บทความเผยแพร่ เรื่อง “ดอนหญ้านาง” ศูนย์เรียนรู้-ท่องเที่ยวการจัดการพลังงานเพื่อชุมชน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 30, 2008 10:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--กระทรวงพลังงาน
“ดอนหญ้านาง” ศูนย์เรียนรู้-ท่องเที่ยวการจัดการพลังงานเพื่อชุมชน
โครงการแผนพลังงานชุมชน กระทรวงพลังงาน
วิถีการเกษตรคือชีวิตของคนชนบทเกือบทุกพื้นที่ เช่นเดียวกับชาวตำบลดอนหญ้านาง อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดินแดนอู่ข้าวอู่น้ำที่คนในชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ทำสวน และปํญหาหลักอย่างหนึ่งคือ ค่าใช้จ่ายสำหรับเชื้อเพลิงการเกษตรที่สูงมากซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นหลัก เพราะไม่เพียงค่าน้ำมันสำหรับเครื่องยนต์กรเกษตรในแต่ละฤดูทำนาแต่กว่าจะได้ผลผลิตก็จะมีค่าใช้จ่ายสำหรับการสูบน้ำเข้า-ออกแปลงนาอยู่ตลอดเวลา นี่เองจึงเป็นที่มาของการหันมาให้ความสนใจเรื่องการจัดการพลังงานภายในอบต.ดอนหญ้านาง เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของชุมชน
นายสุรกิจ สุวรรณแกม นายก อบต.ดอนหญ้านาง กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลการใช้พลังงานในตำบล โดยการสนับสนุนของสำนักงานพลังงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่า มูลค่าการใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงในเครื่องจักรกลการเกษตรและเครื่องสูบน้ำมีมูลค่าสูงถึง 11,400,000 บาท และไม่เฉพาะน้ำมันดีเซลเท่านั้น แต่การใช้น้ำมันเบนซิน แก๊สหุงต้ม และไฟฟ้าก็มีมูลค่าสูงไม่ต่างกัน โดยค่าน้ำมันเบนซินซึ่งส่วนใหญ่ใช้เติมรถจักรยานยนต์สูงถึงปีละ 10,800,000 บาท ค่าแก๊สหุงต้มสำหรับใช้หุงหาอาหารหรือใช้ตามร้านค้าปีละ 3,500,000 บาท และค่าไฟฟ้าที่ใช้กันทุกครัวเรือน 5,500,000 บาทต่อปี อบต.จึงมีแผนส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีประหยัดพลังงานเข้ามาใช้ในตำบลเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน โดยไม่ลดความสะดวกสบายของการดำเนินชีวิต
นายสุรกิจ กล่าวว่า หลังจากเข้ารับการอบรมในโครงการแผนพลังงานชุมชน กระทรวงพลังงาน เมื่อปีที่ผ่านมา อบต.และแกนนำพลังงานชุมชนได้เลือกเทคโนโลยีประหยัดพลังงานที่เหมาะกับชุมชน โดยเน้นที่การนำทรัพยากรที่มีเหลือเฟือในชุมชน ซึ่งก็คือเศษไม้ที่เหลือจากการตัดแต่งกิ่งไม้ในสวน เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ดอนทำให้ต้นไม้แตกกิ่งก้านเร็วต้องตัดแต่งกิ่งเป็นประจำ จึงมีเศษกิ่งไม้เหลือทิ้งจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้เทคโนโลยีการเผาถ่านด้วยเตาประสิทธิภาพสูงจึงได้รับการส่งเสริมให้ชาวบ้านใช้เป็นอย่างแรก โดยการนำเศษไม้เป็นวัตถุดิบ ด้วยวิธีการเผาที่ง่ายกว่าการเผาถ่านแบบดั้งเดิม อีกทั้งยังเผาถ่านที่เป็นกิ่งไม้เล็กๆ ได้โดยไม่สูญเสียเนื้อถ่าน ทำให้เทคโนโลยีนี้เป็นที่นิยมมาก ดังนั้นในระยะเวลาไม่นานจึงกระจายไปทั่วทั้ง 10 หมู่บ้านของตำบลดอนหญ้านาง ทั้งจากการให้ความรู้ผ่านนักวางแผนพลังงานชุมชนที่เป็นวิทยากรตัวคูณไปขยายผล หรือบางรายก็เรียนรู้จากเพื่อนบ้านที่ใช้แล้วได้ผลดี จนถึงทุกวันนี้มีเตาเผาถ่านประสิทธิภาพสูงกระจายไปทั่วตำบลแล้วกว่า 100 เตา จากจุดเริ่มต้นที่มีเพียง 17 เตาเท่านั้น
นายสุรกิจ กล่าวว่า นอกจากเตาเผาถ่านประสิทธิภาพสูงที่นับเป็นเทคโนโลยีแรกที่ก้าวเข้าสู่ อบต.ดอนหญ้านาง เรายังส่งเสริมการนำเทคโนโลยีตัวอื่น ๆ มาให้ชาวบ้านเลือกใช้ตามความเหมาะสมกับสภาพการใช้งานของตน เช่น เตามหาเศรษฐี หรือเตาอั้งโล่ประหยัดพลังงาน ให้สามารถใช้ควบคู่กับถ่านที่เผาได้ การเผาถ่านที่ทำกันอย่างแพร่หลายจึงมีประโยชน์สองต่อ คือ ทั้งเผาใช้เอง และเผาขายเป็นอาชีพเสริมของชุมชน อย่างไรก็ดีนอกจากเทคโนโลยีที่ดีที่ทำให้ความนิยมใช้แพร่กระจายออกไปแล้ว ตัวผู้รู้หรือวิทยากรตัวคูณด้านพลังงานประจำชุมชนมีบทบาทสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีชนิดต่างๆ
นายบุญชู ศรีพุ่ม วิทยากรตัวคูณด้านพลังงาน อบต.ดอนหญ้านาง คือผู้ทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ด้านเทคโนโลยีพลังงานให้กับชาวบ้านทั้งในตำบลดอนหญ้านาง และในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง โดยนายบุญชูได้ใช้ความรู้ด้านช่างเครื่องยนต์ที่สะสมประสบการณ์มาตั้งแต่สมัยหนุ่ม ๆ จนมาเปิดร้านซ่อมรถในปัจจุบัน นำมาใช้ในการประยุกต์ ดัดแปลงสร้างเทคโนโลยีประหยัดพลังงานในแบบที่เหมาะกับการใช้งานของคนในชุมชน โดยเป็นการดัดแปลงจากต้นแบบที่ทางสำนักงานพลังงานจังหวัดจัดหาให้ อาทิ เตาเผาข้าวหลามประหยัดพลังงาน เตาย่างไก่ เตาอบขนมหม้อแกง เป็นต้น
นอกจากนี้นายบุญชูยังรับหน้าที่ผู้บรรยายพิเศษอบรมเทคนิคการสร้างเตาเผาถ่านให้กับนักเรียนในโรงเรียนตะโกเป็นประจำทุกสัปดาห์
“เทคโนโลยีประหยัดพลังงานหลายๆ อย่าง สำนักงานพลังงานจังหวัดจะสนับสนุนให้กับอบต. และนำไปส่งต่อให้กับชุมชนอีกทอด แต่จากการความสนใจตอบรับการใช้เทคโนโลยีของชาวบ้าน ทำให้จำนวนของอุปกรณ์ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และแนวคิดของอบต.ที่ไม่อยากให้มีการนำเข้าอุปกรณ์จากภายนอกชุมชน จึงเกิดแนวคิดการสร้างอุปกรณ์ขึ้นเองในชุมชน โดยเริ่มแรกจากการสร้างเตาเผาถ่านประสิทธิภาพสูง เมื่อทำได้เราจึงส่งต่อความรู้นี้ให้กับคนอื่นๆ ทั้งในระดับชาวบ้าน และนักเรียนในโรงเรียน หลังจากนี้จะมีโครงการพัฒนาเทคโนโลยีตัวอื่นๆ เช่น การทำถ่านอัดแท่งจากขี้เถ้าแกลบ การสร้างเตาชีวมวล ขณะเดียวกันการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่ใช้ฐานความรู้จากเตาเผาถ่านก็ยังดำเนินต่อไป” นายบุญชู กล่าว
นายก อบต.ดอนหญ้านาง กล่าวอีกว่า ขณะนี้การส่งเสริมเทคโนโลยีในชุมชนเริ่มอยู่ตัวแล้ว ก้าวต่อไปคือการขยายศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงานไปยังหมู่บ้านต่างๆ เมื่อทุกครัวเรือนมีการใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงานเท่ากับว่าทุกครัวเรือนมีความตระหนักถึงคุณค่าของพลังงานและการประหยัดพลังงาน และพร้อมที่จะเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงานให้กับผู้ที่จะเข้ามาเรียนรู้ต่อไป โดยที่อบต.จะเป็นศูนย์การเรียนรู้ใหญ่ที่มีทั้งการจัดแสดงเทคโนโลยีหลากหลายชนิด และมีการให้ความรู้เกี่ยวกับพลังงาน ตั้งแต่ต้นกำเนิดพลังงานของโลก ที่มีหลายรูปแบบ กระทั่งพลังงานที่ครัวเรือนของเราสามารถจัดหามาใช้เองได้ ทุกวันนี้ที่นี่จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการพลังงานชุมชนที่เรามีแกนนำด้านพลังงานซึ่งเป็นวิทยากรตัวคูณกระจายอยู่ทุกหมู่บ้าน เราเป็นแหล่งเรียนรู้ทั้งตำบล ในช่วงที่ผ่านมามีคนมาดูงานเยอะมาก มีทั้งที่มาแบบเดี่ยว ๆ และที่มาเป็นหมู่คณะ เราก็พาไปดูของจริงซึ่งอยู่ที่บ้านของชาวบ้านในหมู่บ้านต่าง ๆ ของตำบล
“พลังงานเป็นเหมือนเรื่องใหม่สำหรับชุมชนของเรา แต่ก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากกับการดำรงชีวิต และการทำงานด้านพลังงานร่วมกับโครงการแผนพลังงานชุมชนในระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้เราได้รับประโยชน์อย่างมาก ดังนั้นแผนการดำเนินในอนาคตของอบต.จำเป็นต้องบรรจุเรื่องพลังงานไว้ควบคู่กับการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การศึกษา คุณภาพชีวิต เพราะพลังงานเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเรียนรู้ อย่างไรก็ตาม แม้อบต.จะเน้นเรื่องการส่งเสริมในชาวบ้านใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน แต่ก็ยังไม่ลืมที่จะรณรงค์ และสร้างจิตสำนึกการประหยัดพลังงานให้กับชาวบ้าน เพื่อให้ชาวดอนหญ้านางมีพลังงานใช้อย่างยั่งยืน” นายก อบต.ดอนหญ้านางกล่าว
ทั้งนี้ ชุมชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการจัดทำแผนพลังงานชุมชน กับกระทรวงพลังงานในปี 2552 สามารถสมัครได้ที่ สำนักงานพลังงานจังหวัด หรือศูนย์ประสานงานกลางการวางแผนพลังงานชุมชน โทร. 0-2223-3344 ต่อ 2262-3.///
โครงการแผนพลังงานชุมชน กระทรวงพลังงาน โทรศัพท์ 0-2223-3344 ต่อ 2262-3 สอบถามเพิ่มเติมที่ 0-22701350 ต่อ 105,113

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ