กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณที่ลาดเชิงเขาและที่ลุ่มริมแม่น้ำใกล้ทางน้ำไหลในพื้นที่เสี่ยงภัย 24 จังหวัด ให้ระมัดระวังอันตรายจากสภาวะฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ในช่วงวันที่ 30 กันยายน — 1 ตุลาตม 2551 เนื่องจากอิทธิพลของพายุ “เมขลา” ที่มีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยทางจังหวัดนครพนม พร้อมสั่งการศูนย์ ปภ.เขตและสำนักงาน ปภ.จังหวัด ในพื้นที่เสี่ยงภัยจัดเจ้าหน้าที่ มิสเตอร์เตือนภัย เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อแจ้งเตือนและอพยพประชาชนได้ทันที หากเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติขึ้นในพื้นที่
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุโซนร้อน “เมขลา” มีแนวโน้มที่จะเคลื่อนตัวเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยในแนวจังหวัดนครพนม ซึ่งจะทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ส่วนภาคอื่นๆ จะได้รับผลกระทบในระยะถัดไป กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยในบริเวณลาดเชิงเขา ที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำและใกล้ทางน้ำไหลในพื้นที่ 24 จังหวัดเสี่ยงภัย ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ หนองคาย สกลนคร อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด ให้ระมัดระวังอันตรายจากสภาวะฝนตกหนัก ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่มขึ้นในระยะ 1 -2 วันนี้(วันที่ 30 ก.ย. — 2 ต.ค. 51)
นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า เพื่อความปลอดภัย ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว ติดตามรับฟังข่าวการพยากรณ์อากาศและประกาศแจ้งเตือนภัยจากหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด จัดเตรียมอาหารแห้ง เครื่องเวชภัณฑ์ ตะเกียง ไฟฉาย และวิทยุ ไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน จัดเตรียมกระสอบทราย เพื่อจัดวางเป็นแนวกั้นน้ำ ขนย้ายทรัพย์สินและสิ่งของที่มีค่าและอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดไว้บนที่สูง รวมทั้งจัดเวรยามเฝ้าระวังปริมาณน้ำฝน สังเกตสิ่งบอกเหตุและสัญญาณการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่บ่งชี้ว่า จะเกิดภัยพิบัติ เช่น การส่งเสียงร้องของสัตว์ป่า เสียงดังโครมครามจากต้นน้ำ สีของน้ำในลำธาร เปลี่ยนเป็นสีเดียวกับสีดินของภูเขา ให้เตรียมการอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยหรือขึ้นที่สูงในทันที
รวมทั้งได้สั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมความพร้อมด้วยการจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานงานกับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักรกล ยานพาหนะ เรือท้องแบน และอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ทันทีที่เกิดเหตุภัยพิบัติขึ้นในพื้นที่ รวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่ทั้งอาสาสมัครแจ้งเตือนภัยดินถล่ม (มิสเตอร์เตือนภัย) สมาชิกอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และทีมกู้ชีพกู้ภัย (OTOS) เฝ้าระวังสถานการณ์ และติดตามข้อมูลข่าวสารพยากรณ์อากาศ และการขึ้น-ลง ของน้ำในแม่น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง หากเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติรุนแรงในพื้นที่ ให้รีบแจ้งเตือนประชาชนให้อพยพออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัยในทันที
สุดท้ายนี้หากประชาชนในพื้นที่ใดได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทั้ง 75 จังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตทั้ง 18 เขต กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือทางสายด่วนสาธารณภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อประสานและให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
ผู้ส่ง : ปภ.
เบอร์โทรศัพท์ : 022430674