สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จับมือ สวทช. จัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมด้วยงานวิจัยและพัฒนา ในโครงการ “คลินิกเทคโนโลยีอุตสาหกรรม”

ข่าวเทคโนโลยี Thursday October 2, 2008 13:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--สวทช.
รศ. ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) จัดตั้งโครงการ “คลินิกเทคโนโลยีอุตสาหกรรม” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและผู้ประกอบการทั่วไป ในการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม รวมทั้งสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนาในภาคอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยทั้ง 39 กลุ่ม ซึ่งครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรมในประเทศไทย และผู้ประกอบการทั่วไป ได้มีโอกาสเข้ารับฟังความรู้ด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมใหม่ๆ และเข้ารับการปรึกษาด้านอุตสาหกรรมจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านต่างๆ รวมทั้งขอรับคำปรึกษาหรือคำแนะนำแนวทางในการแก้ปัญหาในการปรับปรุงกระบวนการหรือเทคโนโลยีการผลิต การบริหารจัดการ แนวทางการพัฒนาธุรกิจ และการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ จึงมีการจัดงานสัมมนาเชิงวิชาการและการให้คำปรึกษาขึ้นในครั้งนี้
“กิจกรรมของคลินิกเทคโนโลยีอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการให้คำปรึกษาทางเทคนิค เป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนมาก เนื่องจากสามารถตอบสนองความต้องการการพัฒนาได้โดยตรง และมีประสิทธิภาพ ได้ผลประโยชน์ในระยะยาว ช่วยนำความรู้จากภายนอกเข้าสู่องค์กรได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังสามารถเชื่อมโยงความต้องการในลักษณะงานวิจัยและพัฒนาไปสู่ สวทช. และหน่วยงานพันธมิตรได้เป็นอย่างดี ก่อให้เกิดแนวทางในการทำงานร่วมต่อไปอย่างครบวงจรได้” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเพิ่มเติม
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการคลินิกเทคโนโลยีอุตสาหกรรมนับเป็นโครงการหนึ่งที่มีส่วนสำคัญ ในการช่วยเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งด้านเทคโนโลยี ผ่านการให้บริการวินิจฉัยปัญหาทางเทคนิค และแนวทางการพัฒนาธุรกิจของผู้ประกอบการโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง รวมถึงการให้คำแนะนำที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังจะช่วยให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม มีการนำงานวิจัยและพัฒนามาใช้ในภาคอุตสาหกรรมให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
นายพยุงศักด์กล่าวอีกว่า เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเกี่ยวข้องกับประเทศไทย ซึ่งจากตัวเลขการส่งออกของไทยที่สูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของ GDP คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5-6 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจทั่วโลกเกิดปัญหา ประเทศไทยย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย ผู้ประกอบการจึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ยิ่งเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางด้วยแล้ว มักจะได้รับผลกระทบก่อนเสมอ ซึ่งรัฐควรให้ความสำคัญและหาทางแก้ไข เช่น รัฐควรส่งเสริมโครงการที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชน การกระจายงบประมาณที่ต้องทำให้คล่องตัวและรวดเร็ว ซึ่งหากภาครัฐให้ความเชื่อมั่นและให้การบริหารจัดการที่ดี ผู้ประกอบการก็จะมีความเชื่อมั่นในการลงทุนเพิ่มขึ้น”
นอกจากนี้ ภายในงานสัมมนาเชิงวิชาการมีการจัดคลินิกเคลื่อนที่จากผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา เช่น ด้านเสาะหาวัตถุดิบหรือวัสดุทดแทน ด้านการจัดการน้ำเสียจากอุตสาหกรรม ด้านระบบไอทีในการบริหารอุตสาหกรรม เป็นต้น คอยให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการที่มาภายในงานเกี่ยวกับปัญหาที่พบในอุตสาหกรรมด้วย ซึ่ง นายชัยนรินทร์ จันทวงษ์โส จากภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้เชี่ยวชาญด้านปรับปรุงกระบวนการผลิต กล่าวว่า ปัญหาที่พบจากผู้ประกอบการที่เข้ามาขอรับคำปรึกษา ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการภายในอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต เช่น การปฏิบัติงานของบุคลากรภายในองค์กร ความต้องการลดของเสียที่เกิดขึ้น หรือผลิตอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เป็นต้น โดยแนะนำผู้ประกอบการว่าปัญหาที่พบนี้น่าจะเกิดขึ้นจากจุดไหนได้บ้าง เพื่อจะได้แก้ไขอย่างตรงจุดมากขึ้น ซึ่งกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพนับว่ามีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมทุกกลุ่ม เนื่องจากในยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคือง ข้าวของแพงอย่างนี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนการผลิตต่างๆ ลงได้
ด้านเวทีสัมมนายังมีการนำเสนอประสบการณ์ความสำเร็จจากผู้ประกอบการ 4 ราย ที่เคยขอรับคำปรึกษากับ iTAPได้แก่ บริษัท เอเซนเทค (ประเทศไทย) จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยเข้าขอรับคำแนะนำจาก iTAP ในเรื่องการปรับปรุงเทคโนโลยีที่โปรแกรมเมอร์ใช้อยู่จากระบบ Client/Network เป็นเทคโนโลยี Web Service (Dot Net) รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตด้วย ซึ่งหลังจากเข้าร่วมโครงการ ทำให้บริษัทฯทำงานได้รวดเร็วขึ้น ปรับปรุงจุดบกพร่องต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทำงานอย่างละเอียดรอบคอบ บริษัท นีโอเทค อินสเปคชั่น แอนด์ เ คมีคัล จำกัด ที่เข้าร่วมโครงการการวิจัยต้นแบบตู้บรรจุสินค้าคอมโพสิท ในการผลิตตู้บรรจุสินค้าคอมโพสิทที่มีน้ำหนักเพียง 1,200 กิโลกรัม ทำให้ช่วยประหยัดน้ำมันในการขนส่งและบรรทุกสินค้าได้มากขึ้น บริษัท บูรณาพา กรุ๊ป จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายพาเลตไม้ ที่ขอรับคำปรึกษาในการพัฒนาเตาอบไม้พลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้ประหยัดทั้งค่าไฟฟ้าและค่าเชื้อเพลิงจากเศษขี้เลื่อยที่เคยใช้ในเตาอบบอยเลอร์แบบเดิม และบริษัท อุตสาหกรรมเครื่องหอมไทย-จีน จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจผลิตเครื่องหอมแบบครบวงจร โดยขอรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในการเพิ่มทักษะความรู้เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านน้ำหอม และเรื่องเทคโนโลยีการผลิตน้ำหอม ส่งผลให้ปัจจุบัน บริษัทฯสามารถขยายไลน์การผลิตได้เพิ่มขึ้นเป็น 3 วิธี ซึ่งสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างกันได้ถึง 5 ประเภท
โครงการนี้จะทำให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจและเครือข่ายการวิจัยพัฒนา ระหว่างผู้ประกอบการ ภาคอุตสาหกรรมกับหน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ และภาคเอกชน ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการแก้ไขปัญหา ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาในภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่า และต่อยอดความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยให้พัฒนาไปในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยเข้มแข็งและเติบโตได้อย่างยั่งยืนในที่สุด
ผู้ประกอบการที่สนใจขอรับคำปรึกษากับ “คลินิกเทคโนโลยีอุตสาหกรรม”
ติดต่อ สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่ออุตสาหกรรม โทร. 0 2345 1238
หรือโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP)โทร. 0 2564 7000 ต่อ 1360-1389
อีเมล itap@nstda.or.th หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ http://www.tmc.nstda.or.th/itap
งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี โทร. 0 2564-7000 ต่อ 1476-8 www.tmc.nstda.or.th
สอบถามเพิ่มเติม ติดต่อ : ธณาพร (เอ็ม), สุธิดา (ไก๋)
โทร. 0 2270 1350-4 ต่อ 104-105 มือถือ 08 6612 0912, 08 5930 7166 อีเมล : prtmc@yahoo.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ