กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--สสวท.
วันนี้จะพาคุณหนู ๆ ตามไปดูละครเรื่อง "ดู...ดู๊...ดู ดูคนทำ ทำไมถึงทำกับโลกได้" โดยจัดแสดงรอบปฐมทัศน์ ไปเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา ณ ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ฯ (เอกมัย) เยาวชนที่ได้มาเข้าชมการแสดงรอบปฐมทัศน์ ได้แก่น้อง ๆ จากโรงเรียนดาราคาม โรงเรียนปทุมคงคา และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
ก่อนที่จะเปิดการแสดง ผศ. พงษ์ ทรงพงษ์ จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มาเกริ่นนำเบื้องต้น ให้แก่เด็ก ๆ ถึงที่มาของการเกิดภาวะโลกร้อน อาจารย์พงษ์เล่าให้ฟังว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกมีวิวัฒนาการมาเป็นเวลานานแล้ว วัฏจักรการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกิดทุก ๆ 100,000 ปี สลับกันไปมาระหว่างยุคน้ำแข็งประมาณ 80,000 ปี และยุคที่น้ำแข็งเริ่มละลายซึ่งกินเวลาอีกประมาณ 20,000 ปี ก่อนโลกจะเข้าสู่ยุคน้ำแข็งอีกครั้งหนึ่ง ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกคือ แสงแดดจากดวงอาทิตย์ ซึ่งโลกจะมีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ไม่คงที่ บ้างโคจรเป็นวงกลม โลกก็จะได้รับพลังงานสม่ำเสมอและเกิดความอบอุ่น ขณะที่บางเวลาก็จะโคจรเป็นวงรี ทำให้โลกได้รับพลังงานน้อยลงและกลับเข้าสู่ยุคน้ำแข็งอีกครั้ง
นอกจากนั้น โลกยังมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะคล้ายการผงกศีรษะขึ้นลง 1 -2 องศา ทำให้แกนโลกเอียง และส่ายไปรอบๆ แกนที่ตั้งฉากกับดวงอาทิตย์ คล้ายลูกข่างเป็นคาบ ๆ ละประมาณ 26,000 ปี ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกมนุษย์ก็ถือเป็นตัวการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรวดเร็วมากที่สุด โดยเฉพาะการขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิล ส่งผลให้คาร์บอนใต้ผิวดินกลับขึ้นมาหมุนเวียนสู่ชั้นบรรยากาศจำนวนมาก รวมไปถึงการตัดไม้ทำลายป่าซึ่งเป็นตัวรักษาความชุ่มชื้นของอากาศให้หมดไป ตลอดจนการก่อสร้างตึกอาคาร และการใช้พลังงานอย่างมหาศาล ที่ส่งผลถึงสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่พบแล้ว เช่น ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.2 -1.8 องศาเซลเซียส และข้อกังวลว่าธารน้ำแข็งขั้วโลกเหนือจะหดตัวลงมาก จนส่งผลถึงแหล่งต้นน้ำตามธรรมชาติของประเทศซีกโลกเหนือตอนบนที่อาจขาดแคลนแหล่งน้ำอุปโภค —บริโภคได้ในอนาคต อีกทั้งเกรงว่าน้ำแข็งที่ละลายจะไหลลงสู่ทะเลทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเฉลี่ย 1.8 มิลลิเมตรต่อปี
อาจารย์พงษ์ให้เด็ก ๆ ดูภาพของหมีขาวที่อาศัยอยู่บริเวณขั้วโลกเหนือ เมื่อน้ำแข็งขั้วโลกละลายมากขึ้น จึงล่าแมวน้ำได้ลำบากกว่าเดิมมาก ทำให้จำนวนของหมีขาวลดลงเรื่อย ๆ โดยระบุว่าหมีขาวเป็นสัตว์ชนิดแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อเด็ก ๆ ได้รับความรู้เบื้องต้นที่เป็นการปูพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับโลกร้อนแล้ว การแสดงก็เปิดม่านขึ้น ก็จะได้พบกับสัตว์ต่างๆ ได้แก่ กบ กระต่าย ช้าง เต่า นกฮูก และหมีขาว พยายามจะทำความเข้าใจถึงสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่มนุษย์เรียกว่า "โลกร้อน" ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตทั้งโลก เจ้ากระต่ายตื่นตูม ไปแอบได้ยินมาว่า โลกของเราจะเกิด “ปรากฏการณ์เรือนจิ้งจก” จิ้งจกจะแพร่พันธ์มากขึ้นและยึดครองโลก พ่นไฟใส่โลก โลกก็จะแตกเป็นเสี่ยง ๆ แล้วโลกก็จะไหม้เกรียมแต่ก็เปล่าหรอก เจ้านกฮูกมาเฉลยว่า แท้จริงแล้ว ปรากฏการณ์ที่ว่านั้น เรียกว่า “ปรากฏารณ์เรือนกระจก” ก็คือ การที่มีก๊าซต่าง ๆ ปกคลุมชั้นบรรยากาศอยู่เป็นจำนวนมาก เหมือนผ้าห่มหนา ๆ ห่มโลกไว้
ความร้อนของโลกก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในละคร ได้กล่าวถึงก๊าซอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโลกร้อน เช่น CO2 หรือคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน โอโซน CFC ไนตรัสออกไซด์ ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน เรียกรวม ๆ ว่าก๊าซเรือนกระจกนั่นเอง
คุณนกฮูกผู้คงแก่เรียน ได้เสนอแนะแนวทางไว้ว่า ถ้าหากมนุษย์หยุดการใช้พลังงานที่ก่อให้เกิดก๊าซต่าง ๆ เหล่านี้ เช่น พลังงานไฟฟ้า น้ำมันที่เกิดจากการเผาไหม้ ลดการยึดติดความสะดวกสบายจากการใช้เครื่องปรับอากาศ ก็เป็ทางหนึ่งที่ช่วยโลกได้ส่วนคุณหมีขาวเอง ก็พบกับความเดือดร้อน จึงต้องมาขอความช่วยเหลือด้วย
ละครเรื่องนี้จึงสื่อให้เห็นว่าปัญหาโลกร้อนเป็นของทุกคนทุกชีวิตที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ ไม่ใช่แค่ใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แล้วก็ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกชีวิตบนโลกใบนี้ สำหรับบทก็ใช้ภาษาที่สื่อสารให้คนดูสามารถเข้าใจได้ง่าย เป็นละครที่สามารถดูได้ทุกวัย หลังจากจบการแสดง ซึ่งทิ้งท้ายให้ผู้ชมได้นำไปคิดต่อ อ. ราม ติวารี นักวิชาการ สสวท. หัวเรือใหญ่ในการจัดกิจกรรมนี้ และ ผศ. พงษ์ ทรงพงษ์ ได้จัดกิจกรรมตอบคำถามชิงรางวัลเกี่ยวกับการแสดงที่จบไป โดยความยากง่ายของคำถามก็ขึ้นอยู่กับระดับชั้นของผู้ชม
สำหรับน้อง ๆ ประถมศึกษาจากโรงเรียนดาราคาม ก็ได้คำถามประมาณว่า ผ้าห่มที่ห่มโลกไว้ทำจากอะไร ก๊าซ CO2 คืออะไร โลกได้รับความร้อนจากอะไร ฯลฯ
ส่วนพี่ ม. ปลาย อย่างโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ก็ได้คำถามปราบเซียน ซึ่งต้องใช้ไหวพริบและความรวดเร็วในการคำนวณ แต่ก็สามารถตอบผ่านฉลุย และได้รางวัลกลับไปคำถามที่ตั้งขึ้น ช่วยให้ผู้ชมทุกคนได้ฝึกคิดตามไปด้วย และร่วมลุ้นคำตอบกันอย่างสนุกสนานละครโลกร้อน "ดู...ดู๊...ดู ดูคนทำ ทำไมถึงทำกับโลกได้" เกิดขึ้นเนื่องจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ร่วมดำเนินการโครงการเสริมสร้างความเข้าใจวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรมการเรียนรู้สำหรับโลกอนาคตแก่สาธารณชน เพื่อกระตุ้นให้สังคมตื่นตัวต่อการการรับรู้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้สังคมตื่นตัวต่อการรับรู้ข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์ผ่านกิจกรรมการแข่งขันการแสดงทางวิทยาศาสตร์ (Science Show) และละครวิทยาศาสตร์ (Science Drama) และเปิดโอกาสให้เยาวชนในระดับโรงเรียน ตั้งแต่ประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลายเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ โดยไม่จำกัดเฉพาะเด็กที่ถนัดทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากวิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์เพื่อชีวิต และเป็นวิทยาศาสตร์สำหรับทุกคน ไม่ใช่วิทยาศาสตร์สำหรับบางคน
รศ. พฤทธิ์ ศุภเศรษฐศิริ ผู้อำนวยการวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า การดำเนินงานช่วงแรกในโครงการนี้ ได้มีการจัดอบรมครูวิทยาศาสตร์ภาคใต้ด้านการแสดงละครวิทยาศาสตร์ ที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ค่ายพระรามหก จังหวัดเพชรบุรี เมื่อเดือนกรกฎาคม 2551
การแสดงละครนั้นมีหลายมิติ “ละครวิทยาศาสตร์ที่มาจัดแสดงครั้งนี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ ซึ่งเป็นการให้แนวทางในการจัดทำละครวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเห็นว่า การจัดทำละครวิทยาศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องใช้ฉากสมจริงเหมือนอย่างในภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายเยอะ ละครเรื่องนี้เป็นละครสำหรับเยาวชน จึงมี
การจัดทำฉากง่าย ๆ เป็นเหมือนฉากในการ์ตูนเด็ก ชุดของตัวละครก็เน้นสีสัน ชัดเจน นอกจากจะให้ความสนุกสนานเฮฮาในช่วงสั้น ๆ แล้วก็ยังสอดแทรกความรู้เข้าไปอย่างไม่น่าเบื่อ”
อาจารย์วราภรณ์ ต วัฒนผล นักวิชาการสาขา พสวท. และ สควค. จากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ผู้สวมบทบาทเป็น “นกฮูก” ชอบอ่านหนังสือ และมาใก้ความรู้แก่ผู้ชม เล่าว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้มีโอกาสเป็นตัวแทนของ สสวท.ในการ เผยแพร่ความรู้ในรูปแบบใหม่ๆ ให้แก่เยาวชน และดีใจที่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างความตระหนักทางด้านวิทยาศาสตร์ “การที่ได้รับบทพี่นกฮูกอาจจะเป็นเพราะบุคลิกเราดูดุ ๆ แล้วก็มีความเป็นนักวิชาการ นกฮูกในเรื่องมีความรอบรู้ และจะศึกษาหาความรู้จากการอ่านหนังสือ ไม่เชื่ออะไรใครง่ายๆ เป็นตัวแทนในการให้เนื้อสาระที่เป็นวิชาการที่ถูกต้องกับเด็ก ๆ เวลาทั้งหมดที่ใช้ในการฝึกซ้อมละคร เป็นเวลาหลังเลิกงานประจำแล้ว กว่าจะเลิกซ้อมก็ค่ำมากๆ นกฮูกมีปัญหาเรื่องการท่องจำบทบ้างในระยะแรกๆ เพราะบทนกฮูกมีเนื้อหาวิชาการเป็นหลัก และบทยาวมาก ดังนั้น พอกลับถึงบ้านก็ต้องพยายามซ้อมเพิ่มเติม แต่วันที่แสดงจริงก็ถือว่าดีกว่าที่คาดไว้เยอะค่ะ สำหรับการแสดงครั้งแรกกับทีมงานมืออาชีพ
นอกจากนั้นผู้รับบทนกฮูก ยังกล่าวว่า “สิ่งที่ผู้ชมจะได้รับจากการดูละครอย่างแรกก็คือความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับปรากฏการณ์โลกร้อน และตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนว่าเป็นของทุกชีวิตบนโลกใบนี้ อย่างที่สองก็หวังว่าทางโรงเรียนจะได้นำรูปแบบของการเผยแพร่ความรู้แนววิทยาศาสตร์ในแบบละครเวทีไปประยุกต์ใช้
ในโรงเรียน และนอกเหนือจากการได้รับความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาทางวิชาการแล้ว ก็คงเป็นความสนุกสนาน ความเพลิดเพลินไปกับลีลาความน่ารักของผู้แสดงด้วย”
ทั้งนี้ สสวท. และวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม ได้จัดแสดงละครวิทยาศาสตร์เรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับการทำละครวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะจัดให้มีการประกวดในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ ควบคู่ไปกับความสนุกสนาน ทำให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่สนุก น่าเรียน น่าค้นหา รวมทั้งสร้างความตระหนักให้ผู้ชม รวมทั้งนักเรียนสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้นจากการเรียนรู้ผ่านละครหลังจากการแสดงรอบปฐมทัศน์แล้ว สสวท. ได้จัดการแสดงละครวิทยาศาสตร์เรื่องนี้อีกครั้งในวันที่ 23 กันยายน 2551 ณ หอประชุมชั้น 2 อาคารวิจัยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และที่ TK PARK ในวันที่ 28 กันยายน 2551
ส่วนการแสดงครั้งต่อไป จะจัดขึ้นอีกเมื่อใดนั้น โปรดติดตามได้ในเว็บไซต์ สสวท. www.ipst.ac.th หรือถ้าหากสนใจการแสดงดังกล่าว ติดต่อที่ อ.ราม ติวารี โทร.081-610-1276