วศ.เตรียมเปิดแล็บตรวจพลาสติไซเซอร์ รองรับข้อบังคับ EU

ข่าวทั่วไป Tuesday September 30, 2008 10:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--วศ.
กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.)เตรียมเปิดห้องแล็บใหม่ให้บริการตรวจวัดสารพลาสติไซเซอร์ในภาชนะอาหาร สนองต่อภาคอุตสาหกรรมส่งออก รองรับกฎระเบียบ EU หลังกวดเข้มสินค้านำเข้าที่มีสารอันตรายจากการผลิตหีบห่อและภาชนะบรรจุอาหาร คาดสามารถลดขั้นตอนให้กับผู้ผลิต เปิดให้บริการได้ภายในต้นปีหน้า
นางสุมาลี ทั่งพิทยากุล หัวหน้าห้องปฏิบัติการกลุ่มงานภาชนะบรรจุอาหาร กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ตามที่กลุ่มสหภาพยุโรป หรือ EU ได้เข้มงวดสินค้านำเข้ามากขึ้นโดยเฉพาะอาหารแปรรูป ซึ่งจากการสุ่มตรวจภาชนะบรรจุอาหารแปรรูปนำเข้าดังกล่าว พบว่ามีสารที่เป็นอันตรายเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้จำนวนมาก โดยเฉพาะสารพลาสติไซเซอร์ที่ทาง EU เน้นเป็นพิเศษ เพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภคอาหารเหล่านี้ ได้แก่ น้ำพริกเผา ซอสผัดไท ซอสสำหรับทำสะเต็ก เครื่องแกงชนิดต่าง ๆ เนื่องจากอาหารเหล่านี้ได้มีการตรวจพบพลาสติไซเซอร์เกินเกณฑ์กำหนดของสหภาพยุโรปในปริมาณสูงมากและ สหภาพยุโรปได้มีการเตือนประเทศสมาชิกเกี่ยวกับสินค้าเหล่านี้ไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง และมีข้อมูลว่าการบริโภคพลาสติไซเซอร์เกินปริมาณที่กำหนดจะมีผลต่อสุขภาพ เช่น ทำลายระบบการทำงานของต่อมไร้ท่อ จึงได้ออกระเบียบให้สินค้าเหล่านี้จะมีสารพลาสติไซเซอร์เคลื่อนย้ายลงสู่อาหารได้ไม่เกิน 60 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 เป็นต้นไป
สารพลาสติไซเซอร์ คือ สารที่เป็นส่วนผสมในการผลิตจากปะเก็นพลาสติกชนิด PVC ที่ใช้กับฝาโลหะของขวดแก้ว ทำให้ฝากับขวดแก้วปิดสนิทไม่เกิดการปนเปื้อนหลังจากฆ่าเชื้ออาหารเรียบร้อยแล้ว นอกจากนั้นประเก็นของฝาโลหะดังกล่าว ยังมีความอ่อนนุ่ม ยืดหยุ่น ทำให้ผู้บริโภคสามารถเปิดฝาขวดได้ง่าย เนื่องจากในการผลิตปะเก็นพลาสติกมีพลาสติไซเซอร์เป็นส่วนประกอบ 20 - 40 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นในการผลิตอาหารประเภทซอส หรือเครื่องแกงที่มีไขมันและต้องฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิสูง จึงทำให้พลาสติไซเซอร์เหล่านี้เคลื่อนย้ายลงมาสู่อาหารได้โดยง่าย นอกจากนั้นปริมาณพลาสติไซเซอร์ยังเพิ่มขึ้นอีกตามระยะเวลาที่เก็บ
นางสุมาลี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารแปรรูปรายใหญ่ของโลก ทำให้ EU และอเมริกา จับตามองเรื่องนี้เป็นพิเศษ ดังนั้นผู้ประกอบการส่งออกของไทยจะต้องปรับปรุงคุณภาพของอาหารสำเร็จรูปที่ต้องบรรจุในขวดแก้วที่มีฝาโลหะประกอบไปด้วยปะเก็นพลาสติก เพื่อไม่ให้มีสารพลาสติไซเซอร์ในอาหารเกินมาตรฐานกำหนด ซึ่งขณะนี้กลุ่มผู้ประกอบการตั้งแต่ผู้ผลิตอาหารและฝากำลังพยายามปรับปรุงอยู่เนื่องจากกฎระเบียบดังกล่าว หากไม่ปรับปรุงหรือแก้ไขปัญหาดังกล่าว และมีการสุ่มตรวจพบว่ามีสารพลาสติไซเซอร์เกินกำหนด ก็จะถูกระงับให้ยกเลิกนำเข้าสินค้าดังกล่าวทันที ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและเศรษฐกิจของประเทศ
“ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการที่ต้องการตรวจหาปริมาณสารพลาสติไซเซอร์ในผลิตภัณฑ์ของตนว่ามีค่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ จะต้องส่งตัวอย่างไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการของสหภาพยุโรป เช่น ประเทศเยอรมนี เดนมาร์ก สวีเดน เป็นต้น ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่า 1 เดือนจึงจะทราบผล ทำให้เสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก และผุ้ประกอบการไม่เพียงต้องการผลการทดสอบเพียงอย่างเดียว ต้องการคำปรึกษาแนะนำ หรือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับห้องปฏิบัติการอีกด้วย ด้วยเหตุนี้กรมวิทยาศาสตร์บริการ จึงเปิดให้บริการตรวจวิเคราะห์ ทดสอบสารพลาสติไซเซอร์ในประเก็นพลาสติก บรรจุภัณฑ์พลาสติกและในอาหาร ตลอดจนให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อลดค่าใช้จ่าย ลดขั้นตอนและข้อมูลให้กับผู้ประกอบการนำไปพัฒนาคุณภาพสินค้าของตนให้เป็นไปตามมาตรฐานต่อไป ไม่ต้องเสียเวลาส่งตัวอย่างไปตรวจในต่างประเทศ กรมวิทยาศาสตร์บริการ สามารถให้บริการทดสอบโดยใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์ก็ทราบผล คาดว่าห้องปฏิบัติการดังกล่าวจะเปิดให้บริการได้ภายในเดือนมกราคม 2552 เป็นอย่างช้า ”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ