรรยากาศสงบ ร่มรื่น รายล้อมด้วยธรรมชาติ เหมาะแก่การศึกษาธรรม เพื่อพัฒนาจิตใจและปัญญา รูปแบบอาคารเน้นความเรียบง่ายและประโยชน์ใช้สอย ประกอบด้วยลานหินโค้งและสระนาฬิเกร์ที่จำลองจากสวนโมกข์ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ห้องบริการหนังสือและสื่อธรรม ห้องค้นคว้า ห้องนิทรรศการ “มหรสพทางวิญญาณเพื่อนิพพานชิมลอง” ห้องประชุมสัมมนา สถานกิจกรรมและปฏิบัติสมถวิปัสสนา และห้องปฏิบัติการจดหมายเหตุ และที่สำคัญ เป็นสถานที่จัดเก็บผลงานของท่านพุทธทาส
ทั้งหนังสือ บันทึกและลายมือต้นฉบับ จำนวน 575,000 หน้า ภาพ 51,300 ชิ้น เสียงและโสตทัศน์ 234 แผ่น โดยการจัดการควบคุมดูแลทุกขั้นตอนของผู้เชี่ยวชาญด้านจดหมายเหตุและเทคโนโลยีสารสนเทศตามหลักจดหมายเหตุสากล
หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ จะเปิดบริการเต็มรูปแบบได้ในเดือนพฤศจิกายน 2552 ซึ่งประชาชนจะสามารถใช้บริการ ค้นคว้าวิจัยศาสนธรรม ทั้งที่หอจดหมายเหตุและทาง Website เข้ารับการอบรมปฏิบัติธรรม จัดกิจกรรม หรือเสวนาในวันสุดสัปดาห์ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาเข้าเยี่ยมชมนิทรรศการเพื่อสัมผัสและเรียนรู้หลักธรรมคำสอนของท่านพุทธทาสอย่างกว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายในการสืบสานงานพระพุทธศาสนาผ่านงาน ปณิธาน และอุดมการณ์ของพุทธทาสภิกขุ ในการนำพาความถูกต้องและสันติสุข ทั้งทางกาย จิตใจ และปัญญาให้กลับคืนสู่สังคมมนุษยชาติ
การจัดตั้งสวนโมกข์ที่กรุงเทพฯ เกิดขึ้นจากความร่วมแรงร่วมใจของภาคีกัลยาณมิตรทางธรรมต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน คณะบุคคล ชุมชน มูลนิธิ โดยกรุงเทพมหานครเอื้อเฟื้อสถานที่จัดตั้ง หน่วยงานที่ร่วมสนับสนุนทุนประเดิมในการก่อสร้าง อาทิ กระทรวงวัฒนธรรม, เครือซิเมนต์ไทย (SCG),นพ.ชัยยุทธ-ม.ร.ว.พรรณจิตร กรรณสูต, ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), บริษัท หลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) และ สุธีรัตนามูลนิธิ นครศรีธรรมราช ร่วมด้วยภาคีกัลยาณมิตรทางธรรมอีกมากมาย ที่มีส่วนร่วมสนับสนุนด้านการสำรวจ ออกแบบ และบริหารจัดการการก่อสร้าง ระบบการบริหารจัดการ สื่อสารประชาสัมพันธ์ การก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง การพัฒนาระบบฐานข้อมูล ฯลฯ
ขอเชิญชวนประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดตั้งหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือ “สวนโมกข์กรุงเทพฯ” โดยร่วมเป็นอาสาสมัครสนับสนุนกิจกรรมด้านต่างๆ หรือสมทบทุนการก่อตั้งและทุนสนับสนุนการดำเนินการ ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ โทร 02-305-9589-90, 085-960- 9555 email:buddhadasa_archives@yahoo.com หรือ www.bia.or.th