กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--
ชาวตำบลบ้านสหกรณ์ ตื่นตัวทำวิจัย 8 หมู่บ้าน 8 โครงการ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ยกระดับเป็นตำบลพอเพียง ให้สามารถพึ่งพาตนเอง และยืนหยัดสู้กระแสบริโภคนิยมได้
นางบุษราคัม ปัญญามี หัวหน้าโครงการวิจัยกระบวนการพัฒนาศักยภาพผู้นำเพื่อสร้างกระบวนทรรศน์ใหม่ในการพัฒนาชุมชนพื้นที่โครงการพระราชดำริหมู่บ้านสหกรณ์อำเภอสันกำแพง กิ่ง อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าแม้ตำบลบ้านสหกรณ์ ที่มีทั้งหมด 8 หมู่บ้าน จะเป็นหมู่บ้านพระราชดำริฯ มาตั้งแต่ปี 2519 และใช้หลักคิดเรื่องสหกรณ์ในการขับเคลื่อนการทำงานของชุมชนตลอดมา แต่ก็ยังประสบปัญหาในด้านความยากจน และหนี้สิน เพราะชุมชนขาดความเข้มแข็ง ในปี 2550 ทางสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 10 จึงได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น และสำนักงานประสานงานวิจัยเชิงบูรณาการ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อพัฒนากระบวนการทำงานโครงการเฉลิมพระเกียรติหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง
พบว่าวิธีคิด และวิธีปฏิบัติของผู้นำชุมชนคาดหวังจะพึ่งพิงหน่วยงานภายนอกเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงความต้องการที่แท้จริงของชุมชนว่า สอดคล้องกับ สิ่งที่รัฐหยิบยื่นมาหรือไม่ เมื่อความเคยชินจากการเป็นผู้รับถูกสั่งสมมายาวนานจึงทำให้แนวคิด การพัฒนาชุมชนของผู้นำยังอยู่ภายใต้กระบวนทัศน์แบบเดิม นั่นคือรอให้เขามาพัฒนา ไม่ถนัดที่จะคิดด้วยตนเอง ไม่ได้ใช้ฐานข้อมูลจากสถานการณ์ความต้องการจริง
เมื่อตัวผู้นำอยู่ภายใต้กระบวนทัศน์เช่นนี้ จึงส่งผลให้วิธีปฏิบัติในการทำกิจกรรมของชุมชนไม่ว่าจะเป็นงานพัฒนาชุมชน กิจกรรมกลุ่มอาชีพ หรือกิจกรรมส่วนรวม ลักษณะกิจกรรมจึงออกมาในรูปแบบเดิมๆ โดยตลอด ดังนั้นหลายหน่วยงานที่เข้าไปทำงาน หรือแม้แต่ชุมชนเองก็ต่างพยายามแสวงหาเครื่องมือ วิธีการใหม่ๆ ที่จะนำมาเป็นแนวทางพัฒนาชุมชนที่หลากหลายเพื่อนำมาชุมชนไปสู่ การพึ่งตนเอง ตามแนวคิดเรื่องสหกรณ์
ดังนั้นในการดำเนินงาน จึงได้ใช้กระบวนการวิจัยเข้ามาพัฒนาศักยภาพผู้นำ เพื่อสร้างกระบวนทรรศน์ใหม่ในการพัฒนาชุมชน ควบคู่ไปกับการพัฒนากลุ่มอาชีพในพื้นที่ จนทำให้ชุมชนกลายเป็นฐานการเรียนรู้ และเกิดคณะทำงานที่มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็เกิดแผนแม่บทของชุมชนขึ้นเอง กลุ่มผู้นำทั้งโดยตำแหน่ง เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำโดยธรรมชาติ อาทิ กลุ่มผู้นำอาชีพ ปราชญ์ผู้รู้ เกิดความตระหนักในการพึ่งตัวเอง หันมามอง “ผลกระทบของการพัฒนา” และ “การกำหนดอนาคต ของชุมชน” ของทั้ง 8 ชุมชน โดยชุมชนมีส่วนร่วมเป็นผู้กำหนดด้วยตัวเอง แทนที่จะถูกกำหนดแผนการพัฒนาที่มาจากหน่วยงานที่เข้ามาหนุนการทำงานในพื้นที่เพียงฝ่ายเดียว ทั้งผู้นำเอง ก็มีความสนใจที่จะเรียนรู้เครื่องมือการทำงานใหม่ๆที่เรียกว่า “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” เพื่อนำมาพัฒนาชุมชนและพัฒนาตัวผู้นำให้สามารถขับเคลื่อนกระบวนการทำงานชุมชนให้เข้มแข็งได้ มีการเริ่มต้นสร้างการเรียนรู้เพื่อนำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเข้ามาแก้ไขปัญหา และพัฒนาชุมชน ผ่านประเด็นที่ชุมชนต้องการ
“ในปี 2551 นี้ งานวิจัยท้องถิ่น จึงถูกขยายผลไปทุกหมู่บ้าน รวมทั้งสิ้น 8 หมู่บ้าน 8 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการแนวทางอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าดอยสี่เหลี่ยมที่เหมาะสมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนบ้านสหกรณ์ หมู่ที่ 1 (2) โครงการ แนวทางการพัฒนากลุ่มอาชีพ หัตถกรรมบนพื้นฐานความรู้เดิมและความรู้ใหม่เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาชีพของคนบ้านสหกรณ์ 2 (3) โครงการการพัฒนาโคพันธุ์พื้นเมืองที่เหมาะสมต่อวิถีเศรษฐกิจชุมชนบ้านสหกรณ์ 3 (4) โครงการการทำเกษตรรูปแบบเกษตรผสมผสานภายใต้แนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจในครัวเรือนของ บ้านสหกรณ์ หมู่ 4 ตำบลสหกรณ์ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ (5) โครงการแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำห้วยย่าพาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของบ้านสหกรณ์หมู่ที่ 5 (6) โครงการการทำเกษตรอินทรีย์ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจหมู่บ้านสหกรณ์หมู่ 6 (7) โครงการแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มธนาคารวัวเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของบ้านสหกรณ์ 7 และ (8) โครงการ การอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำลำธารห้วยขอนขว้างเพื่อพัฒนาเน้นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ บ้านสหกรณ์ หมู่ที่ 8” นางบุษราคัม กล่าวถึงรายละเอียด และว่า
จุดเริ่มต้นการทำงานตามกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นพร้อมกันทั้งตำบล แสดงให้เห็นถึงพลังของคนตำบลบ้านสหกรณ์ ในการทำงานด้วยกระบวนการใหม่ และเป็นการเริ่มต้นการทำงานด้วยตนเอง พึ่งพาตนเอง ลดการพึ่งพาภายนอกเพียง ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ชุมชนเกิดความมั่นใจ ศรัทธากัน ให้โอกาสตนเองและเครือข่าย ในการพูดคุยกันมากขึ้น ทำให้สามารถต่อยอดกิจกรรมเดิมได้ เช่น การเลี้ยงโคเนื้อ การจักสาน หัตถกรรม แม้ว่างบประมาณจากภาครัฐ หรือหน่วยงานที่สนับสนุนจะหมดลง แต่โครงการเหล่านี้ก็ดำเนินต่อไปได้
นอกจากนี้ ผลจากการที่ชาวบ้านได้ร่วมกันทำวิจัยท้องถิ่น ยังก่อให้เกิดสวัสดิการชุมชน มีการออมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และจัดสวัสดิการชีวิตของตนเอง ทั้งในด้านการรักษาพยาบาล การให้ทุนการศึกษาแก่เด็ก ให้ทุนยังชีพผู้สูงอายุ หรือผู้ด้อยโอกาส โดยเป้าหมายสูงสุดของชาวบ้านคือการเป็นตำบลพอเพียง
นายณรงค์ กันธิยะ หัวหน้าโครงการวิจัยโครงการแนวทางอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าดอยสี่เหลี่ยมที่เหมาะสมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนบ้านสหกรณ์ หมู่ที่ 1 กล่าวว่า การที่จะดำรงชีวิตได้อย่างพอเพียงนั้น มีองค์ประกอบสำคัญหลายประการ แต่ที่สำคัญคือชาวบ้านต้องรู้จักรากเหง้าและท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งงานวิจัยที่เข้ามา ทำให้ชาวบ้านมีโอกาสได้สืบค้น ทำความรู้จักกับท้องถิ่นของตนเองมากขึ้น จนปัจจุบันสามารถระบุได้ว่าในพื้นที่หมู่ 1 มีพื้นที่ทั้งหมด 2,217 ไร่ ประกอบด้วยพรรณไม้ 187 ชนิด กล้วยไม้ 18 ชนิด มีสัตว์ป่าหลงเหลือ 10 กว่าชนิด มี 12 ลำห้วย ถ้ำ 1 แห่ง มีอาหารจากป่าคือเห็ด และหน่อไม้ ฯลฯ
“เมื่อรู้จักรากเหง้า ท้องถิ่นของตนเองแล้ว ในส่วนของบุคคลก็ต้องมีความสันโดษ ขยัน อดทน มีความพอประมาณ มีสติ รอบคอบ มีคุณธรรม จากนั้นจึงก้าวไปสู่ระดับครอบครัว ที่ต้องช่วยกันวางแผนเพิ่มรายได้ลดรายจ่าย ซึ่งในขั้นตอนนี้การทำบัญชีครัวเรือน นับเป็นวิธีการที่ได้ผลที่สุด เพราะมองเห็นชัดเจนว่าใช้จ่ายอะไรบ้าง สามารถประหยัดส่วนใดได้บ้าง แต่ทั้งนี้คนในครอบครัวต้องร่วมมือกัน อย่าบิดเบือนข้อเท็จจริง เช่น ซื้อเหล้า ซื้อหวย ก็ต้องบันทึกตามความเป็นจริง อย่านำไปลงเป็นรายการอื่น” นายณรงค์ อธิบาย และว่า
ถ้าทุกคน ทุกครอบครัว สามารถปฏิบัติตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงได้ ก็จะสามารถใช้ชีวิตอย่างมีสติ รู้เท่าทันกระแสโลกาภิวัตน์ และไม่ตกเป็นทาสของวัตถุนิยม หรือทุนนิยม สังคมและชุมชนย่อมจะเกิดภูมิต้านทาน และเข้มแข็งขึ้นอย่างแน่นอน.
ผู้ส่ง : saichol
เบอร์โทรศัพท์ : 0815685072