กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--สหมงคลฟิล์ม
ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นและเป็นไอเดียเริ่มต้นของภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เรื่อง “ปืนใหญ่จอมสลัด” (Queens of Langkasuka) ของผู้กำกับมือดี “นนทรีย์ นิมิบุตร” ที่นำศาสตร์พื้นบ้านที่มีอยู่จริงอย่าง “วิชาดูหลำ” ซึ่งชาวประมงทางแถบภาคใต้ของบ้านเราใช้ในการฟังเสียงปลา และหาปลาเพื่อดำรงชีพ ส่งต่อข้อมูลให้มือเขียนบท “วินทร์ เลียววาริณ” สานต่อ-ปรับแปลง-แต่งเติม “ความเป็นแฟนตาซี” บนพื้นฐานของความจริงเข้าไป เพื่อเพิ่มความน่าสนใจชวนติดตามให้กับภาพยนตร์ และทำให้ดูสนุกมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
ผู้กำกับ “อุ๋ย นนทรีย์” กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “วิชาดูหลำมีอยู่จริงครับ เราจะเรียกว่า ‘ดูหลำ’ หรือเรียกว่า ‘กาน้ำ’ ก็แล้วแต่ วิชาพวกนี้มีอยู่จริง มันเหมือนกับเป็นตัวแทนของชาวประมงเพื่อไปดูว่ามันมีปลาอยู่ที่ไหนบ้าง มีจำนวนเท่าไหร่ ขนาดไหนและชนิดไหน นั่นคือสิ่งที่เขาบอกโดยการฟัง โดยการสัมผัสกับน้ำ โดยการรับสัญญาณความสั่นสะเทือนจากใต้ทะเล ปกติวิชาดูหลำจะมีแค่นี้เอง แต่ว่าทางพี่วินทร์ผู้เขียนบทเองได้คิดว่า ถ้าแค่นี้มันไม่สนุกพอกับความเป็นแฟนตาซีนะครับ พี่วินทร์ก็เลยบวกเข้าไปว่า ถ้าเผื่อว่ามีคนที่สามารถพัฒนาวิชาดูหลำเหล่านี้ขึ้นไปได้มากกว่านี้อีก คือถ้าเขาสามารถเปล่งเสียงออกจากทางท้องได้ ก็จะโต้ตอบสื่อสารกับปลาได้ บังคับฝูงปลาได้ เรียกปลาได้อะไรต่าง ๆ มันอยู่ที่การใช้แรงสั่นสะเทือนในสมาธิขั้นสูง เหมือนกับว่าเป็นการเรียนดูหลำที่สูงขึ้นไป ซึ่งผู้ชมก็จะเห็นการฝึกวิชาดูหลำของ ‘ปารี’ ตัวละครที่อนันดาเล่นซึ่งมันจะขึ้นไปทีละระดับจนถึงระดับสูงสุดครับ”
ทางด้าน “วินทร์ เลียววาริณ” มือเขียนบทภาพยนตร์ครั้งแรก ได้เผยว่า “มีอยู่วันหนึ่งคุณนนทรีย์เอาข้อมูลมาให้ส่วนหนึ่ง คือเป็นข้อมูลเกี่ยวกับวิชาดูหลำทางภาคใต้ของไทย ซึ่งมีชาวประมงมุสลิมทางภาคใต้โดยเฉพาะที่สงขลาเค้ายังใช้อยู่ ดูหลำเป็นวิชาฟังเสียงปลา คือดำลงไปในน้ำแล้วฟังเสียงปลาเพื่อจะดูว่าปลาเนี่ยจะมาทางทิศทางไหน เพื่อใช้ประโยชน์ทำประมง ทีนี้พอเราได้ข้อมูลส่วนนี้มา เราก็มาจินตนาการต่อให้วิชาดูหลำเป็นวิชาที่มากกว่าแค่ฟังเสียงปลาเฉย ๆ เราสามารถที่จะเรียกสัตว์น้ำ เรียกปลามาใช้งานได้ หรือว่าการสื่อสารระหว่างตัวตนของมนุษย์กับปลา เพราะว่าถ้าเราย้อนไปถึงที่มาของมนุษย์แล้ว มนุษย์เราก็เกิดมาจากสัตว์น้ำ เกิดมาจากปลา คือชีวิตแรกในโลกก็คือชีวิตที่เกิดมาจากพวกสมุทร เพราะฉะนั้นเมื่อเราโยงเอาส่วนนี้เข้ามา โยงความเป็นมนุษย์กับความเป็นปลาเข้ามา เป็นความสัมพันธ์กัน วิชาดูหลำในภาพยนตร์เรื่องนี้จริง ๆ เป็นการขยายบทบาทของชาวประมงให้สูงไปอีกขั้นหนึ่ง ส่วนหนึ่งมันมีกลิ่นไอของวิชากำลังภายในอยู่ หรือใช้เสียงในการสื่อสาร ใช้เสียงเป็นอาวุธ เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง มันก็จะเป็นแฟนตาซีกึ่งกำลังภายในหน่อย ๆ นะครับ”
“ปืนใหญ่จอมสลัด” พร้อมปล่อยพลังดูหลำ กระหน่ำความสนุกสู่สายตาผู้ชม 23 ตุลาคมนี้ ทุกโรงภาพยนตร์