กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--ซีพีเอฟ
กูรูการเงินระดับโลก“มร.ฮานส์ ไรค์”อดีตประธานธนาคารแห่งประเทศเยอรมัน(KfW) ที่ปรึกษาคณะกรรมการด้านการเงินของซี.พี.ติวเข้มด้านเศรษฐกิจการเงินโลกแก่ผู้บริหารซี.พี.กว่า 100 ชีวิต เผยโลกกำลังเผชิญกับ 4 ปัญหาวิกฤต ได้แก่ วิกฤตด้านการเงิน วิกฤตด้านพลังงาน วิกฤตด้านอาหาร และวิกฤตด้านการขาดแคลนแรงงานคน แนะประเทศในเอเซียรวมพลังแบบกลุ่มสหภาพยุโรปเพื่อสร้างฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง นักธุรกิจต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อสร้างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม
นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.)เปิดเผยว่า จากความผันผวนทางเศรษฐกิจและการเงินที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันนี้ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั่วโลก ในขณะที่เครือเจริญโภคภัณฑ์มีธุรกิจครอบคลุมไปทั่วโลกถึง 26 ประเทศ จึงเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบนี้ โดยเชิญ มร.ฮานส์ ไรค์ (Mr. Hans W. Reich) อดีตประธานธนาคารแห่งประเทศเยอรมัน(KfW) มาบรรยายพิเศษเรื่อง"The Global Financial Turmoil and its Implications" หรือ “วิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกและผลกระทบ”ให้กับผู้บริหารระดับสูงจากกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ในเครือซี.พี.ได้ฟังเป็นความรู้ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริหารในการดำเนินธุรกิจรวมทั้งวางแผนธุรกิจของเครือซี.พี.ให้ก้าวข้ามผ่านวิกฤตนี้ไปได้
มร.ฮานส์ ไรค์ ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานคณะกรรมการภาคเอกชนและประธานกรรมการที่ปรึกษา ซิตี้ กรุ๊ป เยอรมัน (Chairman of the Global Public Sector Group and Chairman of The Supervisory Board of Citigroup Deutschland AG) กล่าวในการบรรยายว่าโลกกำลังเผชิญกับปัญหาสำคัญ 4 ด้านที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่ วิกฤตด้านพลังงาน ราคาน้ำมันและพลังงานที่สูง ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาเศรษฐกิจของโลก วิกฤตด้านอาหารทำให้ค่าครองชีพของประชาชนสูง เกิดภาวะเงินเฟ้อ และขาดแคลนอาหารในประเทศที่กำลังพัฒนา ส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐบาล วิกฤตด้านการเงิน ความผันผวนทางการเงินในสหรัฐอเมริกา ทำให้คนขาดความเชื่อมั่นในระบบการเงินการธนาคาร การปล่อยสินเชื่อมีข้อจำกัดมากขึ้น ประชาชนลดการใช้จ่าย เศรษฐกิจชะลอตัว และสุดท้ายวิกฤตด้านคน กล่าวคือขาดคนในวัยทำงานที่เป็นแรงงานฝีมือและผู้มีความรู้ในสายวิชาชีพ เช่น วิศวกร นักบัญชี นักวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
วิกฤตดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นประเทศเล็กหรือประเทศใหญ่ทั้งด้านการเมือง การทหาร รวมทั้งพลังงานและอาหาร จะมีสงครามแย่งชิงทรัพยากรกันมากขึ้น เพราะต้องการเข้าถึงแหล่งน้ำมัน พลังงาน ทรัพยากร อาหารและน้ำสะอาด
สำหรับวิกฤตเศรษฐกิจการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯครั้งนี้ ประเทศที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงคือประเทศที่มีการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ เช่น จีน ที่สหรัฐฯเป็นคู่ค้าที่สำคัญ ซึ่งทำให้จีนต้องหาตลาดใหม่ทดแทน สำหรับประเทศในเอเซียนั้นควรรวมพลังกันเพื่อเกื้อหนุนทางเศรษฐกิจ การตลาด การค้า การลงทุน ภาษี แรงงาน การเงิน ฯลฯ ซึ่งจะเป็นการทำให้เศรษฐกิจของเอเซียเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไปในอนาคตเหมือนกับที่ประเทศในกลุ่มยุโรปรวมกันเป็นสหภาพยุโรป(EU)เมื่อปีพ.ศ.2500 ปัจจุบันมีสมาชิก 27 ประเทศ เป็นตลาดใหญ่ที่ทุกประเทศสมาชิกได้รับประโยชน์จากการค้าที่ไม่มีภาษีศุลกากร การเคลื่อนย้ายแรงงาน และค่าเงินที่มีเสถียรภาพ ในการนี้มร.ไรค์กล่าวว่าแม้จะเป็นเรื่องยาก และขึ้นอยู่กับผู้นำ ซึ่งถ้าทำได้ก็จะทำให้เอเซียก้าวหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับประเทศไทยนั้น มร.ไรค์ มองว่าประเทศไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ทั้งด้านบวกและด้านลบ โดยด้านลบก็ได้รับผลกระทบจากภาวะราคาน้ำมันและพลังงานที่สูงขึ้นซึ่งส่งผลโดยตรงต่อค่าครองชีพ แต่ในขณะเดียวกันไทยก็ได้รับผลด้านบวกจากวิกฤตอาหารโลกโดยสามารถใช้ความได้เปรียบจากการเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลกเป็นโอกาสในการสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งให้กับประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ไทยมีความสมดุลย์ทางเศรษฐกิจมากขึ้น นอกจากนี้มร.ไรค์ยังเสนอให้ไทยจับมือกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นภาคีผู้ซื้อ-ผู้ขาย เพื่อสร้างความเจริญเติบโตในภูมิภาค เหมือนยุโรปตะวันตกเกื้อหนุนยุโรปตะวันออก
มร.ไรค์ ได้กล่าวสรุปว่า จากวิกฤตต่าง ๆ ที่โลกกำลังเผชิญอยู่นี้ สิ่งสำคัญที่นักธุรกิจจะต้องคำนึงถึงจะไม่ใช่เพียงแค่กำไรที่ทำให้ธุรกิจอยู่รอดหรือประสบความสำเร็จเท่านั้น แต่ต้องให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และโลกาภิวัตน์ มีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยควรวางกรอบปฏิบัติทางธุรกิจที่ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และภาครัฐควรเปิดโอกาสให้นักธุรกิจจากภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทในการวางแผนระดับประเทศ เพื่อให้เกิดความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้คนในรุ่นลูกรุ่นหลานอยู่ได้ต่อไป
ล่าสุดนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เชิญมร.ฮานส์ ไรค์ มาเป็นที่ปรึกษาของประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ และเป็นประธานกิตติมศักดิ์ คณะกรรมการด้านการเงิน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ทั้งนี้เพราะเห็นว่า มร.ฮานส์ ไรค์ เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการเงิน โดยมประสบการณ์อยู่ในเวทีการเงินระดับโลกมาเกือบ 40 ปี เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ ประธานธนาคารแห่งประเทศเยอรมัน(KfW) ปัจจุบัน มีตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการภาคเอกชนและประธานคณะที่ปรึกษาคณะกรรมการซิตี้กรุ๊ป เยอรมัน และยังมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาในบริษัทเอกชนหลายแห่งที่เยอรมัน รวมทั้งตำแหน่งประธานที่ปรึกษาธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศจีน
สำนักกิจกรรมสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์
โทรศัพท์ 02-625-8127-30