มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ร่วมมือกับสมาคมเซรามิกส์ไทย จัดอบรมครูและบุคคลทั่วไป ฟื้นภูมิปัญญาการเผาเตาฟืน

ข่าวทั่วไป Monday September 29, 2008 12:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์
หัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา อาทิ หม้อ ไห และโอ่งใส่น้ำ ถือได้ว่าเป็นผลงานสร้างสรรค์ของมนุษย์ขั้นแรกที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของฝีมือและความงดงามที่มีมาแต่อดีต นอกจากนี้ มนุษย์เรายังนำประโยชน์จากดินเหนียวมาปั้นเป็นรูปร่างต่างๆ เช่น ตุ๊กตาและของเล่นให้กับลูกหลาน สร้างความสนุกสนานในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในครอบครัว โดยในระยะเริ่มต้น ชาวบ้านจะใช้มือของตนเอง ในการบีบจับปั้นให้เกิดรูปทรงต่างๆ แล้วนำไปตากให้แห้ง ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการการเผาเพื่อให้เกิดความแกร่ง และคงทน ซึ่งการเผานั้นแรกเริ่มเดิมที จะเผากันบนลานดินหรือขุดหลุมลงไปในดินเล็กน้อยแล้วจึงเผา ซึ่งต่อมาก็ได้มีการพัฒนาในรูปของการก่อเตาอิฐทนไฟขึ้น เพื่อความสะดวกในการใช้งาน
ในปัจจุบัน ยังคงมีการทำเครื่องดินเผากันอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ จากวัตถุประสงค์เดิมที่ทำขึ้นเพื่อใช้สอยกันภายในหมู่บ้าน ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปทำเพื่อการจำหน่าย ทำให้การสร้างงานหัตถกรรมต้องอาศัยเครื่องจักรมากขึ้น ชาวบ้านที่เคยชินอยู่กับวิธีการเดิมต้องพยายามต่อสู้กับความเจริญทางเทคโนโลยีใหม่ๆที่เข้ามามีบทบาท วิธีการทำแบบเดิม ก็จะค่อย ๆ เลือนหายไป ดังนั้น กระแสแห่งความเจริญจึงมีผลกระทบต่อการอนุรักษ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ ทางหลักสูตรเทคโนโลยีเซรามิกส์ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดปทุมธานี และสมาคมเซรามิกส์ไทย จึงได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเตาและการเผาเครื่องปั้นดินเผา สำหรับครูประจำการและบุคคลทั่วไปขึ้น เพื่อสนองนโยบายของมหาวิทยาลัยในการให้บริการสังคม โดยมุ่งเน้นการเรียนรู้แบบปฏิบัติจริง ในเทคนิคการเผาเตาแก็ส เตาไฟฟ้า และเตาฟืน เพื่อเพิ่มทักษะ และผู้เข้าอบรมสามารถนำความรู้และเทคนิคที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการทำงานจริง
ผศ.ประจบ ดีบุตร คณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การจัดการอบรมใน
ครั้งนี้ถือว่าได้ประโยชน์หลายอย่าง เพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับครูที่สอนทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา รวมถึงอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เพื่อนำเทคนิคและความรู้ดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่มีมาแต่โบราณให้คงอยู่และสืบทอดไปยังคนรุ่นหลังต่อไป ที่ผ่านมา หลักสูตรโปรแกรมเทคโนโลยีเซรามิกส์ ได้มุ่งเน้นให้นักศึกษาเรียนรู้ทั้งในส่วนของภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติควบคู่กันไป ส่งผลให้เด็กมีทักษะที่ครบถ้วนก่อนออกไปทำงานจริง นอกจากนี้ เรายังส่งเสริมให้เด็กสร้างสรรค์ผลงาน และผลักดันสู่เวทีการประกวดต่างๆ เพื่อหาประสบการณ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ ซึ่งการส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับเตาฟืนจึงถือเป็นการช่วยท้องถิ่นในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาเก่าแก่ที่มีมาแต่อดีต อีกทั้งสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการวิจัยและพัฒนาอาชีพให้กับคนในชุมชนได้อีกทางหนึ่ง
ในส่วนของผู้เข้ารับการอบรม ประกอบด้วย ครูอาจารย์ทั้งในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา รวมถึงผู้ประกอบการที่สนใจ ได้เปิดเผยถึงความรู้สึกที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ ดังนี้
นายสมหมาย มัณยานนท์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยว่า การเข้ามาอบรมครั้งนี้ ได้ประโยชน์มากเพราะสามารถนำความรู้ที่ได้ไปสานต่องานของโรงเรียน ซึ่งเดิมทางโรงเรียนได้งบประมาณในการจัดหาอุปกรณ์เพื่อใช้ในการส่งเสริมการเรียนการสอน แต่การที่โรงเรียนขาดผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคต่างๆ ส่งผลให้ใช้ทรัพยากรได้ไม่เต็มศักยภาพ การได้เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ สามารถนำความรู้และเทคนิคที่ได้รับจากวิทยากรไปขยายผล เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะเชื่อว่าการที่เด็กได้ใกล้ชิดกับงานศิลปะ จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ในหลายมิติ และช่วยสร้างสมาธิให้กับเด็กได้ดีอีกด้วย
อาจารย์วรวรรณ โอริส สาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะศิลปะและการออกแบบมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การได้เข้ามาสัมผัสสถานที่ เครื่องไม้เครื่องมือ การแสดงชิ้นผลงานรวมถึงบรรยากาศจริงในการเผาเตาฟืน ทำให้รู้สึกประทับใจ ซึ่งวิทยากรเองก็เป็นผู้ที่มีความรู้ และมีประสบการณ์ จึงสามารถให้ข้อมูลได้อย่างละเอียด ชัดเจน ทำให้เราได้รับเทคนิคใหม่ๆ ในการนำไปใช้พัฒนาการเรียนการสอนมากขึ้น ถือว่ามาครั้งนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ ซึ่งจะเห็นว่าที่นี่ได้ให้ความสำคัญทั้งในเรื่องของการปฏิบัติเพื่อเน้นทักษะ รวมถึงการสอนด้านออกแบบดีไซน์ควบคู่กันไปด้วย แต่ที่สำคัญ คือ ทางมหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอน โดยนำเตาฟืนซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบการเผาดั้งเดิมมาให้นักศึกษาและผู้เข้าฝึกอบรมได้เรียนรู้และสัมผัสของจริง อีกทั้งเป็นการอนุรักษ์ของเก่าให้รุ่นหลังๆ ได้เห็นและได้สัมผัสความงามของศิลปะอีกรูปแบบหนึ่ง และจากการอบรมในครั้งนี้ ทำให้สามารถคิดหาแนวทางในการเอาความรู้ที่ได้ไปพัฒนาต่อเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน และต่อชุมชนใกล้เคียงที่ต้องการการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา
ดร.ธนากร วาสนาเพียรพงศ์ ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ได้เรียนทางด้านเซรามิกส์มาโดยตรง ทั้งในเรื่องเตาแก๊ส เตาไฟฟ้า และเตาฟืน แต่ยังไม่มีโอกาสในการลงมือปฏิบัติจริง พอได้มีโอกาสเข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้ ก็ได้เห็นและสัมผัสจริง ทำให้เกิดประสบการณ์ที่ดีที่คิดว่าจะนำไปถ่ายทอดให้กับนิสิตที่จุฬาฯ ได้ฟังและเรียนรู้มากยิ่งขึ้น สำหรับเสน่ห์ของเตาฟืนน่าจะอยู่ที่การที่เราไม่สามารถคาดเดาว่าชิ้นงานที่ออกมาจะมีสีสัน ลวดลายอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น โดยเราอาจจะได้ชิ้นงานที่ออกมาแล้วสวยงามกว่าที่เราคาดเดาไว้ก็เป็นได้ และจากการที่ได้เข้ามาสัมผัสความสวยงามที่เป็นเอกลักษณ์ของเตาฟืนก็อยากให้อาจารย์หรือผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันในการส่งเสริมและอนุรักษ์การเผาเตาฟืนให้คงอยู่ต่อไป
คุณสุชามณี ลิ้มชิมชล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ตามชัย จำกัด ในฐานะผู้ประกอบการด้านการส่งออกเครื่องปั้นดินเผา กล่าวว่า จากการที่เราได้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการส่งออกเครื่องปั้นดินเผาไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งอเมริกา ยุโรป แถบเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แม้ว่าช่วงนี้เศรษฐกิจจะกระทบต่อการส่งออกบ้าง แต่ก็ยังมีกระแสความต้องการเข้ามาอยู่เรื่อยๆ ซึ่งการเข้ามาอบรมในครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดี เพราะได้เทคนิคและความรู้เพิ่มเติมจากวิทยากร ซึ่งสามารถตอบโจทย์ของทางโรงงานได้ในเรื่องของปัญหาที่เกิดจากการเผา และเทคนิคใหม่ๆ รวมถึงไอเดียในการพัฒนาผลงานเพื่อป้อนสู่ตลาดส่งออกได้
นอกเหนือจากความมุ่งมั่นที่จะเห็นการพัฒนาทางด้านการศึกษา ของนิสิตนักศึกษาภายในรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว การได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมเครื่องปั้นดินเผา โดยการจัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่ครูอาจารย์ นักเรียนนักศึกษา และประชาชนในชุมชนที่สนใจ จึงถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ทางหลักสูตรเทคโนโลยีเซรามิกส์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยองกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กระทำอย่างต่อเนื่องบนความตั้งใจที่จะสานต่อความเป็นไทย เพื่อมิให้ภูมิปัญญาดั้งเดิมเหล่านี้เลือนหายไปจากสังคม
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์
คุณภัทรานิษฐ์ ตันศรีกุลรัตน์ โทร. 081-700-5224
มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ