กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--ปภ.
เนื่องจากในช่วงเดือนตุลาคมของปีนี้ ประเทศไทยจะประสบปัญหาฝนตกหนักติดต่อกัน ทำให้หลายพื้นที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วม ถนนหลายสายมีระดับน้ำท่วมสูง ซึ่งการขับขี่รถลุยน้ำ จะทำให้ความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจสร้างความเสียหายกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ เพื่อเป็นการเพิ่มความปลอดภัย
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะวิธีขับรถอย่างปลอดภัยในช่วงฤดูฝนและน้ำท่วมถนน ดังนี้
ช่วงที่ฝนตกใหม่ๆ ผู้ขับขี่ควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะถนนจะลื่นมาก เนื่องจากฝุ่นละอองที่ตกค้างอยู่บนถนนจะผสมกับน้ำฝน ทำให้ถนนมีลักษณะลื่นคล้ายมีฟิล์มเคลือบผิวถนน ส่งผลให้ประสิทธิภาพของยางรถในการยึดเกาะผิวถนนลดลง ผู้ขับขี่ควรเว้นระยะห่างจากรถคันหน้าให้มากกว่าปกติ ไม่ขับรถด้วยความเร็วสูง หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้หยุดรถทัน ไม่ควรเบรกหรือหยุดรถกะทันหัน อาจทำให้รถลื่นไถลหรือพลิกคว่ำ สำหรับผู้ขับผ่านเส้นทางโค้งควรลดความเร็วลง ไม่เหยียบเบรกหรือหยุดรถกะทันหัน เพราะจะเกิดแรงเหวี่ยง ทำให้รถแหกโค้งรวมทั้งไม่ขับรถชิดขอบถนนมากเกินไป เพราะรถอาจลื่นไถลตกข้างทาง กรณีฝนตกหนักถึงหนักมาก จนไม่สามารถมองเห็นเส้นทาง ควรจอดรถในจุดที่ปลอดภัย เช่น สถานีบริการน้ำมัน สถานีตำรวจ และที่พักรถริมทาง หากจำเป็นต้องเดินทางให้เปิดสัญญาณไฟหน้า - หลังรถ พร้อมไฟตัดหมอก เพื่อให้สามารถมองเห็นเส้นทางชัดเจน ไม่ควรเปิดไฟสูงอย่างเด็ดขาดเพราะแสงไฟจะสะท้อนกับพื้นถนน ทำให้ผู้ขับรถสวนหรือรถคันหน้ามองไม่เห็นเส้นทาง และไม่ควรเปิดไฟกระพริบ เพราะอาจสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้ร่วมใช้เส้นทางอื่นๆ ทำให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน ทั้งนี้ ควรเปิดที่ปัดน้ำฝนให้สัมพันธ์กับความแรงของเม็ดฝน และขับรถด้วยความเร็วไม่เกิน ๖๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไม่ขับรถชิดคันหน้ามากเกินไปเพราะทัศนวิสัยในการมองเห็นไม่ดี อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย กรณีที่รถเกิดอาการเหินน้ำ อย่าเหยียบเบรกกะทันหัน ควรจับพวงมาลัยให้แน่น เพื่อให้รถสามารถทรงตัวได้ หากจำเป็นต้องขับรถผ่านเส้นทางที่น้ำท่วม ควรหยุดประเมินสถานการณ์ ถ้าระดับน้ำลึกและมีกระแสน้ำเชี่ยวกราก ควรหลีกเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นจะปลอดภัยมากกว่าเพราะกระแสน้ำอาจพัดรถลอยและจมน้ำได้ กรณีที่น้ำไม่ลึกมากนักให้ขับรถบนถนนส่วนที่ตื้นที่สุด และระวังถนนในลักษณะหลังเต่า รวมทั้งขับรถในแนวเดียวกับรถคันหน้า เพื่อป้องกันการขับรถเฉออกนอกเส้นทางจนถูกกระแสน้ำพัดลอยไปตามน้ำ รวมทั้งระมัดระวังคลื่นน้ำจากรถคันอื่น หากกระแสน้ำพัดเข้าห้องเครื่องจะทำให้เครื่องยนต์ดับ รถลอยและควบคุมยากมากขึ้น หากต้องการหยุดรถ ควรถอนคันเร่งและย้ำเบรกบ่อยๆ กรณีรถเสียหรือเครื่องยนต์มีปัญหาขัดข้อง ควรเปิดไฟกระพริบเพื่อให้สัญญาณเตือนแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนคันอื่นทราบว่ามีรถจอดเสียจะได้เปลี่ยนเส้นทางทัน ซึ่งจะช่วยป้องกันอุบัติเหตุซ้ำซ้อน ภายหลังขับรถลุยน้ำ ผู้ขับขี่ควรย้ำเบรกและคลัชท์ประมาณ ๒ — ๓ ครั้งเพื่อให้ผ้าเบรกและคลัชท์รีดน้ำออก และทดสอบให้แน่ใจว่าระบบเบรกสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพแล้วจึงขับรถทำความเร็วตามปกติ
ผู้ส่ง : ปภ.
เบอร์โทรศัพท์ : 022430674