“กระจกหกด้าน” ฉลองก้าวสู่ปีที่ 27 จัดงานใหญ่ประกวดบทสารคดีชิงเงินแสน

ข่าวบันเทิง Monday September 29, 2008 12:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--ทริลเลี่ยนส์
เมื่อเอ่ยถึง รายการสารคดี....มีคุณภาพ คงไม่มีใครปฏิเสธรายการสารคดีสั้นที่อยู่คู่ทีวีไทยมาช้านานอย่าง....รายการ “กระจกหกด้าน” ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษ รายการนี้ได้นำเสนอความรู้แขนงต่างๆในรูปแบบสารคดีสั้นออกสู่สาธารณชน ด้วยอุดมการณ์และปรัชญาที่ว่า ความรู้คู่คุณธรรม และเพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสที่ รายการสารคดีกระจกหกด้าน” ก้าวสู่ปีที่ 27 จึงได้จัดโครงการประกวดบทสารคดีชิงเงินรางวัล พร้อมกับผู้ชนะได้มีส่วนร่วมในการผลิตรายการสารคดีกระจกหกด้าน” ต่อไป
โดยโอกาสนี้ คุณอลงค์กร จุฬารัตน์ กก.ผจก.บริษัท ทรีไลอ้อนส์ จำกัด และ รอง ผอ.ฝ่ายการตลาด บริษัท ทริลเลี่ยนส์ จำกัด ผู้บริหารรายการสารคดีกระจกหกด้าน” ผู้เป็นทายาทเจ้าของน้ำเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ คุณสุชาดี มณีวงศ์ ผู้บรรยายสารคดี และ ผู้ก่อตั้งบุกเบิกรายการกระจกหกด้าน ได้เปิดเผยถึงการจัดกิจกรรมใหญ่ในครั้งนี้ว่า...........“ รายการสารคดีกระจกหกด้าน เป็นสารคดีประเภทปกิณกะ ความยาว 15 นาที เราได้ออกอากาศครั้งแรกทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เมื่อ ปี พ.ศ.2526 โดยรายการแรกที่ผลิตออกอากาศเป็นสารคดีสั้นความยาวประมาณ 1-5 นาที คือ เรื่อง”โลกสีเขียว” ซึ่งได้รับรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมรายการแรกของประเทศไทย จากนั้นเราก็ผลิตสารคดีสั้นอีกหลายต่อหลายเรื่อง ต่อมาก็ผลิตสารคดีประเภทจบในตอน กว่า สามพันเรื่อง ที่ออกอากาศมาแล้วกว่า 20 ปี และ ปัจจุบันเราก็ยังคงผลิตสารคดีออกอากาศอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน.....
จะเรียกได้ว่ารายการกระจกหกด้าน...เปรียบเสมือนแหล่งขุมพลังทางปัญญาสำหรับสังคมไทยได้เลย และกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา รายการสารคดีโทรทัศน์บ้านเราได้เปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่างๆ แต่ก็เป็นไปในทางที่ดีขึ้น มีการพัฒนารูปแบบรายการการนำเสนอมากขึ้น และเพื่อเป็นการฉลองการก้าวสู่ปีที่ 27 พร้อมทั้งส่งเสริมนิสิตนักศึกษาและประชาชนทั่วไปให้ได้มีโอกาสสร้างสรรค์ผลงานบทสารคดีที่มีคุณภาพ ทางรายการจึงได้จัดทำโครงการประกวดบทสารคดีชิงเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 1 แสนบาท ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ กลุ่มนิสิต-นักศึกษา และ กลุ่มประชาชนทั่วไป ซึ่งก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก มีผู้ที่ส่งสารคดีเข้าประกวดในกิจกรรมครั้งนี้ ทั้ง 2 ประเภท รวมกันนับร้อยเรื่อง ทางเราทำการคัดเลือกออกมาโดยแบ่งรางวัลออกเป็น 1 — 3 และ รางวัลชมเชย รวมทั้งหมด 10 เรื่อง พร้อมกันนี้เรายังจะนำบทสารคดีที่ชนะการประกวดทั้ง 10 เรื่องนี้ มาผลิตเป็นสารคดีจริง โดยให้ผู้เขียนแต่ละท่านเข้ามามีส่วนร่วม เช่น เป็นโปรดิวเซอร์เอง ให้เข้าไปผลิต ไปถ่ายทำ โดยมีเจ้าหน้าที่ของทางบริษัทฯ คอยให้คำแนะนำปรึกษา หลังจากถ่ายทำเสร็จ ก็ให้เข้ามาดูการตัดต่อที่บริษัทฯ และ ให้รางวัลเขาอีกครั้ง
การจัดกิจกรรมครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของเราที่จัดขึ้น ซึ่งแนวโน้มในปีต่อๆ ไป เรายังจะจัดโครงการประกวดสารคดีต่อไปอีก เพื่อจะได้เป็นการสร้างคนรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมาช่วยกันพัฒนางานสารคดีที่ดีมีคุณภาพให้อยู่คู่สังคมไทยต่อไปในอนาคต เลยอยากจะฝากถึงน้องๆ ที่จะเข้าร่วมประกวดในปีต่อๆไปว่า .... จินตนาการคนไทยเราไม่ด้อยกว่าต่างชาติ การเขียนเป็นจินตนาการอย่างหนึ่ง สามารถวาดสิ่งที่เราคิดออกมาได้ ถ้ามีความฝัน งานเขียนก็ตอบโจทย์ความต้องการของเราได้ ถ้าหมั่นเขียนบ่อยๆ จะทำให้เรารู้ข้อบกพร่องมากขึ้น โดยเฉพาะการเขียนที่ต้องหาข้อมูลประกอบจะทำให้ได้ประโยชน์ด้านอื่นๆ เพิ่มขึ้น เขียนแล้วอ่านเองไม่พอ ต้องให้ผู้อื่นอ่านด้วย และช่วยแนะนำ จะได้นำมาพัฒนางานเขียนของเราให้ดีขึ้น ” คุณอลงค์กรกล่าวทิ้งท้าย
รายชื่อผู้ที่ได้รับรางวัลในโครงการประกวดบทสารคดีของรายการกระจกหกด้าน ทั้งประเภทนิสิตนักศึกษา และ ประเภทประชาชนทั่วไป ได้แก่
ประเภทนิสิตนักศึกษา
นางสาว นิลญาดา ตู้จินดา คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ / ชนะเลิศ ประเภทนิสิตนักศึกษา กล่าวถึงเหตุที่เขียนเรื่อง “ชุมชนเก้าเส้ง” เข้าประกวด เนื่องจากเป็นชุมชนแถวบ้านและมองเห็นจุดเด่นของชุมชน คือ มีถึง 3 เชื้อชาติอาศัยอยู่ร่วมกัน มีทั้งไทย จีน และมุสลิม และอาชีพเก่าแก่ของคนแถวนี้เป็นชาวประมง เลยคิดว่าน่าจะนำสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวมาทำเป็นสารคดี ซึ่งตนเองใช้เวลาในการเขียนและรวบรวมข้อมูลประมาณ 1 เดือนเศษๆ โดยมีอาจารย์คอยให้คำแนะนำในการเขียน สำหรับเรื่องที่อยากจะเขียนต่อไปคงเป็นเรื่องเกี่ยวกับชุมชนในจังหวัดสงขลา โดยจะเน้นที่วัฒนธรรมความเป็นอยู่
ว่าแต่ละชุมชนนั้นมีจุดเด่นอย่างไร ส่วนอนาคตนั้นหลังจากเรียนจบแล้ว อยากจะทำงานอยู่เบื้องหลังวงการ เช่น เป็นคนเขียนบทสารคดี เขียนข่าว หรือ เป็นคอลัมนิสต์
นาย ปรเมฐ หัตถสุวรรณ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น / รองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทนิสิตนักศึกษา กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการเขียน เรื่อง “เมล็ดพันธุ์แห่งชีวิต” ว่า
ตอนแรกคิดอยู่นานว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี คิดเท่าไรก็คิดไม่ออก แล้วจู่ๆ ก็ได้ยินเพื่อนบอกว่า หิวข้าวๆ แวบนั้นแหละทำให้เราคิดขึ้นมาได้ว่าน่าจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับข้าว เพราะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด ทุกคนอยู่ได้เพราะทานข้าว ซึ่งตนใช้เวลาในการเขียนและรวบรวมข้อมูลประมาณ 1 อาทิตย์ โดยหาข้อมูลจากหนังสือ และ อินเตอร์เน็ต
นางสาว ศิรประภา เฮงปฐม คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม / รองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทนิสิตนักศึกษา ด้วยเหตุที่เป็นคนชอบต้นไม้ และคิดว่าคนสมัยก่อนมีความเชื่อเรื่องชื่อต้นไม้ที่เป็นมงคล เมื่อปลูกแล้วจะได้เป็นมงคลสมชื่อ จึงเป็นที่มาของการเขียนเรื่อง “พฤกษา นามมงคล” ซึ่งใช้เวลาในการเขียนและรวบรวมข้อมูลประมาณ 2 เดือน ตอนแรกที่เขียนเรื่องเข้าประกวดก็ไม่คิดว่าจะได้รางวัล เพราะแค่ในมหาวิทยาลัยที่ตนเรียนนั้น ก็มีผู้เข้าร่วมประกวดถึง 150 คน แต่หลังจากที่ได้ทราบว่า เรื่องที่เขียนนั้นได้รางวัลก็ดีใจมาก และยังเป็นแรงผลักดันให้เรามีกำลังใจที่จะเขียนเรื่องต่อๆไป ให้ดียิ่งขึ้น ส่วนอนาคตนั้นอยากเป็นคอลัมนิสต์ นักข่าว หรือ ผู้ประกาศประเภทประชาชนทั่วไป
นาย พลกฤษณ์ วสีวิวัฒน์ / ชนะเลิศ ประเภทประชาชนทั่วไป เขียนเรื่อง “ ตลาดโรงเกลือ ” ซึ่งใช้เวลาในการเขียนและรวบรวมข้อมูลประมาณ 1 เดือน โดยหาข้อมูลจากห้องสมุด หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ และหาข้อมูลจากสถานที่จริง ซึ่งก็คือ ตลาดโรงเกลือ นั่นเอง ปัจจุบันกำลังศึกษาปริญญาโท อยู่ที่มหาวิทยาลัยบูรพา ตั้งใจว่าจบมาอยากทำงานด้านวิชาการ ด้านค้นคว้าวิจัย แต่ก็จะทำงานด้านงานเขียนควบคู่กันไปด้วย
นาย นพดล บัวโรย / รองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทประชาชนทั่วไป เขียนเรื่อง “ เกลือ : ขุมทรัพย์ใต้ธรณีอีสาน ” ใช้เวลาในการเขียนประมาณ 20 วัน โดยได้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากหนังสือเรื่อง “ เกลืออีสาน...องค์ความรู้สู่ยุทธศาสตร์การจัดการอย่างยั่งยืน” ปัจจุบันทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
นางสาว อุฬารรัตน์ ทองดี / รองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทประชาชนทั่วไป กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการเขียน เรื่อง “ ล่องเจ้าพระยา สายน้ำแห่งพระนคร ” ว่า ปกติเป็นคนชอบเที่ยว คิดว่าน่าจะหาข้อมูลได้ง่าย และ ที่สำคัญอยากจะส่งเสริมการท่องเที่ยว 2 ฝั่งน้ำเจ้าพระยา ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์แม่น้ำให้คงอยู่คู่วิถีไทยสืบไป เรื่องนี้ได้ใช้เวลาในการเขียนและ รวบรวมข้อมูลประมาณ 1 อาทิตย์ ปัจจุบันทำงานอยู่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง
สำหรับรางวัลชมเชย 4 รางวัลนั้น ได้แก่
นางสาว ณภัชช ชาตรูประชีวิน จากบทสารคดี เรื่อง “พืชคู่ชีวิตชาวไทย” กำลังศึกษาที่คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ , นาย อิศราชัย ชูสวัสดิชัย เรื่อง “หุ่นกระบอกไทย” กำลังศึกษาที่คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม, นางสาว ธิดารัตน์ ดิษฐอำไพ เรื่อง “อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา” กำลังศึกษาที่คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ และ นาย อมฤต เหรียญทอง เรื่อง “กระจก” กำลังศึกษาที่คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ คุณวิภาดา / บริษัท ทริลเลี่ยนส์ จำกัด โทร. 0-2262-0022 (7 สาย)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ