การประชุมคณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทในประเทศไทย ครั้งที่ 3/2551

ข่าวทั่วไป Friday October 3, 2008 10:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
คณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาท ในประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงาน คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยมี นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเป็นประธาน ได้มีการประชุม ครั้งที่ 3/2551 เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันและการปรับปรุงแนวทางการอนุญาตออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และมาตรการรับมือวิกฤติการเงินโลกของรัฐบาล ซึ่งสาระสำคัญของการประชุมสรุปได้ดังนี้
1. การอนุญาตให้ออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทในรอบที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ
ได้มีการพิจารณาอนุญาตในวงเงินที่จำกัด โดยพิจารณาจากสภาพคล่องในประเทศ ปริมาณความต้องการกู้เงินของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และความต้องการกู้เงินของภาคเอกชนในแต่ละปี อีกทั้งได้พิจารณาคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตทั้งในเรื่องอันดับความน่าเชื่อถือ ต้นทุนการระดมทุนของผู้ขออนุญาตแต่ละราย เพื่อมิให้กระทบต่อต้นทุนการระดมเงินบาทในประเทศ
2. ในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 กระทรวงการคลังได้อนุญาตให้นิติบุคคลต่างประเทศรวม 15 ราย ออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาท ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2551 ในวงเงินรายละไม่เกิน 3,500 ล้านบาท รวมวงเงินทั้งสิ้น 52,500 ล้านบาท ซึ่งจนถึงปัจจุบันมีนิติบุคคลต่างประเทศออกหุ้นกู้สกุลเงินบาท
ไปแล้ว 2 ราย วงเงินรวม 7,000 ล้านบาท โดยไม่ได้มีผลกระทบต่อสภาพคล่องในประเทศและต้นทุนการระดมทุนโดยรวมของภาคเอกชนไทยอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับผู้ได้รับอนุญาตอีก 13 รายที่ยังไม่ได้ออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทเป็นนิติบุคคลต่างประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในเกณฑ์ค่อนข้างสูง โดยประกอบด้วยสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี และเป็นผู้ได้รับอนุญาตที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ AAA จำนวน 6 ราย ส่วนอีก 7 รายที่เหลือมีอันดับความน่าเชื่อถือระดับ AA 5 ราย และระดับ A 2 ราย อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการมีข้อสรุปว่า จะติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด และจะหารือกับสมาคมธนาคารไทย เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณากำหนดแนวทางการปรับปรุงการอนุญาตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ