กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--สนพ.
สนพ.ร่วมสนับสนุนจัดประชุมวิชาการนานาชาติแก้วิกฤตพลังงาน หวังแลกเปลี่ยนข้อมูลและพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน-สิ่งแวดล้อมของไทย
นายชวลิต พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักวิเคราะห์แผนพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากปัญหาวิกฤตพลังงานในปัจจุบันทำให้มีทางเลือกการใช้พลังงานอย่างจำกัด จึงจำเป็นต้องใช้พลังงานที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพทั้งการเลือกใช้แหล่งพลังงานที่คุ้มค่าและการแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูง อย่างไรก็ตามการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ แต่ต้องมีการพัฒนามาตรการและเครื่องมือเชิงนโยบายเพื่อการแก้ไขปัญหาทั้งวิกฤตระยะสั้นและปัญหาความยั่งยืนด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมในระยะยาวด้วย
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีมีประสิทธิภาพ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จึงให้การสนับสนุนบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสถาบันเครือข่ายทางวิชาการ ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น จัดประชุมวิชาการเรื่อง Sustainable Energy and the Environment : Technology and Policy Innovations หรือ SEE 2006 ในระหว่างวันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2549 ณ โรงแรม Swissotel Nai Lert Park กรุงเทพฯ การจัดประชุมในครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลการพัฒนาเทคโนโลยีและความรู้ใหม่ รวมถึงพัฒนาผลงานทางวิชาการด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งหวังการแก้ไขปัญหาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคแบบยั่งยืน
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต ฟุ้งธรรมสาร ผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดประชุม เปิดเผยว่า การประชุมนานาชาติในครั้งนี้มีกลุ่มประเทศที่เข้าร่วมประชุม ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา จีน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ปากีสถาน เยอรมัน และประเทศเพื่อนบ้าน จำนวนประมาณ 300 คน ซึ่งการจัดประชุมดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางของโลกปัจจุบันที่มุ่งเน้นการนำศาสตร์ของสังคม เศรษฐศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้กับความต้องการพลังงานในรูปแบบต่างๆ เพื่อความยั่งยืนในอนาคต การประชุมวิชาการนานาชาติดังกล่าวจัดขึ้นเป็นประจำทุก 2 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา
การจัดประชุมวิชาการนี้นอกจากจะช่วยให้นักวิชาการนักวิจัยไทยด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อม ได้มีโอกาสเผยแพร่งานวิจัยในระดับสากลและรับทราบความก้าวหน้าของงานวิจัยด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคแล้ว ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ทางวิชาการและแลกเปลี่ยนประสบการณ์งานวิจัยระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานวิจัยร่วมกันต่อไปด้วย