ความอดกลั้นคือพลังแห่งสันติภาพบทสะท้อนจากผู้ชนะจดหมายโลกปีนี้

ข่าวทั่วไป Thursday October 2, 2008 12:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--124 คอมมิวนิเคชั่นส
สหภาพสากลไปรษณีย์ประกาศรายชื่อเยาวชนผู้ชนะเลิศการเขียนจดหมายระหว่างประเทศ ปี 2551 เป็นเด็กชายวัย 15 จากกาฬทวีปที่เรียกร้องให้ชาวโลกร่วมค้นหาคุณธรรมจากความอดกลั้น UPU กำหนดหัวข้อปี 2009 ว่าด้วยการทำงานที่เหมาะสมเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น
นางปริษา ปานะนนท์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารการตลาด บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เปิดเผยว่า ในช่วงใกล้วันไปรษณีย์โลก 9 ตุลาคมนี้ สหภาพสากลไปรษณีย์ หรือยูพียูได้ประกาศผลการตัดสินการแข่งขันเขียนจดหมายระหว่างประเทศสำหรับเยาวชนปี 2551 อย่างเป็นทางการเมื่อเร็วๆ นี้ ปรากฎว่าผู้ชนะเลิศคือ มอยเซอ ลู-เธอร์ โฮซา เด็กชายจากสาธารณรัฐแอฟริกากลาง อายุ 15 ปี
“ขอให้พวกเรามาร่วมกันอดกลั้น อยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว และร่วมกันค้นหาคุณธรรมของอาวุธที่ทรงพลังแห่งสันติภาพนี้กันเถอะ” หนึ่งในประโยคสำคัญในจดหมายที่เขียนโดยเด็กชาวชาวอัฟริกันผู้นี้ ภายใต้หัวข้อที่ UPU กำหนดให้เขียนบรรยายว่า เพราะเหตุใดโลกเราจึงต้องการความอดกลั้นในท่ามกลางโลกาภิวัตน์ และแนวโน้มที่ทำให้ผู้คนต่างความเชื่อและวัฒนธรรมต้องมาอยู่ร่วมกันมากขึ้น
มอยเซอบรรจงเขียนจดหมายถึงเพื่อนที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาซึ่งเคยผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายจากสงครามมาแล้ว โดยเรียกร้องให้เพื่อนของตนหยิบยื่นโอกาสให้ศัตรูได้ไถ่โทษความผิด ซึ่งจะช่วยให้ได้รู้ว่าความอด-กลั้นนั้นมีประโยชน์มากเพียงใด
กรรมการตัดสินจากองค์การยูเนสโกที่ฝรั่งเศสได้ยกย่องให้จดหมายฉบับนี้เป็นผลงานยอดเยี่ยมที่สุดในจำนวนผลงานที่ส่งเข้าประกวดจาก 60 กว่าประเทศสมาชิก และนับเป็นครั้งแรกที่ประเทศนี้ชนะการแข่งขันเขียนจดหมายระหว่างประเทศ ซึ่งยูพียูได้จัดติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2515 โดยคาดว่ามีเด็กและเยาวชนกว่า 3 ล้านคนทั่วโลกที่เข้าร่วมการแข่งขันดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน สำหรับผู้ชนะอันดับสอง ได้แก่ โรมาน ชิคลิน เด็กชายชาวเบลารุส และอันดับสาม ตกเป็นของโมนิกา อัลบิโน เด็กหญิงโปรตุเกส อายุเพียง 12 ปี นอกจากนี้ยังมีรางวัลชมเชยให้แก่เยาวชนอีกหลายประเทศ ทั้งจากมอนเตนิโกร โรมาเนีย ยูเครน ซาอุดิอารเบีย และเวียดนาม
อนึ่ง สหภาพสากลไปรษณีย์ได้กำหนดหัวข้อการแข่งขันเขียนจดหมายในปี 2552 ไว้ว่า “ให้เขียนจดหมายถึงใครก็ได้เพื่ออธิบายว่าการทำงานที่เหมาะสมนั้นจะนำไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร” เพื่อสอดคล้องกับการรณรงค์ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือไอแอลโอ ที่เรียกร้องให้ทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของการทำงานที่เหมาะสม ปราศจากการใช้แรงงานเด็ก การบังคับกะเกณฑ์ ความไม่เท่าเทียมกัน ไปจนถึงปลอดจากอันตรายในการทำงาน
ส่วนสื่อสารองค์กร ฝ่ายสื่อสารการตลาด โทรศัพท์ 0 2831 3508, 0 2831 3598

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ