กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณที่ลาดเชิงเขาและที่ลุ่มริมแม่น้ำในพื้นที่ 15 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ให้ระมัดระวังอันตรายจากสภาวะฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ในช่วงวันที่ 29 กันยายน — 1 ตุลาตม 2551โดยให้ติดตามข่าวพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด พร้อมสั่งการศูนย์ ปภ.เขตและสำนักงาน ปภ.จังหวัด จัดเจ้าหน้าที่ มิสเตอร์เตือนภัย เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อแจ้งเตือนและอพยพประชาชนได้ทันที หากเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติขึ้นในพื้นที่
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ร่องความกดอากาศต่ำกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่พายุดีเปรสชั่นในทะเลจีนใต้ตอนบน ทำให้ทั่วทุกภาคของประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ในช่วงวันที่ 29 กันยายน — 1 ตุลาคม 2551 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยในบริเวณลาดเชิงเขา ที่ราบลุ่มริมแม่น้ำและริมธารน้ำไหลในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่ 15 จังหวัดเสี่ยงภัย ได้แก่ จังหวัดน่าน พิจิตร อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา สระบุรี ลพบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ตราด ระนองและพังงา ให้ระมัดระวังอันตรายจากสภาวะฝนตกหนัก ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่มขึ้นซ้ำอีกในระยะ 2 - 3 วันนี้(วันที่ 29 ก.ย. — 1 ต.ค. 51) รวมทั้งชาวเรือให้ระมัดระวังอันตรายจากการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ เนื่องจากคลื่นลมในทะเลทั้งอ่าวไทย และอันดามันสูงมากกว่า 2 เมตร จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามข้อมูลพยากรณ์อากาศ และประกาศแจ้งเตือนภัยจากหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด
นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมืออันตรายจากสภาวะฝนตกหนักในระยะนี้ ได้สั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมความพร้อมด้วยการจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานงานกับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักรกล ยานพาหนะ เรือท้องแบน และอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ทันทีที่เกิดเหตุภัยพิบัติขึ้นในพื้นที่ รวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่ทั้งอาสาสมัครแจ้งเตือนภัยดินถล่ม (มิสเตอร์เตือนภัย) สมาชิกอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และทีมกู้ชีพกู้ภัย (OTOS) เฝ้าระวังสถานการณ์ และติดตามข้อมูลข่าวสารพยากรณ์อากาศ และการขึ้น-ลง ของน้ำในแม่น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง
หากเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติรุนแรงในพื้นที่ ให้รีบแจ้งเตือนประชาชนให้อพยพออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัยในทันที สุดท้ายนี้ หากประชาชนในพื้นที่ใดได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทั้ง 75 จังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตทั้ง 18 เขต กรมป้องกันและบรรเทา
สาธารณภัย หรือทางสายด่วนสาธารณภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อประสานและให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
ผู้ส่ง : birdy
เบอร์โทรศัพท์ : 022432200