กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า รายงานการศึกษาวิจัยจากหลายหน่วยงานในต่างประเทศที่กำกับดูแลด้านความปลอดภัยอาหารและคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับสารเคมีอันตรายที่ปะปนออกมาจากบรรจุภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ ได้แก่ สารบีพีเอหรือบิสฟีนอลเอ (Bisphenol A: BPA) ซึ่งเป็นสารที่นำมาใช้ผลิตเป็นโพลีคาร์บอเนตพลาสติก (Polycarbonate Plastic) และเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ผลิตขวดใส่นมเด็กและขวดน้ำดื่ม รวมไปถึงอุปกรณ์กีฬาและอุปกรณ์การแพทย์หลายชนิด อีกทั้งยังเป็นวัตถุดิบผลิตเรซินสังเคราะห์สำหรับเคลือบกระป๋องอาหาร และเครื่องดื่มซึ่งอาจหลุดร่อนและละลายปะปนอยู่ในอาหารได้และอาจเข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว ส่งผลต่อระบบประสาททารกในครรภ์ เด็กเล็ก รวมทั้งอาจเป็นสาเหตุก่อมะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งเต้านมได้ด้วย
หน่วยงานด้านความปลอดภัยอาหารของประเทศต่าง ๆ ได้กำหนดปริมาณสาร BPA ที่อนุญาตให้พบได้ใน บรรจุภัณฑ์อาหารและปริมาณที่ร่างกายได้รับต่อวัน ดังนี้ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ (Food and Drug Administration) กำลังตรวจสอบอันตรายของสารบีพีเอ และผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีสารบีพีเอ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กและทารก และกระทรวงสาธารณสุขของแคนาดากำลังออกกฎหมายห้ามนำเข้าและจำหน่ายขวดนมพลาสติกที่ทำจากบีพีเอ นอกจากนี้ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ เช่น Wal Mart จะยกเลิกการจำหน่ายขวดนมที่ผลิตจากบีพีเอในปีหน้า
ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ผลิตขวดนมเด็ก และภาชนะบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหาร และเครื่องดื่มจากโพลีคาร์บอเนต รวมทั้งผู้ผลิตกระป๋องที่ใช้อีพ็อกซีในการเคลือบผิวควรเร่งปรับกระบวนการผลิต โดยระมัดระวังการใช้สารบีพีเอเป็นวัตถุดิบ และควรลดปริมาณการใช้หรือใช้ส่วนผสมที่ปราศจากสารบีพีเอ รวมทั้งเร่งทำการทดสอบเพื่อยืนยันว่าสินค้าที่วางจำหน่ายในท้องตลาดมีระดับบีพีเอที่ปลอดภัยหรือปราศจากสารบีพีเอ ทั้งนี้ สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้
จาก 1. http://unit.aist.go.jp/riss/crm/mainmenu/BPA_Summary_English.pdf และ
2. http://eur-lex.europa.eu/LexUriServ/LexUriServ.do?uri=OJ:L:200:220:0018:0058:EN:PDF