กระทรวงการคลังและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

ข่าวทั่วไป Monday September 29, 2008 09:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นหลายจังหวัดของประเทศไทย และมีผู้ที่ได้รับความสียหายทั้งในด้านพื้นที่เกษตรกรรม การประกอบอาชีพ และที่อยู่อาศัย เป็นจำนวนมาก กระทรวงการคลังจึงร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 8 แห่ง เตรียมมาตรการเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย สรุปได้ดังนี้
1 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
เกษตรกรที่ประสบภัยอย่างร้ายแรงโดยได้รับความเสียหายไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ธ.ก.ส. จะให้ความช่วยเหลือดังนี้
หนี้เงินกู้เดิมที่มีอยู่ก่อนประสบภัย ให้ความช่วยเหลือโดยขยายเวลาการชำระหนี้เงินกู้เป็นเวลา 3 ปี และงดคิดดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปีบัญชี 2551-2553
เงินกู้ใหม่เพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้ความช่วยเหลือโดย ให้เงินกู้รายละไม่เกิน 100,000 บาท และลดดอกเบี้ยเงินกู้จากอัตราปกติที่ธนาคารเรียกเก็บจากเกษตรกรลูกค้าร้อยละ 3 ต่อปี เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี พร้อมกับกำหนดชำระหนี้ตามความสามารถของลูกค้า และลดหย่อนหลักประกันการกู้เงิน
สำหรับเกษตรกรที่เสียชีวิต ธ.ก.ส. จะตัดจำหน่ายจากบัญชี
2 ธนาคารออมสิน
ลูกค้าเดิมและไม่มีหนี้ค้างชำระในงวดปัจจุบันที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเคหะ สินเชื่อธุรกิจห้องแถว สินเชื่อธนาคารประชาชน สินเชื่อเพื่อพัฒนาชนบท (สพช.) สินเชื่อเพื่อพัฒนาชนบทสำหรับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สินเชื่อเพื่อพัฒนาชนบทโครงการ SML สินเชื่อเพื่อซ่อมแซมหรือต่อเติมที่อยู่อาศัยของสมาชิกองค์กรชุมชน สินเชื่อธนาคารประชาชนแบบกลุ่ม และสินเชื่อเคหะเพื่อสมาชิก สพช. ให้ความช่วยเหลือโดย
1) ปลอดชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน กรณีมีผลกระทบรุนแรงให้ปลอดชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยได้เป็นเวลาไม่เกิน 1 ปี
2) ขยายระยะเวลาชำระหนี้ได้ไม่เกิน 6 เดือน กรณีมีผลกระทบรุนแรงให้ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ได้เป็นเวลาไม่เกิน 1 ปี ทั้งนี้ยกเว้นสินเชื่อเคหะ
3) ลูกค้าสินเชื่อโครงการธนาคารประชาชนปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 1 ต่อเดือนเป็นร้อยละ 0.50 ต่อเดือน
ประชาชนทั่วไปทั้งที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเดิมและลูกค้าสินเชื่อใหม่ ให้ความช่วยเหลือโดย
1) สินเชื่อรายย่อยเอนกประสงค์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น วงเงินกู้ไม่เกิน 5,000 บาท โดยใช้บุคคลค้ำประกัน ปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 1 ต่อเดือน เป็นร้อยละ 0.50 ต่อเดือน ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 18 เดือน
2) สินเชื่อบำรุงขวัญ เพื่อนำไปซ่อมแซมทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหาย (วงเงินกู้ตามความจำเป็นและเหมาะสม) โดยวงเงินกู้ไม่เกินรายละ 100,000 บาท โดยใช้บุคคลค้ำประกัน และหรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ MLR-1.75% ต่อปี
3. ธนาคารอาคารสงเคราะห์
กรณีลูกหนี้เดิม ให้ความช่วยเหลือ ดังนี้
- ลดภาระหนี้ที่ผ่อนชำระ ดังนี้
ปีที่ 1 เดือนที่ 1-3 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0
เดือนที่ 4-6 คิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับร้อยละ 1.00 ต่อปี และผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ย
เดือนที่ 7-12 คิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-2% ต่อปี
ปีที่ 2-3 คิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-2% ต่อปี
ปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญา คิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-0.50% ต่อปี
- ส่วนที่กู้เพิ่มเพื่อต่อเติมซ่อมแซมอาคาร
ปีที่ 1 เดือนที่ 1-3 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0
เดือนที่ 4-12 คิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-3% ต่อปี
ปีที่ 2-3 คิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-2% ต่อปี
ปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญา คิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-0.50% ต่อปี
กรณีกู้ใหม่
ปีที่ 1 เดือนที่ 1-3 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0
เดือนที่ 4-12 คิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-2% ต่อปี
ปีที่ 2-3 คิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-2% ต่อปี
ปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญา คิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-0.50% ต่อปี
4. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
พักชำระหนี้เงินต้นและหรือเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยไม่เกิน 12 เดือน ตามประเภทธุรกิจ
วงเงินฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการตามความเสียหายจริง แต่ไม่เกินรายละ 500,000 บาท วงเงินรวม 200 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MLR ระยะเวลา 5 ปี Grace Period ไม่เกิน 1 ปี
5. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
จากการสำรวจของธนาคารในเบื้องต้น ยังไม่พบลูกค้าได้รับความเสียหายจากอุทกภัยครั้งนี้ อย่างไรก็ดี ธนาคารเตรียมวงเงินหมุนเวียน (Working Capital) 3,000 ล้านบาท เพื่อให้ลูกค้ามีสภาพคล่องในการผลิตสินค้าอย่างต่อเนื่อง และจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม ดังนี้
พิจารณาอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ โดยลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 จากดอกเบี้ยที่ได้รับอยู่ในปัจจุบันเป็นเวลา 6 เดือน
พิจารณาให้ลูกค้าปลอดชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือน
6. ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
จากการสำรวจของธนาคารในเบื้องต้น ยังไม่พบลูกค้าได้รับความเสียหายจากอุทกภัยครั้งนี้ อย่างไรก็ดี หากลูกค้าเดิมต้องการความช่วยเหลือ ธนาคารจะพิจารณาดังนี้
ลดจำนวนเงินผ่อนชำระในระยะแรก 1 ปี
ลดจำนวนเงินผ่อนชำระและขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ
ลดอัตรากำไรจากร้อยละ 8-9 เหลือร้อยละ 6 ในปีแรก และพิจารณาเป็นรายปีในปีต่อไป
7. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม
ลดค่าธรรมเนียมค้ำประกันสำหรับลูกค้าเดิมของ บสย. ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย และถึงกำหนดชำระค่าธรรมเนียมต่ออายุการค้ำประกันตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 51 ถึง 31 มี.ค. 52 โดยลดค่าธรรมเนียมจากอัตราร้อยละ 1.75 ต่อปี เหลืออัตราร้อยละ 1.00 ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน ส่วน 6 เดือนหลังและปีต่อไปเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 1.75 ต่อปี
มาตรการการให้ความร่วมมือกับสถาบันการเงินที่ลูกค้าได้รับค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย. ในการผ่อนปรนเรื่องการพักชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย รวมทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้กิจการสามารถดำเนินต่อไปตามปกติ
มาตรการค้ำประกันสินเชื่อเพิ่ม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และจะขอสินเชื่อเพิ่มเติมจากสถาบันการเงินเพื่อใช้ฟื้นฟูกิจการ โดยจะคิดค่าธรรมเนียม 6 เดือนแรกในอัตราพิเศษร้อยละ 1.00 ต่อปี ของวงเงินค้ำประกัน สำหรับ 6 เดือนหลังและปีต่อไปเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 1.75 ต่อปี ตามเดิม และกำหนดวงเงินค้ำประกันสูงสุดต่อรายไม่เกิน 2,000,000 บาท
8. บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย
ให้พักชำระหนี้ไม่เกิน 3 เดือน แก่ลูกค้าผู้ได้รับความเสียหายจริงจากสถานการณ์อุทกภัยครั้งนี้
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังและสถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 8 แห่ง จะกำกับดูแลให้การดำเนินมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวเป็นไปอย่างมีคุณภาพ เข้าถึงความต้องการของผู้เดือดร้อนอย่างแท้จริง ในขณะเดียวกันยังคงไว้ซึ่งความมั่นคงทางการเงินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ